ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค จัดการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 15/2565 เรื่องแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร ภายหลัง WHO ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern)


ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการฯ ครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 ว่า ภายหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) สำหรับประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคฝีดาษวานร มานานกว่า 2 เดือน และรายงานผู้ป่วยยืนยันรายแรกเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมพิจารณายังคงให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากอาการของโรคฝีดาษวานรไม่รุนแรง รวมถึงการแพร่เชื้อต้องมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทั้งนี้ให้ยกระดับการเฝ้าระวัง เพิ่มการเฝ้าระวังแบบ sentinel (หรือเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่) ในกลุ่มเสี่ยง เช่น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กลุ่มหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายให้สอบสวนโรคและดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัย หากติดเชื้อให้แยกกัก 21 วัน 

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค. 65) พบผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก จำนวน 16,314 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 71 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน จำนวน 3,125 ราย สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,581 ราย เยอรมัน จำนวน 2,268 ราย อังกฤษ จำนวน 2,115 ราย และฝรั่งเศส จำนวน 1,562 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด 

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 1 ราย เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี ซึ่งผลตรวจพบว่าเป็นสายพันธุ์ West Africa (A.2) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง พบการแพร่ระบาดน้อย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต สำหรับความคืบหน้าผลการตรวจ PCR ในผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรชาวไนจีเรีย ทั้ง 19 รายนั้น ผลตรวจเป็นลบทั้งหมด

“ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคนี้ และมั่นใจได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษวานร ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ยกระดับเป็นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษวานร ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อม และมีระบบเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร สอดรับกับประกาศขององค์การอนามัยโลก” นพ.จักรรัฐ กล่าว 

นพ.จักรรัฐ เน้นย้ำว่า มาตรการสาธารณสุขที่ดำเนินการมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนี้ เนื่องจากโรคฝีดาษวานร จะติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดมากๆ จึงติดต่อยากกว่าโควิด-19 
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเคร่งครัดมาตรการ Universal Prevention : UP ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงผู้เข้าข่ายมีอาการของโรคฝีดาษวานร เช่น มีผื่น ตุ่ม หนอง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422