ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันประสาทวิทยา และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ กรมการแพทย์ เผยแพร่แนวทางดูแลผู้ป่วยเด็กที่มีอาการทางระบบประสาทเฉียบพลันจากผลข้างเคียงของกัญชา หลังกลุ่มเด็กอาจบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา 


สถาบันประสาทวิทยา และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยแพร่แนวทางการดูแลผู้ป่วยเด็กที่มีอาการทางระบบประสาทเฉียบพลันจากผลข้างเคียงของกัญชา โดยแนวทางระบุตอนหนึ่งว่า หลังจากประเทศไทยเปิดกัญชาเสรี จะทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาสามารถจำหน่ายในท้องตลาดได้อย่างแพร่หลาย จากเดิมที่มีเฉพาะสารสกัดกัญชาที่ใช้ในทางการแพทย์ 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่จะมีการบริโภคสารสกัดกัญชาได้มากขึ้น ทั้งได้รับโดยไม่ได้ตั้งใจจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผสมกัญชาที่ใช้ในครอบครัว และการใช้เพื่อสันทนาการในกลุ่มวัยรุ่น 

สำหรับผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเฉียบพลันเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย พบในเด็ก และวัยรุ่น ร้อยละ 69-85 ของอาการเป็นพิษจากกัญชาทุกระบบ ฉะนั้นการเตรียมความรู้เรื่องของอาการเป็นพิษทางระบบประสาทและการแก้ไขจึงเป็นเรื่องที่มีความจําเป็น

นอกจากนี้ แนวทางฯ ยังกล่าวถึงวิธีการประเมินและการดูแลสําหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการทางระบบประสาท
เฉียบพลัน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของกัญชาที่สําคัญ โดยมีอุบัติการณ์จากการศึกษาในต่างประเทศ เรียงตามลําดับ ดังนี้ อาการซึม (40-50%) อาการอาละวาด (12-40%) อาการเวียนศีรษะ (3-20%) อาการชัก (4-5%) อาการแขนขาอ่อนแรง (พบประมาณ 3-5%) รวมไปถึงการให้คําแนะนําแก่ผู้ปกครองเพื่อป้องกันเด็กจากการได้รับพิษจากกัญชาซ้ำในอนาคต

อ่านแนวทางการดูแลผู้ป่วยเด็ก ‘อาการระบบประสาทเฉียบพลัน’ จากผลข้างเคียงของ ‘กัญชา’  ได้ที่นี่