ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

62 เครือข่ายประชาสังคมยื่นหนังสือจี้ "ประกันสังคม" กำกับ รพ.ในเครือข่ายให้บริการ "ยุติการตั้งครรภ์" ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หลังพบไม่ให้บริการ-ไม่ยอมส่งต่อ ให้ผู้ป่วยไปทำเอง-จ่ายเงินเอง


ตัวแทนเครือข่ายท้องไม่พร้อม เครือข่ายอาสา RSA และสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เดินทางไปยื่นหนังสือเปิดผนึกในนามของ 62 องค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 เพื่อเรียกร้องให้ สปส. กำกับดูแลกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

4

ผศ.นพ.สัญญา ภัทราชัย อาจารย์พิเศษ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สมาชิก RSA เปิดเผยว่า ปัญหาการปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว เคสที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ส่วนมาก จะเป็นเคสที่มีการวินิจฉัยในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เจาะน้ำคร่ำตรวจโครโมโซม ตรวจธาลัสซีเมีย แล้วความผิดปกติของเด็ก และกว่าจะรู้ว่าทารกในครรภ์มีความผิดปกติก็เข้าไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้ว

ทั้งนี้ โดยส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้ฝากครรภ์ต่อ ขณะที่คุณแม่อยากยุติการตั้งครรภ์ จึงเกิดเป็นปัญหาว่าแพทย์ผู้ฝากครรภ์ไม่ยุติการตั้งครรภ์ให้ และให้ไปหาสถานที่ยุติการตั้งครรภ์เอาเอง ซึ่งการปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงหรือความผิดปกติตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพทางการแพทย์ ผิดจริยธรรมทางการแพทย์ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีใครกล่าวโทษ และผู้หญิงที่ถูกปฏิเสธการตั้งครรภ์ก็ไม่ฟ้องร้องเพราะไม่อยากมีเรื่อง จึงได้แต่ตระเวนหาสถานที่ที่สามารถช่วยเหลือได้

1

ผศ.นพ.สัญญา กล่าวว่า ประเด็นที่อยากพูดถึง 2 เรื่อง คือ 1. เทคนิคในการยุติการตั้งครรภ์ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบัน การยุติการตั้งครรภ์ไม่ยุ่งยากซับซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูงมากแต่อย่างใด โรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดคลอดได้ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ไม่จำเป็นต้องส่งต่อด้วยซ้ำไป และการยุติการตั้งครรภ์ในทุกช่วงอายุครรภ์ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการทำคลอดด้วยซ้ำ ซึ่งการปล่อยให้หญิงที่มีโรคประจำตัวหรือทารกมีภาวะผิดปกติตั้งครรภ์ต่อไป เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ที่ตั้งครรภ์มากกว่า

2. เหตุผลที่แพทย์ทำการส่งต่อไปยุติการตั้งครรภ์ที่อื่น ทราบกันดีว่าหมอไม่อยากทำแท้ง กลัวบาปกรรม กลัวมือเปื้อนเลือด เลยอยากยืมมือคนอื่นทำ เป็นการปฏิเสธการให้บริการด้วยเหตุผลส่วนตัว ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์หรือมาตรฐานวิชาชีพ และการใช้เหตุผลส่วนตัวปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ถือว่าไม่สมควร

2

"ดังนั้นหมอทั้งหลายที่รับฝากครรภ์ ถ้าเจาะน้ำคร่ำแล้วควรต้องรับผิดชอบให้ถึงที่สุด ถ้าทารกผิดปกติควรยุติการตั้งครรภ์ ไม่ต้องส่งต่อ ถ้าแพทย์สามารถทำคลอดได้ ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน และขอให้ สปส. ดำเนินการให้โรงพยาบาลในเครือข่ายให้บริการตามสิทธิประกันสังคม ผู้หญิงที่ครรภ์ผิดปกติถือเป็นผู้ป่วย การยุติการตั้งครรภ์ถือเป็นการรักษาพยาบาล ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกค่ารักษาตามปกติ" ผศ.นพ.สัญญา กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.กฤติยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีกรณีศึกษาเกี่ยวกับการปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ 7 เคส เป็นผู้ใช้สิทธิประกันสังคม 3 เคส และสิทธิบัตรทอง 4 เคส แต่หากพูดถึงความรุนแรงแล้ว เคสของประกันสังคมรุนแรงกว่า ยกตัวอย่างเช่น มีหญิงตั้งครรภ์คนหนึ่งลิ้นหัวใจรั่ว การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงและต้องการยุติการตั้งครรภ์ แต่โรงพยาบาลต้นทางกลับไม่ยอมส่งต่อ

2

ทั้งนี้ แม้ผู้ป่วยจะพยายามหาโรงพยาบาลมารับส่งต่อก็ตาม และโรงพยาบาลที่พร้อมรับส่งต่อก็ตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดแล้ว แต่โรงพยาบาลต้นทางก็ยังไม่ยอมส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเตรียมไว้ กลับส่งไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ซึ่งก็ปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ สุดท้ายผู้ป่วยต้องไปรับบริการอีกโรงพยาบาลหนึ่งแล้วจ่ายเงินเอง หรืออีกกรณีหนึ่งมีการตรวจโครโมโซมแล้วพบว่าเด็กมีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรม มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 5 ขวบ กรณีนี้โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมก็ไม่ส่งต่ออีกเช่นกัน

"กรณีเหล่านี้เข้าข่ายตามข้อกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา ที่ว่าถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าผู้หญิงจะถึงแก่ชีวิต ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ถ้ายุติการตั้งครรภ์ไม่ได้ต้องส่งต่อ แต่โรงพยาบาลในเครือข่าย สปส. ไม่ยอมส่งต่อ" รศ.ดร.กฤติยา กล่าว

ด้าน นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หัวหน้าสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวว่า จากสถิติสายด่วน 1663 พบว่ามีผู้หญิงโทรมาปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมปีละ 4-5 หมื่นราย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และใช้สิทธิประกันสังคมเป็นหลัก และพบว่ามีจำนวนมากที่มีปัญหาสุขภาพเข้าข่ายข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการยุติการตั้งครรภ์ แต่ไม่เคยเจอโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมแม้แต่โรงพยาบาลเดียว ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยจริงๆ

4

"ผู้ป่วย 100% ถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์แล้วให้หาวิธียุติการตั้งครรภ์เอง เช่นเดียวกับการส่งต่อ แม้ผู้ป่วยจะหาโรงพยาบาลที่รับทำให้ได้ก็ไม่ยอมส่งต่อ ทำให้ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองทั้งๆที่จ่ายเงินสมทบทุกเดือน เรื่องนี้ สปส. จำเป็นต้องพูดคุยกับหน่วยบริการในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ ให้โรงพยาบาลในเครือข่ายปรับตัวให้เข้ากับกฎหมาย กับเทคโนโลยีใหม่ๆ และให้บริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ อย่างน้อยถ้าไม่ทำ ขอให้ส่งต่ออย่างเป็นระบบไปยังโรงพยาบาลที่รับยุติการตั้งครรภ์เพื่อไม่ให้เป็นภาระผู้ป่วยต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายเอง" นายสมวงศ์ กล่าว

วันเดียวกัน ภายหลังจากที่ตัวแทนองค์กรเครือข่ายยื่นหนังสือที่ สปส.แล้ว ผู้แทนจากทั้ง 3 เครือข่ายยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และแพทยสภา อีกด้วย