ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่รายงาน “การปฏิบัติเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ในระบบสุขภาพปฐมภูมิและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือชื่อเต็มคือ Critical Considerations and Actions for Achieving Universal Access to Sexual and Reproductive Health in the Context of Universal Health Coverage through a Primary Health Care Approach เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา

1

ระบบสุขภาพปฐมภูมิใช้แนวทางการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสังคม (A whole-of-society approach) ผ่าน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ นโยบายข้ามภาคส่วน และการสร้างพลังให้ประชาชนและชุมชน

ระบบสุขภาพปฐมภูมิมียุทธศาสตร์สำคัญ คือการสร้างการเข้าถึงระบบสุขภาพทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างพื้นที่ปฏิบัตินโยบายสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายที่มาจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การเพิ่มการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่นำเข้ามาปฏิบัติในพื้นที่ของระบบสุขภาพปฐมภูมิได้เช่นกัน

รายงานยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศบูร์กินาฟาโซ ในด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งทำนโยบายสุขภาพดูแลแม่และเด็กหลังคลอด รวมทั้งการให้วัคซีนพื้นฐานแก่เด็ก ด้วยการนำนโยบายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ

บูร์กินาฟาโซริทดลองทำนโยบายนี้ในระหว่างเดือน ก.ย. 2556 - ธ.ค. 2558 ในศูนย์ให้บริการแพทย์ปฐมภูมิ 12 แห่งทั่วประเทศ

แต่เดิมพบว่าแม่มักจะไม่ให้ความสนใจกับบริการดูแลหลังคลอด แต่เน้นไปที่การพาลูกมารับวัคซีนมากกว่า บุคลากรทางการแพทย์จึงควบรวมการบริการทั้งสองประเภทนี้เข้าด้วยกัน หากแม่พาลูกมารับวัคซีน ก็จะถูกส่งต่อไปยังฝ่ายดูแลหลังคลอดในวันเดียวกันทันที

2

นั่นทำให้แพทย์สามารถติดตามสุขภาพแม่ และให้คำปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัว นอกจากนี้ ยังจัดอบรมเรื่องการดูแลสุขภาพให้แม่ที่มาเข้ารับบริการ และเพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการผ่านการอบรมต่อเนื่อง

ผลลัพธ์การทำโครงการออกมาค่อนข้างดี บุคลากรทางการแพทย์สามารถตรวจเจอโรคในแม่และเด็กได้แต่เนิ่นๆ และให้การรักษาทันท่วงที เช่น อาการตกเลือดและภาวะติดเชื้อในเลือดของแม่ และอาการไข้ในทารกแรกเกิด

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องหยุดลงด้วยหลายเหตุผล เช่น โครงสร้างในระบบสุขภาพ ที่มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรสำหรับบริการแม่และเด็กอยู่แต่เดิม รวมทั้งเกิดปัญหาการประสานงานระหว่างบุคลากรข้ามภาคส่วน

อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การจัดบริการลดความเสี่ยงการส่งต่อเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่เด็กในประเทศโมร็อกโก

ภายใต้โครงการนี้ กระทรวงสาธารณสุขแห่งโมร็อกโกร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม Global Fund และ UNAIDS ในการออกแบบนโยบายสุขภาพที่ไม่กีดกันผู้มีฐานะทางการเงินต่ำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์จึงสามารถรับบริการฟรีในศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิ

แต่เดิมศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมินี้ทำหน้าที่ดูแลแม่และเด็กก่อนและหลังคลอดอยู่แล้ว เมื่อเอาบริการด้านเอชไอวีและเอดส์มาควบรวม จึงสามารถติดตามสุขภาพแม่และเด็กที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวแบบ One-Stop Service

แม่สามารถเข้ารับบริการการตรวจเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งรับยาที่จำเป็นเพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อเอชไอวีสู่ลูก หากลูกรับเชื้อเอชไอวีมาแล้ว ก็มีบริการดูแลติดตามสุขภาพและให้ยาต้านเชื้อ

2

อย่างไรก็ดี ยังพบปัญหาในระหว่างการปฏิบัติงาน เช่น ขาดความร่วมมือข้ามหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องสุขภาพแม่และเด็ก และกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวีและเอดส์ ซึ่งทำงานแยกหน่วยงานกัน และมีแหล่งที่มาของงบประมาณต่างกัน

กระทรวงสาธารณสุขจึงแก้ปัญหาด้วยการทำแผนความร่วมมือข้ามหน่วยงาน และเขียนแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจบทบาทของตนเอง รวมทั้งจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการให้บริการที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง

รายงานขององค์การอนามัยโลกยังยกตัวอย่างกรณีศึกษาของไทย ซึ่งสามารถเพิ่มสิทธิวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2560 และให้บริการวัคซีนผ่านหน่วยสุขภาพปฐมภูมิทั่วประเทศได้สำเร็จ

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเสนอให้ผู้จัดทำนโยบายคำนึงถึงปัจจัยในโครงสร้างระบบสุขภาพ ที่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือออกนโยบายใหม่ เพื่อผลักดันให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เข้าไปอยู่ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ

ปัจจัยดังกล่าวรวมถึงความเชื่อมโยงของนโยบายและทรัพยากรในโครงการสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ศักยภาพและการจัดการภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ระบบฐานข้อมูลสุขภาพ ระบบการส่งต่อ และลักษณะความร่วมมือข้ามหน่วยงานในบริบทท้องถิ่น เป็นต้น

3

อ่านรายงาน  “Critical Considerations and Actions for Achieving Universal Access to Sexual and Reproductive Health in the Context of Universal Health Coverage through a Primary Health Care Approach”
ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.who.int/publications/i/item/9789240052659