ในปี 2017 องค์กรระหว่างประเทศ Know Violence in Childhood ได้จัดทำรายงานประจำปีชื่อ Ending Violence in Childhood: Global Report 2017 ซึ่งระบุว่า เด็กและเยาวชนกว่า 1,700 ล้านคน หรือ 3 ใน 4 จากจำนวนเด็กและเยาวชนทั่วโลก “ตกเป็นเหยื่อ” หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในทุกๆ ปี
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลสถิติเด็กที่โดนกระทำความรุนแรงในครอบครัวจาก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระหว่างปี 2556-2563 ระบุว่า มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด 1,960 ราย โดยพบมากที่สุดคือการกระทำความรุนแรงทางกาย 1,089 ราย รองลงมาถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจำนวน 756 ราย และสุดท้ายคือการถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจ 105 ราย
แน่นอนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กได้สร้างร่องรอยของความเจ็บปวดทั้งทางกายภาพซึ่งเป็นบาดแผล และทางจิตใจผ่านการแสดงออกต่อสิ่งต่างๆ ที่ฝังใจ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าประสบการณ์เหล่านั้นมีส่วนทำให้เสี่ยงต่อความเจ็บป่วยมากกว่าเด็กทั่วไป
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2565 สำนักพิมพ์ Bookscape ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เพราะเด็กที่เจ็บปวดคือผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วย: เสวนาจากหนังสือ ลบบาดแผลลึกสุดใจ (The Deepest Well)” โดยช่วงหนึ่งของการเสวนาได้พูดถึงความรุนแรงรูปแบบต่างๆ รวมถึงประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กที่เกิดจากคนในครอบครัว บริบทแวดล้อมทางสังคม เหตุการณ์ความขัดแย้ง และภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างบาดแผลในจิตใจหรือร่างกายของเด็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพกาย พัฒนาการ และความเจ็บป่วยเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย
‘บาดแผล-ความรุนแรง-ความเจ็บปวด’ ที่มองไม่เห็น
บุศยาภา ศรีสมพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Shero Thailand อธิบายว่า ความรุนแรงมีหลายรูปแบบทั้งที่มองเห็นได้ชัด และความรุนแรงที่มองไม่เห็น เช่น การใช้ความรุนแรงทางอารมณ์ การใช้ความรุนแรงทางคำพูด การเพิกเฉย ความด้านชาต่อบุคคล การตัดทรัพยากรพื้นฐาน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงทางกายที่ไม่ใช่แค่การตบตี หรือก็คือความรุนแรงทางเพศ การคุกคามทางคำพูด หรือผ่านสื่อออนไลน์ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจเช่นกันซึ่งเหล่านี้ทำให้เกิดบาดแผลที่มองไม่เห็น
ฉะนั้น การที่ผู้เสียหายหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจะขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในตัวเด็กเองค่อนข้างเป็นเรื่องท้าทาย เพราะไม่สามารถบ่งบอกหรือสัมผัสแผลนั่นได้ชัดเจน ทำให้บางคนอาจต้องใช้เวลาตลอดชีวิตในการรักษา
“ถ้าเราย้อนถอยกลับมาดูจะพบว่าจริงๆ แล้วความรุนแรงที่เราลิสต์มา มันฝังอยู่ในค่านิยมไทยแบบผิดๆ อยู่ในสุภาษิตด้วย อย่างรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ซึ่ง Corporal Punishment (การลงโทษทางร่างกาย) ถือว่าเป็นความรุนแรง หลายๆ คนไม่เข้าใจและพยายามหาข้ออ้างให้กับการกระทำนั้น”
