ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยฯ ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งจะมีการถ่ายโอนชุดแรกกันในเดือน ต.ค.นี้

แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตก็เคยมีการ “กระจายอำนาจ” ด้วยการถ่ายโอนการบริหาร รพ.สต. ไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล มาบ้างแล้ว

ทว่า การถ่ายโอนในรอบนี้ถือเป็นการขยับใหญ่ในระดับประเทศ เพราะมี รพ.สต. สมัครใจถ่ายโอนกว่า 3,000 แห่ง และมี อบจ. สมัครใจรับถ่ายโอนถึง 49 จังหวัด

แน่นอน การขยับใหญ่ในครั้งนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ และจนถึงขณะนี้ก็ยังมีข้อกังวลและคำถามเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากระดับผู้ปฏิบัติงาน เช่นเดียวกับ นพ.อำพล เวหะชาติ หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสกลนคร ที่ตั้งคำถามว่า ...

หากมีการถ่ายโอนภารกิจฯ ไปแล้ว และ อบจ. เองก็ไม่ได้มีกรอบอัตรากำลังของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) แล้วแพทย์เวชศาสตร์ที่ผลิตออกมาจะไปอยู่ในส่วนไหน ?

นพ.อำพล อธิบายกับ “The Coverage” ถึงข้อกังวลข้างต้น เนื่องจากโรงพยาบาลสกลนครมีสถาบันผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นนโยบายจากราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเร่งผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฯ ให้สอดรับกับ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ที่จะต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ฯ 6,500 ที่ตามกรอบระยะเวลา 10 ปี

สำหรับผลิตแพทย์ฯ ของโรงพยาบาลสกลนครตั้งมาได้ประมาณ 3 ปี ขณะนี้ก็มีแพทย์เวชศาสตร์ฯ จบออกไปประมาณ 3 คน รวมทั้งยังมีแพทย์ประจำบ้านที่เข้ามาเรียกอีก 3 คน

หากเป็นนโยบายเดิมก่อนจะมีการถ่ายโอนภารกิจฯ ในเขตอำเภอเมืองของจังหวัดสกลนครจะมีแพทย์เวชศาสตร์ฯ ทั้งหมด 18 ทีม ตามสัดส่วน 1:10,000 (แพทย์ 1 คน ต่อหมื่นประชากร) ซึ่งในอำเภอมีประชากรราว 1.8 แสนคน เฉลี่ยออกมาเป็นเลขกลมๆ ได้ 18 ทีม ซึ่งก็อาจจะต้องใช้แพทย์เวชศาสตร์ราว 15-16 คนที่ต้องกระจายออกไป

ส่วนนี้เองที่ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะส่งแพทย์ที่จบวุฒิบัตร (วว.) ไปที่ไหน และจะตกลงกับ อบจ. อย่างไร ?

นพ.อำพล กล่าวต่อไปว่า กรอบของ อบจ. ยังไม่ล้อไปกับ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ในแง่ของความยั่งยืน ขณะเดียวกันกรอบของ อบจ. จะมีพยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ แพทย์แผนไทย หรืออาจจะมีเจ้าพนักงานเภสัชกรรมอยู่บ้าง ซึ่งก็ถือว่าใช้ได้อยู่

“จริงๆ แล้วส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาเรื่องการถ่ายโอน แต่มองว่ากระบวนการ ความเข้าใจของผู้บริหารควรจะตรงกันกับกระบวนการ มาตรฐาน เลยต้องตามต่อไปอีก แต่ถามว่าเห็นด้วยไหมกับการถ่ายโอน เห็นด้วย เพราะกระทรวงสาธารณสุขของเรามันใหญ่ไป อัตรากำลังมาก ฉะนั้นการดูแลอาจจะไม่ทั่วถึง เพียงแต่ว่าทำอย่างไรการทำงานถึงจะเกิดเป็นเนื้อเดียวกัน อันนี้เป็นความกังวลเฉยๆ”

1

หากมองตามนโยบายของ อบจ. จะพบว่าเป็นลักษณะของ คนไปงานไป ซึ่ง นพ.อำพล คิดว่าในช่วงแรกๆ น่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เนื่องจากท้องถิ่นเองก็ต้องฟังเสียงประชาชนหากในกระบวนการดังกล่าวยังมีแพทย์ไปอยู่ แต่ตรงนี้ก็ต้องถามว่าวิธีการที่จะตกลงคืออะไร ซึ่งตอนนี้นโยบาย การวางแผนอัตรากำลัง การเงิน การคลังก็ควรจะต้องเตรียมแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจได้ว่าการแปรญัตติเรื่องงบประมาณอาจจะยังไม่เรียบร้อย ซึ่งถ้าผ่านก็คงจะไม่เกินเดือนหน้าอาจจะต้องทำให้แล้วเสร็จ และก็คาดหวังว่าจะมีการเรียกประชุมเพื่อพูดคุย หารือกัน

