ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ร่วมประชุม กมธ.แรงงาน กรณีกำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางแพทย์ หลังแพทย์ต้องทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ด้าน ประธาน กมธ.แรงงานเตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลเพิ่ม ก่อนนำข้อมูลเสนอสภา


พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) เปิดเผยระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 78 เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 กรณีการกำหนดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางแพทย์ ตอนหนึ่งว่า จากผลสำรวจภาระงาน และภาวะหมดไฟโดย รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ เมื่อปี 2562 พบว่ามีแพทย์ร่วมตอบแบบสอบถาม 1,100 คน ซึ่งผลสำรวจระบุว่า 90% ของแพทย์ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม เป็นผู้ที่ต้องทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยพบว่าต้องทำถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่ากฎหมายแรงงานแนะนำไว้

พร้อมกันนี้ยังพบว่า 60% ของแพทย์ทำงานมากกว่า 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 15 % ของแพทย์ทำงานติดต่อกันมากกว่า 7 วัน และ 90 % ของแพทย์ทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้พัก และยังพบว่าส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย โดย 90 % เกิดการรักษาผิดพลาดเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือทำงานหนักเกินไป ในจำนวนนี้มีถึง 15% ที่ทำให้เสียชีวิต 8% ทำให้พิการ และ 30% ทำให้นอนโรงพยาบาลนานขึ้น

พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า สำหรับเรื่องของภาระงานจากการร่วมตอบแบบสอบถามจำนวนมากกว่าครึ่งต้องตรวจผู้ป่วยนอก 50-120 คนต่อวัน นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามไม่ได้เต็มใจทำงานหนัก แต่ต้องทำเพราะหาคนดูแลผู้ป่วยไม่ได้เพราะแพทย์ไม่เพียงพอ

“หากเปรียบเทียบชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝั่งยุโรปจะกำหนดการทำงานของแพทย์อยู่ที่ 48 ชั่วโมง และมีเวลาพักหลังจากทำงานมาแล้วจะต้องพักอย่างน้อย 11 ชั่วโมง ประเทศสหรัฐอเมริกาจะบังคับให้มีชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” พญ.ชุตินาถ ระบุ

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทน สพง. กล่าวว่า ที่ผ่านแพทยสภาได้ออกประกาศแพทสภาเมื่อปี 2560 เรื่องชั่วโมงการทำงานของแพทย์ และออกฉบับใหม่ในปีนี้ ซึ่งประกาศแพทยสภาในปี 2565 กำหนดเพิ่มจากของเดิมคือหากแพทย์ต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง รวมถึงมีการเพิ่มเรื่องการให้คำปรึกษา และติดตามการนำแนวทางไปปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี จากผลแบบสอบถามจากแพทย์ จำนวน 21,862 คนในสหรัฐฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2454-2560 ก่อนและหลังจะมีการจำกัดเวรแพทย์อินเทิร์นให้ติดต่อกันไม่เกิน 16 ชั่วโมง พบว่าหลังจากการจำกัดเวลาทำงานแพทย์แล้วความผิดพลาดถึงตายที่ป้องกันได้ลดลง 62% และทำงานน้อยกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ลดความผิดพลาดได้ 2 เท่า

ทั้งนี้ เป็นที่มาของข้อเสนอจาก สพง. ว่า 8 ชั่วโมงหลังแพทย์ลงเวรดึกต้องมีโอกาสได้พักเพื่อที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น  8 ชั่วโมงหลังอยู่เวรมา 24 ชั่วโมงต้องเป็นเวลาพักของแพทย์เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้อง และถ้าเป็นไปได้ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต้องเป็นเวลาการทำงานของแพทย์ที่ไม่เกินจากนี้

“ในอนาคตอยากมุ่งหน้าการจำกัดชั่วโมงการทำงานแพทย์เพื่อให้แพทย์มีโอกาสได้พักผ่อน และลดความเสียหายที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยคิดว่าควรจะมีแนวทางกาปฏิบัติที่ชัดเจน กฎเกณฑ์มีผลบังคับใช้ มีมาตราวัดและการติดตามผลอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง นอกจากนี้อยากให้นโยบายของสาธารณสุขสอดคล้องไปกับแนวทางการพัฒนา” นพ.ณัฐ ระบุ

ด้าน นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การจ้างงานที่เป็นสากลนั้นการที่ได้รับค่าจ้างถือว่าเป็นแรงงาน เพราะส่วนตัวมาจากสหภาพแรงงาน ซึ่งวันนี้ก็ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และได้คุยปรึกษากับทางกรรมาธิการ รวมถึงมีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการต่างๆ อยู่ ซึ่งก็ได้คุยว่าอีกหนึ่งสัปดาห์ถัดไปจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าอนุฯ ในเชิงลึก และเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูล เพื่อทำการศึกษาให้ลึกที่สุด เมื่อได้ข้อมูลก็จะส่งให้กรรมาธิการคณะใหญ่เป็นรายงานจากคณะอนุฯ นำเสนอต่อสภาเพื่ออภิปรายต่อไป

“ถ้าโร๊ดแมพเป็นไปตามนี้ได้จนครบวาระ ถึงแม้จะมีอุบัติเหตุก็ไม่ต้องกลัว เพราะเชื่อว่าวันนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคทางรัฐบาล หรือผมเองที่อยู่พรรคก้าวไกลเราจะผลักดันเรื่องนี้ต่อ เพราะเรามองว่านี่คือคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อหมอหรือพยาบาลเองยังไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน แล้วคนที่เข้ารับการรักษาจะเป็นอย่างไรอันนี้สำคัญ” นายสุเทพ ระบุ