บุศยาภา บอกต่อไปว่า เมื่อหลายคนไม่เข้าใจหรือไม่ตระหนักรู้ถึงประเภทของความรุนแรง จะทำให้เกิดมายาคติตามมาเรื่องของเหยื่อในอุดมคติ (Perfect victim) กล่าวคือ สังคมจะเข้าไปช่วยเหลือหรือให้ความสำคัญในกรณีที่เกิดความรุนแรงไปเรียบร้อยแล้ว เช่น เด็กถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ซึ่งหลังเหตุการณ์นั้นถึงจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนตระหนักรู้เรื่องความรุนแรง แต่ในชีวิตประจำวัน พอเห็นเด็กถูกใช้ความรุนแรงทางคำพูดทั้งจากคนในบ้าน หรือจากคุณครู เรื่องแบบนี้กลับถูกไม่ให้ความสำคัญ
“สิ่งเหล่านี้จะเกิดบาดแผลซ้อนขึ้นมาเรื่อยๆ และก็ถูกสะท้อนมาทางพฤติกรรม ทางอารมณ์ เกิดเป็น Reflect ของ Trauma (ความเจ็บปวด) แล้วพอเราเห็นก็จะตัดสินไปว่าเด็กพวกนี้มันดื้อ จะไม่ให้ตีได้ยังไง” ผู้ก่อตั้ง Shero Thailand ระบุ
เมื่อเด็กเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดด้วยตนเอง
ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ผู้ก่อตั้ง Mental Me เล่าว่า จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับคนที่มีปัญหาทางจิตใจกว่า 99% ประสบกับความเจ็บปวดในวัยเด็กมาเกือบทั้งหมด ทั้งการตบตีด้วยไม้กวาด สายไฟ หมวกกันน็อค ฯลฯ ซึ่งถูกกระทำโดยคนในครอบครัว ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปจนเขาโตขึ้นแล้ว ทำให้ความรู้สึกกลัวอาจจะลดน้อยลง แต่ทุกครั้งที่เห็นอุปกรณ์หรือบุคคลที่เคยทำร้าย เขาบอกว่ามันเหมือนมีมีดที่กรีดแผลในใจ และทำให้ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นวนเวียนอยู่ในหัวอีกครั้ง
สำหรับการรับมือที่พวกเขาใช้จะมีหลากหลายวิธี เช่น บางคนเลือกส่งต่อการกระทำที่รุนแรงไปสู่คนอื่น ด้วยการทำร้ายเพื่อน ทำให้อยู่ในวงจรความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมา สุดท้ายก็ต้องถูกทำโทษ โดยที่ไม่มีคนสนใจเบื้องหลังการกระทำเหล่านั้นเลย หรือบางคนเลือกที่จะเก็บไว้กับตัวเอง ทำให้วันหนึ่งความเจ็บปวดทับถมจนเกิดเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่รุนแรง
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังอีกวิธีที่หลายคนเลือกใช้ คือ การพบจิตแพทย์และเลือกที่จะออกมาอยู่อาศัยคนเดียว โดยอดทนเพื่อให้ตนเองพ้นจากความเป็นผู้เยาว์และพอที่จะหาเลี้ยงตนเองได้ ถึงแม้ว่าเขาจะปรึกษาผู้ใหญ่หรือครู แล้วถูกบอกกลับมาว่าเป็นลูกอกตัญญูก็ตาม
“การที่บอกว่าพ่อแม่ตีแค่นี้เอง ทำไมต้องออกจากบ้าน คนกลุ่มนั้นไม่ได้รู้เลยว่าเด็กที่ต้องเผชิญความรุนแรงมันเจ็บปวดขนาดไหน” ปราชญา กล่าว
ความรุนแรงที่กระทบจิตใจเด็กจากบริบทแวดล้อม
เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก บอกว่า ช่วงวิกฤตโควิด 2 ปีที่ผ่านมาเห็นภาพชัดเจนมาก การที่พ่อ แม่และลูกกักตัวอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม โดยเฉพาะชุมชนแออัด มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงต่อเด็กในหลายมิติ ซึ่งสาเหตุที่ทางมูลนิธิฯ พบได้แก่ 1. ความเครียด 2. เศรษฐกิจในครัวเรือน-การขาดรายได้ 3. การเสพติดของมึนเมา เช่น สุรา ฯลฯ ดังนั้นเมื่อเกิดความรุนแรงในครอบครัว จากการทะเลาะระหว่างพ่อแม่ หรือเอาความไม่พอใจแสดงออกต่อเด็ก ซึ่งเด็กก็จะอยู่ในเหตุการณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้จิตใจเด็กซึมซับความรุนแรงจนเกิดความเครียด
