ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมความพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์ในการให้ "แอนติบอดีสำเร็จรูป" หรือ "LAAB" ในกลุ่มภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอแม้ได้รับวัคซีน


เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในการประชุมวิชาการ เรื่องแนวทางการให้ Long acting antibody (LAAB) เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรในการให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ระบุว่า สธ.ได้จัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป (LAAB) เข้ามาให้บริการ พร้อมทั้งจัดประชุมชี้แจงแนวทางกับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการแก่ประชาชน

ทั้งนี้ เพื่อให้บริการในกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือได้รับวัคซีนแล้วแต่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไตวายที่ต้องได้รับการฟอกไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง ผู้ป่วยกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่นๆ ฯลฯ

1

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่สามารถออกฤทธิ์ลบล้างเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์กลายพันธุ์ต่างๆ มีผลการศึกษาว่าสามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2 และสายพันธุ์ BA.4-BA.5 ได้ผลดีกว่า 80% รวมถึงลดการเสียชีวิตได้ดี ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาในสหภาพยุโรป สำหรับป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อโควิด-19 และได้รับการขึ้นทะเบียนนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินในประเทศสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนยาภายใต้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ผู้ที่สามารถรับการฉีด LAAB ได้จะต้องมีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป และน้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัม ในระยะแรกจะจัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีข้อบ่งชี้ตามที่คณะกรรมผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำก่อน

ส่วนในระยะถัดไป จะขยายไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายตามข้อบ่งชี้อื่นๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. วิธีการฉีดเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพกทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1.5 ซีซี จะมีการกระจาย LAAB ในทุกจังหวัด โดยสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติ 2-8 องศาเซลเซียส ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย พร้อมเตรียมมอบให้โรงเรียนแพทย์นำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป ซึ่งการฉีดให้กับผู้ป่วยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ประจำตัวเป็นผู้พิจารณา