ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแนวทางเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร หลัง WHO ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นระดับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ ยืนยันมีความพร้อมทั้งการดูแลรักษาและวัคซีน


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประชุมเตรียมแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร โดยมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเข้าประชุมผ่านระบบวิดีโอทางไกล

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) สธ. ได้เรียกประชุมทันทีเพื่อเตรียมแนวทางตอบสนองต่อสถานการณ์ ทั้งด้านการเฝ้าระวังโรค การป้องกันและการดูแลรักษา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเฝ้าระวังติดตามไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียซึ่งปัจจุบันได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปแล้ว รวมถึงได้ตรวจสอบผู้สัมผัสใกล้ชิดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบผู้ใดที่ติดเชื้อ 

อย่างไรก็ตาม จึงได้สั่งการให้ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้เพิ่มความระมัดระวังบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานของระบบเฝ้าระวังจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่แล้ว ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข สธ. ได้ยกระดับการเฝ้าระวังจากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรมควบคุมโรค เป็นศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC)สธ. ซึ่งจะทำให้การสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับวัคซีนโรคฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาทดสอบพบว่ายังมีคุณภาพดี หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้ได้ ส่วนด้านการรักษาพยาบาล โรคนี้มียารักษาเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง จึงใช้การรักษาตามอาการ ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งสามารถให้การดูแลได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องความดันลบ 

ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้ (25 ก.ค. 2565) คณะกรรมการวิชาการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะมีการประชุมหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคตามแนวทางคำแนะนำของ WHO ต่อไป

“ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดต่อกันได้ยากกว่าโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษวานร ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งวิธีป้องกันโรคโควิด 19 ที่ทุกคนปฏิบัติอยู่ คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ หลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการติดโรคได้ส่วนหนึ่ง” นายอนุทิน กล่าว