ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขอเตือนไว้ตัวโตๆ ก่อนเลยว่า สิ่งที่ท่านกำลังจะอ่านอยู่นี้มีเนื้อหาที่โหดร้าย ทั้งในแง่ของการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ การสังหารหมู่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการทดลองทางการแพทย์โดยมีชีวิตของเพื่อนมนุษย์เป็นเดิมพัน

“แพทย์” และ “เทพความตาย” เมื่อดูแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมาพร้อมกัน ทว่า โจเซฟ เมงเกเล่ (Josef Mengele) สามารถทำให้คำที่ดูเหมือนจะเป็นขั้วตรงข้ามนั้น “เป็นไปได้”

นั่นเพราะเขาคือนายแพทย์ผู้ที่ควบคุมชะตาชีวิตประจำค่ายเอาช์วิตซ์ (Auschwitz) ซึ่งเป็น “ค่ายกักกันมรณะ” ที่พรากชีวิตชาวยิวไปหลายล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากมือของพรรคนาซี เยอรมนี

เมงเกเล่เป็นผู้ตัดสินเมื่อเชลยเข้าสู่ค่ายกักกันว่า “ใครจะถูกส่งไปเข้าห้องรมแก๊ส ใช้แรงงาน หรือนำไปทดลองทางการแพทย์”

นี่คือที่มาของ “เทพแห่งความตาย” หรือ Angel of Death

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เมงเกเล่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาการแพทย์ (การแพทย์ชาติพันธุ์) ในปีค.ศ. 1935 จากมหาวิทยาลัยมิวนิก เนื่องจากในขณะนั้นเขามีความสนใจในวิทยาศาสตร์ และมานุษยวิทยา

ขณะเดียวกันเมงเกเล่เริ่มสนใจเรื่องพันธุกรรม และเริ่มทำงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมศาสตร์ เพื่อค้นหาสาเหตุของความผิดปกติ และข้อบกพร่องทางพันธุกรรม และต่อมาเขาก็ผ่านการทดสอบทางการแพทย์ของรัฐ ไปพร้อมๆ กับสนใจปัญหาการเมือง รวมไปถึงพรรคนาซีเพราะมีแนวคิดที่สอดคล้องกัน

จวบจนปี ค.ศ. 1943 เขาก็ได้เป็นนายแพทย์ประจำที่ค่ายมรณะอย่าง “เอาซ์วิตซ์” ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเล็งเห็นแล้วว่ามีความเหมาะสมในการเตรียมวิจัยทางการแพทย์โดยใช้มนุษย์ได้ ซึ่งนอกจากเขาจะเป็นผู้ที่ชี้ชะตาเชลยที่อยู่ในฐานะนักโทษว่าใครสมควรมีชีวิตเพื่อส่งไปใช้แรงงาน หรือใครที่ควรถูกสังหารทันทีแล้ว เขายังใช้โอกาสนี้ในการคัดเลือกนักโทษที่เหมาะสมสำหรับการทดลองทางการแพทย์อีกด้วย

นายแพทย์เมงเกเล่ เริ่มการทดลองทางการแพทย์ด้านต่างๆ ในปี ค.ศ. 1942 ซึ่งเขาได้ทดสอบระดับความทนทานของร่างกายมนุษย์ด้วยการขังเหยื่อไว้ในห้องกักอากาศความลดความดัน การทดลองแช่แข็ง การทดลองในน้ำเค็ม

ขณะเดียวกันยังมีการทดลองที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนา และการทดสอบทางเภสัชกรรม การรักษาผู้ป่วยและบาดเจ็บ  ซึ่งเป็นการทดลองสร้างภูมิคุ้มกันโรคและเซรุ่มเพื่อรักษาโรคติดต่อต่างๆ รวมไปถึงการทดลองปลูกถ่ายกระดูก ด้วยการผ่าตัดนำกระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทบางส่วนของเหยื่อไปปลูกถ่ายให้แก่เหยื่อรายอื่น อันเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตและพิการ นอกจากนี้ยังมีการทดลองประสิทธิภาพของยาซัลฟานิลาไมล์ และแก๊สมัสตาร์ด

ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อทดลองวิธีที่จะทำให้บุคลากรในกองทัพอยู่รอด

กระทั่งมาถึงการทดลองเกี่ยวกับฝาแฝด ส่วนนี้เองผู้เขียนจึงขอหยิบยกกรณีของ อีวา โมเซส กอร์ (Eva Mozes Kor) และมีเรียม เหยื่อฝาแฝดของเมงเกล่า

“พวกเขาเป็นฝาแฝดใช่ไหม?” นั่นคือสิ่งที่ผู้คุมค่ายกักกันถามผู้เป็นแม่ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนชีวิตของอีวาไปตลอดกาล เพราะคนผู้นั้นได้แยกคู่ฝาแฝดออกจากผู้เป็นแม่ ซึ่งในตอนนั้นพวกเธอไม่มีทางรู้เลยว่านั่นจะเป็นการเจอหน้าของมารดาผู้ให้กำเนิดเป็นครั้งสุดท้าย

อีวาและแฝดของเขาในวัย 10 ปี ถือเป็นเหยื่อการทดลองอันโหดร้ายที่ฉาวโฉ่จากเงื้อมมือของหมอเมงเกเล่

