ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ใครจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นการของการพัฒนาเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอกุสุมาลย์ จ.สกลนคร จะมีแนวคิดที่ล้อมาจากคำว่า สภากาแฟ คอมมูนิตีแลกเปลี่ยนความเห็นในร้านกาแฟที่เรามักจะมีภาพจำเป็นโอเลี้ยงยกล้อ หนังสือพิมพ์ และอิ่วจาก้วย (ที่เรามักจะเรียกเพี้ยนไปว่าปาท่องโก๋นั่นแหละ)

จากแนวคิดรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่กันอย่างไม่เป็นทางการดังกล่าวนั้น ส่งผลให้เกิดเป็น สภาสุขภาพระดับอำเภอขึ้นช่วงราวๆ ปี 2555-2556 และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการทำงานเป็นเครือข่ายแบบไร้รอยต่อจนเป็นแนวคิดที่ขยายไปทั้งจังหวัด และนั่นเองก็ส่งผลให้ จังหวัดสกลนครได้รับการรับรองระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation : DHSA) จำนวน 10 แห่ง จาก 32 แห่งทั่วประเทศ ถือว่ามากที่สุดในขณะนี้

“The Coverage” จึงไม่รอช้าที่จะพูดคุยกับ นายพูลธวรรธน์ ภัทรธำรงกุล สาธารณสุขอำเภอกุสุมาลย์ ถึงที่มาที่ไปในการจัดตั้งสภาสุขภาพระดับอำเภอ ถึงการทำงานผ่านกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนจากการทำงานที่ “มาก่อนกาล” จนเห็นเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากการทำวงานร่วมกันเป็นเครือข่ายแบบไร้รอยต่อ

จากสภากาแฟสู่สภาสุขภาพระดับอำเภอ

นายพูลธวรรธน์ เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเห็นจากในระดับหมู่บ้าน หรือตำบลเพียงเท่านั้น ขณะที่การมีส่วนร่วมในระดับอำเภอจะเป็นเพียงระหว่างโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เป็นส่วนใหญ่ในการแก้ปัญหา และไม่มีภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนระดับอำเภอเลย

นั่นจึงทำให้เห็นว่าควรจะมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเหมือนในระดับตำบลและหมู่บ้านเสียที ทางฝ่ายสาธารณสุขจึงจัดแจงเป็นเจ้าภาพในการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ จนสุดท้ายก็ได้เกิดเป็นสภาสุขภาพระดับอำเภอขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่าง พ.ศ. 2555-2556

สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเป็นสภาสุขภาพฯ ก็ได้คำตอบว่า “ช่วงนั้นกำลังฮิตเรื่องสภา” และก็เป็นการล้อมาจาก “สภากาแฟ” ที่เป็นการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ เพราะในช่วงแรกของการตั้งสภาสุขภาพฯ นั้นก็ไม่ได้เป็นทางการ เพียงแต่การประชุมในครั้งแรกนั้นต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายทั้งในส่วนราชการ และภาคส่วนอื่นๆ เพียงเท่านั้น ผ่านการระดมความคิดเห็น และคืนข้อมูลเรื่องปัญหาสุขภาพในพื้นที่

จากการจัดตั้งสภาสุขภาพระดับอำเภอในพื้นที่กุสุมาลย์ เป็นการภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นราชการ ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เอกชน ฯลฯ มากำหนดประเด็นในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพและทำงานไปในทิศทางเดียวกัน บนหลักคิดที่ว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนทำให้นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่เป็นหัวโต๊ะในสมัยเห็นว่าแนวคิดนี้ควรขยายไปทุกอำเภอในจังหวัดสกลนคร จนเกิดเป็นดอกผลให้เกิดการขับเคลื่อนสุขภาพในระดับอำเภอทั้งจังหวัด

จนเมื่อปี 2561 ก็ได้เกิดคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ขึ้นตามระบบของสำนักนายกรัฐมนตรี นั่นทำให้สภาสุขภาพระดับอำเภอต้องเปลี่ยนไปตามกฎหมาย แต่หลักการและแนวคิดนั้นยังคงเหมือนเดิมกับสภาสุขภาพระดับอำเภอ

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ต้องมานั่งขบคิดกันใหม่ว่าจะทำงานกันอย่างไรต่อไปตามโครงสร้างที่เปลี่ยนไป และสุดท้ายก็ได้ออกมาเป็นหนึ่งคณะอนุกรรมการชุดใหญ่ และคณะทำงานชุดเล็ก

ใครไม่มีรายชื่อในคณะอนุฯ ชุดใหญ่ก็จะมาอยู่ในชุดเล็ก รูปแบบสภาสุขภาพอำเภอก็ยังมีอยู่เพียงแค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้น ที่กุสุมาลย์ก็ยังติดคำว่าสภาเหมือนเดิม ซึ่งหลักการก็คล้ายกันกับตอนที่เราจัดตั้งเป็นสภาสุขภาพระดับอำเภอ