“ในส่วนตรงนั้นอาจจะเป็นการทำ MOU กับโรงพยาบาลหรือเปล่า ขอมีแพทย์ออกไปประมาณนั้น ส่วนจะดีลเรื่องค่าตอบแทนอย่างไรนั้นก็ให้เป็นเรื่องในสัญญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ว่าถ้ายังไม่อยากให้สะดุดก็มองว่าหากเคยทำอย่างไรก็ให้ทำไปก่อน”

ความจริงแล้วข้อกังวลดังกล่าวอาจจะไม่ใช่แค่แพทย์เวชศาสตร์ฯ เสียทีเดียว เพราะยังมีทีมสหวิชาชีพ เช่น นักกายภาพบำบัด ฯลฯ คำถามที่ตามมาก็คือ หาก อบจ. ไม่มีกรอบให้ แล้วผู้ป่วยจะไปไหน?

ตรงนี้เอง อบจ. ก็จะต้องพัฒนาในส่วนนี้ นั่นก็คือเรื่องของการบริการขั้นพื้นฐาน ซึ่งทีมสหวิชาชีพก็ควรจะอยู่ที่ระบบบริการปฐมภูมิ แต่ถ้ายังอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอแทนที่จะอยู่ใน รพ.สต. ฉะนั้น รพ.สต. ก็จะไม่มีแพทย์ และไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ

นพ.อำพล อธิบายอีกว่า ส่วนตัวแล้วมองว่าถ้าผู้บริหารที่ดูแลการถ่ายโอนเข้าใจเนื้อหาของ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิก็อาจจะต้องเปิดกรอบอัตรากำลังแพทย์ และสหวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งก็จะเป็นการผ่าทางตันและสามารถเพิ่มอัตรากำลังได้ ตรงนี้ก็จะส่งผลให้เกิดการเติบโต และเป็นทีมเดียวกันหากอ้างอิงตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว

“ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็น MOU กับแพทย์ เหมือนไปรับจ้างคลินิกเอกชน แต่ส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นแบบนั้นคำถามคือจะยั่งยืนหรือไม่สำหรับคนๆ หนึ่ง ส่วนใหญ่ที่อยู่กันคืออยากอยู่ในราชการ มีสวัสดิการ”

ขณะเดียวกันการทำ Data Center เป็นสิ่งสำคัญที่ อบจ. ต้องทำ เพราะส่วนนี้จะทำให้รู้ข้อมูลสุขภาพ หรือ Personal Health Records และอาจจะไปเชื่อมกับระบบคลาวด์ของโรงพยาบาลสกลนครได้ และอาจจะสามารถเชื่อมโปรแกรมการทำงาน หรือส่งเคลมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ หาก อบจ. เข้าใจ และลงทุนในส่วนนี้ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งผู้ปฏิบัติและประชาชน

อีกหนึ่งส่วนที่ นพ.อำพล มองว่าสำคัญ นั่นก็คือการประเมินมาตรฐานของ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ที่ต่อไปจะกลายเป็นการประเมินมาตรฐาน PCU ไม่ใช่มาตรฐานของ รพ.สต. ติดดาว ซึ่งตรงนี้หากจะประเมินในแง่คลินิกมากๆ ก็อาจจะใช้ไม่ได้กับระบบปฐมภูมิ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่า สรพ. จะใช้เกณฑ์ใด แต่ตรงนี้ก็ได้มีการเสนอไปเมื่อครั้งที่ สรพ. จัดงาน เสวนาเรื่อง “การพัฒนาการจัดระบบบริการสาธารณสุขของ รพ.สต. เพื่อพัฒนาคุณภาพให้แก่ประชาชน” เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ณ สำนักสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร (สสจ.) ถึงการเชื่อมโยงระบบระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาล ว่าจะทำอย่างไร และจะส่งผลต่อการรักษาอย่างไร ส่วนนี้ต้องทำให้ชัด

“สรพ. มีความสำคัญมากเพราะตอนนี้เป็นพระเอกที่จะเชื่อมจิ๊กซอว์ระบบสุขภาพเมืองไทยหากทำดีๆ การพัฒนาระบบสุขภาพเมืองไทยจะไร้รอยต่อ ซึ่งก็เคยมีการพูดคุยเบื้องต้นว่ายังไงก็แล้วแต่ สรพ. ต้องมาประเมินระบบทั้งระบบไม่ใช่ประเมินแต่ในโรงพยาบาล”