ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงถึงแนวทางการจ่ายยาต้านไวรัสเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565 

สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม  ดังนี้

1. กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้ดูแลรักษาตามอาการไม่ให้ยาต้านไวรัส โดยดูแลการรักษาแบบผู้ป่วยนอก แยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self Isolation  เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง  แพทย์อาจให้ยาฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรงได้ 

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ กลุ่มนี้แพทย์อาจให้ favipiravir ในช่วง 4 วันแรก หลังมีอาการ 

หากผู้ป่วยมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน และผู้ป่วยไม่มีอาการ แพทย์อาจไม่ให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญหรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัส 1 ชนิด ตั้งแต่เริ่มมีอาการ

แพทย์จะพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยง ประวัติโรคประจำตัว ข้อห้ามการใช้ยา ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย

4. กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เป็นไปตามแนวทาง ที่กำหนดตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ  ทั้งนี้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะยาทุกตัวเป็น emergency used

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชน ครอบครัว และชุมชน การป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด คือรับวัคซีน รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ชุมชน ล้างมือ และรักษายะยะห่างระหว่างบุคคล