ปัจจุบันอำเภอที่ไม่ได้ทำสภาสุขภาพระดับอำเภอ ก็ต้องทำเป็นคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอตามกฎหมาย ตรงนี้เหมือนกับว่าอำเภอกุสุมาลย์เราเริ่มทำก่อนโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอตามมาในปัจจุบัน

สำหรับการทำงานนั้นจะมีการทบทวนอยู่ตลอดเวลา ราวๆ 3 เดือนต่อ 1 ครั้ง เพื่อดูว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนนั้นมีสิ่งใดบ้างที่ยังต้องแก้ไข หรือจัดลำดับความสำคัญจากประเด็นปัญหาที่ตั้งเอาไว้ จากนั้นจึงจะเป็นการรายงานความคืบหน้าต่อคณะอนุกรรมการ

แน่นอนว่าในทุกๆ การเริ่มต้นมักจะเป็นเรื่องยากเสมอ แต่เพราะทุกฝ่ายคุ้นชินกับการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่สมัยจัดตั้งสภาสุขภาพระดับอำเภอ ทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปได้อย่างราบรื่นและไร้รอยต่อ

นายพูลธวรรธน์ เล่าต่อไปอีกว่า สำหรับการทำงานในส่วนของสาธารณสุขจะมีคณะกรรมการประสานงานระดับอำเภอ (คปสอ.) ที่จะมีการพูดคุยกันทุกเดือนในการพัฒนาคุณภาพบริการต่างๆ และมี CUP ที่เป็นเครือข่ายของระบบบริการปฐมภูมิ ที่คอยจัดการเรื่องคน เงิน ของ และการสนับสนุนด้านวิชาการต่างๆ รวมไปถึงโรงพยาบาลเองก็จะมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญคอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้การจัดบริการมีคุณภาพ ทั้งเรื่องระบบไอที ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยา หรือระบบการรักษา

มากไปกว่านั้นโรงพยาบาลและ รพ.สต. จะมีการแบ่งทีมสหวิชาชีพลงไปเยี่ยมกลุ่มเป้าหมายตามชุมชน ฉะนั้นด้วยความเป็น คปสอ. ทำให้การทำงานนั้นเป็นไปได้ด้วยดี

ดอกผลสภาฯคุมไข้เลือดออกไร้รอยต่อ

จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ อีกหนึ่งตัวอย่างดอกผลที่บ่งบอกว่ากุสุมาลย์ประสบความสำเร็จในเรื่องของการทำงานแบบบูรณาการนั่นคือการดำเนินงานควบคุมโรคระบาดอย่างโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นประเด็นลำดับที่ 2 ของประเด็นขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุข

เมื่อเห็นช่องว่างเกิดจากการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการวินิจฉัยล่าช้า ทำให้มีการกระบวนการในการแก้ไข โดยเริ่มจากการกำหนดเป็นประเด็นขับเคลื่อน คืนข้อมูลให้แก่ภาคีเครือข่าย เพื่อดำเนินงานภายใต้มาตรการ “ค้นหาเร็ว ควบคุมเร็ว ไม่ช็อก ไม่ตาย” วินิจฉัยเร็ว (ผ่าน Dengue NS1 Ag) รวมไปถึงการร่วมกับภาคีจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย”

นั่นทำให้พื้นที่กุสุมาลย์มีอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลง ไม่มีผู้ป่วยที่เกิดภาวะช็อก ส่งผลให้ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก

นายพูลธวรรธน์ ขยายความว่า ส่วนหนึ่งที่ไม่มีผู้เสียชีวิตนั้นจะเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพการรักษา สำหรับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ท้องถิ่นก็จะมาดูเรื่องของการสนับสนุนอุปกรณ์ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ฝ่ายประชาชนก็จะเป็นการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สอดคล้องกับโรงเรียนที่มีการฝึกให้เด็กนักเรียนร่วมกับผู้ปกครองในการสำรวจลูกน้ำยุงลายภายในบ้าน

ไข้เลือดออกเป็นบทบาทของประชาชนจริงๆ เพราะว่าถ้าประชาชนไม่สนใจไม่ใส่ใจในการจะดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนโดยเฉพาะแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ผมว่ามันก็ควบคุมยาก ทุกภาคส่วนก็กระตุ้นในการพัฒนาให้ประชาชนได้เกิดความตระหนัก ซึ่งเป็นบทบาทของผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดนั่นก็คือ อสม. ที่จะต้องออกมากระตุ้นช่วยในการที่จะประเมินว่ามีภาวะเสี่ยงบ้านคุณมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ขณะเดียวกัน หากประเด็นใดที่ยังขับเคลื่อนไม่สำเร็จ ก็จะมีการส่งเรื่องไปยังสภาสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อให้ทราบว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมาถูกทางแล้วหรือไม่ หรือยังมีส่วนใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งแน่นอนว่าก็จะต้องมีการติดตาม และรายงานความก้าวหน้าต่อไป นั่นหมายความว่าทุกภาคส่วนจะรู้กันว่าในพื้นที่กุสุมาลย์มีส่วนใดที่ยังต้องแก้ไข

ข้อสังเกต ถ่ายโอน รพ.สต.