นอกจากนี้ บริบทของสถานการณ์อื่นๆ อย่างกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นความรุนแรงที่กระทบต่อจิตใจเด็กในพื้นที่เช่นกัน อาทิ การได้ยินเสียงปืนทุกวัน การเห็นเลือดและคนเสียชีวิตตั้งแต่เกิด ฯลฯ รวมถึงอีกกรณีหนึ่งคือความรุนแรงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรือความรุนแรงจากภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น สึนามิ ฯลฯ
“ผมลงไปทำตอนเกิดสึนามิ ปี 47 ที่สารคามกับบุรีรัมย์ เพราะว่าคนที่ไปทำงานที่นั่นยกครอบครัวตายทั้งหมู่บ้าน คือความรุนแรงที่เด็กสูญเสียทั้งครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ พี่ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เราร่วมหาทางออก และร่วมกันเยียวยา”
‘เด็กที่เจ็บปวด’ คือ ‘ผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วย’
รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก หัวหน้าหน่วยคุ้มครองเด็ก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experiences: ACE) นั้น ส่งผลต่อสุขภาพกายโดยตรง คือ ด้านการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด โดยแบ่งเป็นสองชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และอะดรีนาลีน (Adrenaline) ที่เมื่อเกิดความเครียด ภาวะที่กระตุ้นให้เกิดความกลัว หรือวิตกกังวล ฮอร์โมนสองชนิดนี้จะถูกหลั่งออกมา ซึ่งจะนำไปสู่การกระตุ้นส่วนต่างๆ ในร่างกาย อาทิ หัวใจ ทำให้เต้นแรงขึ้น ฯลฯ
ดังนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในวัยเด็ก และเกิดขึ้นภายในบ้านของตนเอง จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา (Biology) ในสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ (amygdala) ซึ่งเมื่อตอบสนองต่อความกลัวจะทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและทำงานมากกว่าปกติ แม้จะผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นๆ มาแล้วก็ตาม ในระยะยาวจะทำให้เกิดความเข้าใจในบางเรื่องที่ต่างกับคนทั่วไป เนื่องจากมีความเข้าใจที่ผิดแปลกไปจากการที่สมองถูกกระตุ้นตลอดเวลา เช่น บางเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดา เด็กที่มีภาวะดังกล่าว อาจตอบโต้ด้วยท่าทีที่รุนแรง
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกในแง่ของความทรงจำ (Hippocampus) ซึ่งถ้าเจอเรื่องดีส่วนนี้จะกระตุ้นให้มีความทรงจำร่วมอยู่ด้วย แต่ถ้าถูกทำร้ายเรื้อรังจะทำให้มีขนาดเล็กลง ทำให้มีปัญหาเรื่องความทรงจำ รวมถึงสมองส่วนควบคุมความหุนหันพลันแล่น (Cerebral cortex) เมื่อถูกกระตุ้นบ่อยครั้ง ความยั้งคิดจะลดลงและเป็นคำตอบว่าทำไมเด็กถึงแสดงออกอย่างก้าวร้าวในบางครั้ง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อ ระบบภูมิคุ้มกัน (Emo Systems) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อการอักเสบในร่างกาย โดยอาจทำให้เกิดโรคบางโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันได้
“อันนี้เป็นเรื่องของระดับฮอร์โมนซึ่งอาจวัดระดับฮอร์โมนไม่ได้จริง แต่เราสามารถวัดขนาดของกลุ่มเนื้อสมองพวกนี้โดย MRI ได้ เพราะฉะนั้นมีการยืนยันเลยว่า Hippocampus มีขนาดเล็กลง ขณะที่ amygdala มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งสรุปว่ามีการเปลี่ยนแปลงของ Biology จริงๆ ทำให้เกิดโรคทางกายเพิ่มมากขึ้น โรคทางจิตเพิ่มมากขึ้น และโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดการอักเสบมากขึ้นจริง”
- 954 views