หลังจากอีวาและฝาแฝดถูกนำตัวไปกักขังในคืนแรกท่ามกลางความหวาดกลัว เพราะพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความสกปรกนั่น ปรากฏ “ศพ”ของเด็กหญิงจำนวน 3 ร่าง ดวงตาเบิกโพลง

นาทีนั้น อีวาสัญญากับตัวเองว่า จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองมีลมหายใจต่อไป เธอและเรียมจะต้องไม่ตาย และต้องออกไปจากค่ายมรณะแห่งนี้

อีวา เล่าว่า เขาและฝาแฝดเปลือยเปล่าอยู่เป็นชั่วโมง ในขณะที่ทุกส่วนของร่างกายนั้นถูกวัดขนาดเพื่อเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน และอีวาบอกว่านั้นเป็นสิ่งที่โหดร้ายและหยามเกียรติเธอ

อีวาและฝาแฝดของเธอถูกมัดแขนและขาทั้งสองข้าง เพื่อเจาะเลือดและนำไปที่ห้อง Lab ราว 3 ครั้งต่อสัปดาห์ บางครั้งก็เจาะเลือดของพวกเธอไปมากจนเป็นลม เพียงเพราะต้องการทดลองว่าคนจะเสียเลือดได้มากแค่ไหน โดยทีไม่ตาย ซึ่งในตอนนั้นเธอไม่เคยรับรู้เลยว่าเธอคือถูกใช้เพื่อการทดลองยีน

วันหนึ่งหลังจากที่อีวาและฝาแฝดถูกฉีดยา เธอป่วยหนัก ซึ่งขณะนั้นเมงเกเล่พูดกับเธอว่า แย่จัง เธอยังเด็ก และเธอจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีก 2 อาทิตย์

แน่นอนอีวามองว่าสิ่งที่เมงเกเล่พูดนั้นถูกต้อง แต่เธอจะไม่ยอมตายเด็ดขาด เพราะหากเธอตายนั่นหมายความว่ามีเรียมฝาแฝดของเธอจะต้องถูกฉีดยาให้ตายด้วย เพื่อผ่าร่างกายของพวกเธอทั้งคู่เปรียบเทียบกัน

“2 สัปดาห์ให้หลัง ฉันอยู่ระหว่างความเป็นและความตาย สิ่งที่จำได้คือฉันต้องคลานอยู่บนพื้น เพราะฉันไม่สามารถเดินได้อีกแล้ว ซึ่งในระหว่างที่ฉันคลาน สติของฉันก็เริ่มเลือนลาง ขณะนั้นฉันยังคงบอกกับตัวเองว่าฉันต้องรอด...ฉันต้องรอด”

ไม่ว่าเป็นเพราะเรื่องบังเอิญ โชคชะตา หรือปาฏิหาริย์ ท้ายที่สุดแล้วอีวาและมีเรียมรอดชีวิต และได้รับการปล่อยตัวออกจากค่ายกักกันมรณะในปี ค.ศ. 1947

อีวาและฝาแฝดของเธอไม่ใช่คนแรกที่ถูกจับเป็นเหยื่อทดลองอันแสนวิปริตนี้ เพราะมีฝาแฝดมากกว่า 1,000 คู่ (เนื่องจากฝาแฝดมียีนที่เหมือน หรือใกล้เคียงกัน) และนักโทษอีกจำนวนมากที่ต้องทุกข์ระทมจากการโครงการวิทยาศาสตร์ และการทดลองของเมงเกเล่

นอกเหนือจากการเจาะเลือดแล้ว เมงเกเล่ยังได้มีการเจาะน้ำไขสันหลัง การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ โดยไม่ใช้ยาชา หรือแม้กระทั่งการฉีดสารเคมีพยายามเปลี่ยนสีตาให้เป็นสีฟ้าเพื่อให้เหยื่อกลายเป็นชาวอารยัน ซึ่งส่งผลให้ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้

การทดลองนั้นจะถูกใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาและพัฒนาความรู้ทางพันธุกรรม ซึ่งแน่นอนว่าการทดลองอันบิดเบี้ยวนี้ เมื่อเหยื่อของเขาเสียชีวิตลงก็จะมีการชันสูตร เพื่อเปรียบเทียบอวัยวะซึ่งกันและระหว่างอวัยวะที่ทำงานปกติและผิดปกติ

แน่นอนว่าในโลกของการแพทย์นั้น การทดลองของเมงเกเล่ไม่ได้รับการยอมรับ และถือว่าเป็นอาชญากรรม ท้ายที่สุดการทดลองของเขาถือว่าเป็นการทดลองที่เปล่าประโยชน์อีกด้วย

ปัจจุบัน โจเซฟ เมงเกเล่ ไม่ได้ในอยู่บนโลกนี้อีกต่อไปแล้ว แต่ชื่อของเขายังคงถูกจดจำและพูดถึงต่อไปใน ในฐานะแพทย์ อาชญากรสงคราม และเทพแห่งความตาย รวมไปถึงความโหดร้ายที่เขาได้กระทำในช่วงที่มีคำนำหน้าว่านายแพทย์

ที่มา :

https://www.history.com/this-day-in-history/the-angel-of-death-die
file:///Users/nikita666/Downloads/jutatipc,+%7B$userGroup%7D,+artcl06.pdf
https://medium.com/lessons-from-history/germanys-most-feared-doctor-josef-mengele-the-angel-of-death-a3599d7bdb6c
https://www.youtube.com/watch?v=o1vHQKc_JiM
https://www.bbc.com/thai/international-60140331