ปัจจุบันการขับเคลื่อนงานในระดับอำเภอนั้นจะคล้ายคลึงกัน ขึ้นอยู่กับความจริงจังและต่อเนื่องของในแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็ดูว่าในแต่ละอำเภอจะใช้กลไกขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ขนาดไหน

แต่ที่กุสุมาลย์นั้นคุ้นชินอยู่แล้ว บวกกับมีการวางระบบเอาไว้ซึ่งหมายความว่าไม่ว่าใครจะมาหรือจะไปการพัฒนาดังกล่าวนั้นจะยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้

นายพูลธวรรธน์ มองว่าการจะดึงให้ทุกภาคส่วนมาบูรณาการร่วมกันเป็นเหมือนศาสตร์และศิลป์ บางครั้งหากมีความเป็นทางการมากเกินไปอาจจะทำให้อีกฝ่ายนั้นไม่สะดวกใจได้ แต่ด้วยความคุ้นเคยผ่านความสัมพันธ์อันดีที่เกิดจากการช่วยเหลืองานซึ่งกันและกันสุดท้ายทุกฝ่ายก็จะมีส่วนร่วมในการพัฒนางานไปด้วยกันอย่างจริงจังและยั่งยืน

ถึงอย่างนั้นก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ นั่นคือการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นั้นจะทำให้การบูรณาการเครือข่ายแบบไร้รอยต่อสะดุดหรือไม่

นายพูลธวรรธน์ เล่าว่า ในรูปแบบการทำงานแบบไร้รอยต่อนั้นเชื่อว่าเมื่อมีการถ่ายโอนฯ เกิดขึ้นก็จะต้องมีการพูดคุยกันอยู่แล้ว และการทำงานโรงพยาบาลและ รพ.สต. ก็ยังทำงานร่วมกันแม้ว่าจะอยู่กันคนละสังกัดก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็คิดว่าควรจะต้องมีการจัดเวทีเพื่อพูดกันการจัดบริการ การจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น เพราะเมื่อก่อนสามารถถัวเฉลี่ยกันได้เนื่องจากอยู่ภายใต้สังกัดเดียวกัน

ผมเชื่อว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พื้นที่ไหนที่จะต้องรับภายในโอนฯ ก็ควรจะต้องจัดเวทีคุยกันเพื่อหาแนวทางว่าจะจัดรูปแบบบริการอย่างไร เพราะคนที่ไปจะไปแค่ส่วนหนึ่ง คนที่ไม่ไปก็มีส่วนหนึ่ง ตรงนี้จะจัดบริการอย่างไรเพราะประชาชนเองเขาก็คาดหวัง

ถึงขนาดนั้นก็ยังมองว่าในระยะยาวจะต้องดีขึ้นเพราะเมื่อถ่ายโอนฯ ไปแล้วส่วนหนึ่งก็จะต้องมั่นใจว่าทำได้ดีกว่าเดิม และตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนได้

เพียงแต่ในระยะสั้นด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ ในความคิดของนายพูลธวรรธน์ มองว่าการจัดการระบบบริการอาจจะสะดุดเล็กน้อย เพราะในกรณีถ้าถ่ายโอนมาทั้งหมด (รพ.สต. คน ฯลฯ) ไม่น่าเกิดปัญหา แต่ในกรณีที่มาแต่ตัว รพ.สต. จะมีการจัดบริการอย่างไร เช่น พยาบาล แม้จะมีกรอบอัตรากำลังแต่ถ้าไม่สามารถจัดจ้างได้ หรือไม่มีคนมาสมัครจะทำอย่างไร

เพราะว่าฝ่ายวิชาชีพพยาบาลไม่พออยู่แล้ว คนไม่มาด้วยจะทำอย่างไร จะจ้างประกาศรับถ้าไม่มีคนมาจะทำอย่างไร ทีนี้อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบว่าจะไปกระตุ้นหรือทำอย่างไรให้เกิดความสนใจในการทำงาน เช่น อาจจะมีค่าวิชาชีพค่าตอบแทนที่อาจจะเพิ่มขึ้นเงินพิเศษหรือเปล่า