ฮองไม ฟาม (Hoangmai Pham) ประธานสถาบันเอ็กเซปชั่นแนลแคร์ (Institute for Exceptional Care) และ ไมเคิล โอ ลีวิทท์ (Michael O. Leavitt) ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการบอร์ดบริษัทลีวิทท์ พารท์เนอร์ (Leavitt Partners) ได้เขียนบทความแสดงความเห็นต่อระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในสหรัฐอเมริกา โดยเน้นย้ำว่าหน่วยบริการปฐมภูมิได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้คนอย่างรอบด้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อโรงพยาบาลต้องผันทรัพยากรไปดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ขณะที่คลินิกเอกชนในพื้นที่ห่างไกลต้องปิดตัวลง
ในสหรัฐอเมริกา ความเครียดจากสภาวะเศรษฐกิจและวิกฤติโควิด 19 เป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราผู้ป่วยที่มีภาวะกังวล ซึมเศร้า และติดยา เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีกรณีศึกษาจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่ที่มีบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิค่อนข้างดี ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตยังสามารถเข้าถึงการรักษาและการดูแล แม้ในช่วงที่มีการใช้มาตรการล็อคดาวน์
บทความของทั้งสองผู้เชี่ยวชาญยกกรณีศึกษาของ “นีน่า” แม่เลี้ยงเดี่ยวชาวอเมริกัน ซึ่งต้องลาออกจากงานเพื่อดูแลลูกชายที่มีอาการออทิสติก ความเครียดทำให้เธอมีอาการแพนิค หรือภาวะตื่นตระหนกรุนแรง
เธอโทรติดต่อคลีนิคปฐมภูมิแห่งหนึ่งในชุมชน หลังจากเธอเล่าอาการของเธอให้เจ้าหน้าที่ฟัง ก็มีแพทย์ นักจิตบัด และนักสังคมสงเคราะห์ ติดต่อเธอผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์เพื่อตรวจอาการผ่านระบบวิดีโอคอล
แพทย์ได้สั่งยาให้เธอ ขณะที่เจ้าหน้าที่คลินิกประสานงานกับจัดการส่งอาหารให้เธอถึงบ้าน พร้อมช่วยเธอลงทะเบียนรับความช่วยเหลือกรณีว่างงาน ส่วนนักจิตบัดคอยดูแลสุขภาพจิตและให้กำลังใจเธอตลอดระยะเวลาที่เธอมีอาการวิตกกังวล
กรณีศึกษานี้พิสูจน์ว่าระบบบริการปฐมภูมิสามารถดูแลสุขภาพคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสามารถให้บริการแบบองค์รวม ทั้งการดูแลทางร่างกายและจิตใจ
อย่างไรก็ดี บริการสุขภาพปฐมภูมิในสหรัฐฯ กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น
ในช่วงวิกฤติโควิด หน่วยบริการปฐมภูมิในภาพรวมขาดทุนมากกว่า 550,000 ล้านบาทในปี 2563 หนึ่งในสามยังคงไม่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤติทางการเงินในปีถัดมา ส่งผลให้บางหน่วยบริการต้องขายธุรกิจให้โรงพยาบาลที่มีขาดใหญ่กว่า
ปัญหาทางการเงินนี้มีมาตั้งแต่เกิดโรคระบาด เพราะวิธีการให้บริการปฐมภูมิค่อนข้างซับซ้อน โดยทีมงานบุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์สาเหตุของอาการป่วยทางจิต ซึ่งมักเกี่ยวพันกับปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ
การออกแบบการรักษาจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับบริบทของผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยอย่างยั่งยืน
กระบวนการนี้มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนวันทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ที่มักลากยาวนานนับเดือนหรือปี และต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านจิตเวช พฤติกรรม และสังคมศาสตร์
ส่วนวิธีการจ่ายเงินใช้รูปแบบ fee-for-service หรือการเบิกจ่ายตามจริง ทำให้บริการสุขภาพปฐมภูมิมีต้นทุนสูง ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในด้านนี้ถือว่าต่ำกว่าความต้องการ
บทความเสนอทางออกด้วยการปรับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิให้มีความยืดหยุ่น ใช้รูปแบบการจ่ายเงินที่หลากหลาย และนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการเพื่อลดต้นทุน
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือสนับสนุนเงินให้หน่วยบริการในรูปแบบการจ่ายเงินแบบเหมารวม ทำให้บุคลากรไม่ต้องกังวลกับการทำยอดหาผู้ป่วยให้ได้ตามเป้า สามารถให้ความสำคัญกับการออกแบบการรักษาที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วย
ในด้านการลงทุน รัฐบาลหรือภาคเอกชนจำเป็นต้องลงทุนในบุคลากรที่มาความรู้หลายศาสตร์ รวมทั้งการจัดระบบเทเลเมดิซีน ระบบการติดตามผู้ป่วย และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรทางสังคมในชุมชน
นอกจากนี้ ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินหน่วยบริการ จากที่แต่เดิมประเมินด้วยจำนวนผู้ป่วย เปลี่ยนเป็นประเมินด้วยคุณภาพการรักษาและการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า
บทความสรุปในตอนท้ายว่า การลงทุนในบริการสุขภาพปฐมภูมิ จะให้ผลตอบแทนกลับมาในระยะยาว ด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และภาระทางสุขภาพที่มักนำไปสู่การลดลงของผลิตภาพแรงงาน และอายุขัยเฉลี่ยของประชากร
ก่อนหน้านี้ สถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์แห่งชาติ (National Academies of Science, Engineering, and Medicine หรือ NASEM) ได้เผยแพร่คำแนะนำในการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิในสหรัฐฯ
โดยเน้นที่การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สถานพยาบาล นักดูแลสุขภาพจิต ผู้บริโภค และผู้สนับสนุนงบประมาณภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องเห็นร่วมกันว่า หากไม่ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิแล้ว ย่อมมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ตามมาในอนาคต
อ่านบทความฉบับเต็มที่:
https://www.statnews.com/2022/07/14/empower-primary-care-with-adequate-payments-and-technology/
- 69 views