ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เห็นชอบ แผนปฏิบัติราชการ ฉบับที่ 5 ระยะ 5 ปี 2566-2570 เพิ่มหลัก ‘BCG Model’ หนุนใช้อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ในประเทศ เน้นใช้ Smart UCS ช่วยการเบิกจ่ายให้หน่วยบริการ สร้างการตระหนักรู้ให้ ปชช.ดูแลตนเอง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน


ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฉบับที่ 5 ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570 ภายหลังได้การจัดรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ได้มีการเสนอให้ทาง สปสช. เพิ่ม โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) เป็นอีกหนึ่งหลักการสำคัญในการดำเนินงาน โดยจะสนับสนุนการใช้อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ในประเทศ ซึ่ง สปสช. จะประกาศใช้แผนตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565)

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องหลังจากประเมินผลการดำเนินงานปฏิบัติราชการฯ ฉบับที่ 4 ปี (2561-2565) โดยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบ “หลักการและแผนการจัดทำแผนฯ ระยะ 5 ปี” (2566-2570) ซึ่งช่วงที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการจัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นทั้งจากภายใน สปสช. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (Stakeholder) รวมถึงเปิดรับฟังความเห็นจากทางออนไลน์ 

1

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แผนฉบับที่ 5 นี้มีสาระสำคัญเพิ่มเติมในยุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองหลักประกันสุขภาพของประชาชน คือ การคืนข้อมูลสุขภาพให้ประชาชนมีข้อมูลสุขภาพของตนเอง เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงค้นและขยายการเข้าถึงบริการให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการหรือเข้าถึงได้น้อย 

ส่วนการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามแผนฯ นี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย ผ่านการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ Smart UCS ครบวงจรตั้งแต่การยืนยันและพิสูจน์ตัวตน การเบิกจ่าย การตรวจสอบ และการโอนเงิน ให้เกิดการ “เบิกจ่ายง่าย ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่เป็นภาระหน่วยบริการ” รวมถึงขยายบทบาทและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนฯ ในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุน เช่น การเข้าถึงยาราคาแพง ฯลฯ อีกทั้งพัฒนากลไกการจ่ายให้สนับสนุนความเข้มแข็งและความเชื่อมโยงของระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบในระยะยาว

“ภายหลังจากที่บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฉบับที่ 5 สปสช. จะนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุภาพแห่งชาติต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว