ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.-บอร์ดควบคุมคุณภาพฯ ร่วมระดมความเห็น “ร่างแผนปฏิบัติราชการฯ สปสช. ฉบับที่ 5” รุกขับเคลื่อน “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (2566-2570)” คาดนำเสนอบอร์ด สปสช. พิจารณา 1 ส.ค. นี้  


เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุม Policy dialogue ระหว่างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อ “(ร่าง) แผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ระยะห้าปี พ.ศ. 2566 - 2570” โดยมี นางดวงตา ตันโช บอร์ด สปสช. เป็นประธานเปิดการประชุม 

นางดวงตา เปิดเผยว่า จากการเริ่มต้น “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” ของประเทศไทยในปี 2545 ถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว นับจากแผนยุทธศาสตร์ในดำเนินงานกองทุนฉบับแรก จนเปลี่ยนผ่านจะเข้าสู่ร่างแผนปฏิบัติราชการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5ฯ ซึ่งทั้ง 2 บอร์ดหลักจะมาร่วมกันพิจารณาในวันนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญเพื่อสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ  

1

สำหรับร่างแผนปฏิบัติราชการฯ สปสช. ฉบับนี้ เนื้อหายังคงวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นในเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” พร้อมเดินหน้าพันธกิจของการพัฒนาโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนประชาชนในการจัดหาบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมตามความจำเป็น” โดยมีการปรับเป้าหมายของการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ คือ “ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมตามความจำเป็น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ด้วยกลไกการบริหารจัดการที่ดำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาล” 

นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์และกลยุทธ์ดำเนินการที่ครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ การคุ้มครองหลักประกันสุขภาพของประชาชน การมีบริการสาธารณสุขรองรับการเข้าถึงบริการของประชาชน การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์และผู้มีส่วนได้เสีย และกลไกอภิบาลและระบบบริหารจัดการองค์กร ทั้งนี้หากแผนปฏิบัติราชการฯ แล้วเสร็จจะเริ่มใช้ในการบริหารจัดการงบประมาณปี 2566 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. นี้ 

 

2“แผนปฏิบัติราชการฯ นี้จะเป็นเสหมือนเข็มทิศเพื่อกำหนดทิศทางขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระยะ 5 ปีจากนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพและสภาพแวดล้อม ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลง ทั้งด้านกฎหมาย งบประมาณสนับสนุน เทคโนโลยีและอื่นๆ เป็นต้น โดยคำนึงถึงทุกๆ ฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและทั่วถึงในด้านสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคน” นางดวงตา กล่าว    

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การจัดทำร่างแผนปฏิบัติราชการฯ ครั้งนี้ สปสช. ได้ดำเนินกระบวนการมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ร่วมกับ UNDP, Thailand Policy Lab และ Thailand Future Foundation ผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์ ผลกระทบ และคาดการณ์แนวโน้มต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ประเด็นความท้าทาย และการมีส่วนร่วมทุกๆ ภาคส่วน จนนำมาสู่การประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะได้รวบรวมความเห็นและนำไปปรับปรุง คาดว่าจะนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. เพื่อพิจารณาในวันที่ 1 ส.ค. 2565 นี้ และประกาศใช้เป็นแผนปฏิบัติราชการฯ ต่อไป 

ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ใหม่นี้ มี 5 หลักการสำคัญ คือ การดำเนินงานตามบทบาทภารกิจและเจตนารมณ์ของกฎหมาย การสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ตอบสนองนโยบายและความเร่งด่วนด้านสุขภาพรวมถึงการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนและความยั่งยืนด้านการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพ และมุ่งสร้างดุลยภาพการมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์ทุกภาคส่วน เพิ่มศักยภาพสู่การเป็นองค์กรประสิทธิภาพสูง

3