ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. รับทราบ สปสช.เป็นหน่วยงานกลางจัดการข้อมูลเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และตรวจสอบข้อมูลเบิกจ่าย ให้ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ-ครอบครัวกว่า 1.8 แสนคน ในพื้นที่ กทม. พร้อมประสานสถานพยาบาลรัฐ 383 แห่ง เข้าระบบจ่ายตรงของ กทม.เริ่ม 1 ต.ค. เป็นต้นไป


ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบกรณีมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบฐานข้อมูลบริการสาธารณสุข เพื่อรับข้อมูลและประมวลผลข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Clearing House) และตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่าย (Audit) ของผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ กทม. และครอบครัวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานการคลัง กทม. มีหนังสือถึง สปสช. เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2564

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า หน่วยงาน กทม. มีจำนวนผู้มีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กทม. จำนวน 181,807 คน (ข้อมูล 30 ก.ย. 64) แยกเป็น ข้าราชการหรือลูกจ้างประจำจำนวน 87,050 คน ส่วนที่เหลือเป็นบุคคลในครอบครัว ได้แก่ บิดา มารดา บุตร และคู่สมรส โดยมีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3,249,804,809 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 17,875 บาท สำหรับสถานพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงภายใต้สิทธิรักษาพยาบาล กทม. นั้น ปัจจุบันมีจำนวน 887 แห่ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. สถานพยาบาลของรัฐ 754 แห่ง 2. สถานพยายาลเอกชนกรณีฟอกไต 132 แห่ง และ 3. สถานพยาบาลเอกชนเฉพาะกรณีนัดผ่าตัดล่วงหน้าอีก 10 แห่ง 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสถานพยาบาลของรัฐที่ยังไม่เข้าระบบเบิกจ่ายตรงของ กทม.อีก 383 แห่ง ในส่วนนี้ กทม.ให้ สปสช. ดำเนินการประสานต่อเพื่อให้สถานพยาบาลเหล่านี้เข้าระบบเบิกจ่ายตรง เพื่อให้การเบิกจ่ายที่ดำเนินการโดย สปสช. มีความครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ กทม. และบุคคลในครอบครัว