ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เผยสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่เข้ารักษาในโรงพยาบาลยังเพิ่มไม่มาก อยู่ในช่วงเข้าสู่ Small Wave แรกหลังพ้นระลอกโอมิครอนเมื่อต้นปี คาด 10 สัปดาห์จากนี้อาจพบผู้ป่วยในโรงพยาบาลมากขึ้นสูงสุดในช่วงกันยายน


นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกหลายประเทศพบรายงานสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐอเมริกา ดังนั้นผู้เดินทางไปต่างประเทศที่อาจมีการผ่อนคลายเรื่องหน้ากากแล้ว ยังแนะนำให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพื่อไม่ให้นำเชื้อกลับมาติดกลุ่มเสี่ยงที่บ้าน และเมื่อกลับมาแล้วขอให้สวมหน้ากาก เลี่ยงไปสถานที่สาธารณะ ถ้าป่วยมีอาการแล้วสงสัยตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ได้เลย

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้พบผู้ติดเชื้อที่อาการไม่มากและรักษาตัวที่บ้านมากขึ้น โดยพบผู้รักษาในระบบ Home Isolation (HI) เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1.5 หมื่นราย ลงทะเบียนรับยาผ่านระบบ สปสช. แบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 1.91 แสนราย เป็น 2.07 แสนรายในสัปดาห์นี้ แต่ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นไม่มาก อยู่ในเกณฑ์รองรับได้ในระบบสาธารณสุข

สำหรับจังหวัดที่พบเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล จังหวัดใหญ่และท่องเที่ยว จึงต้องพิจารณาควบคุมการระบาดในบางส่วน อาจมีการเพิ่มเติมมาตรการป้องกันโรค เช่น การสวมหน้ากากไปในพื้นที่มีการรวมกลุ่ม การใช้ขนส่งสาธารณะทุกประเภทต้องสวมหน้ากาก สำหรับอัตราครองเตียงภาพรวมอยู่ที่ 10% แม้บางจังหวัดที่มีการนำเตียงโควิดไปใช้ดูแลรักษาโรคอื่น ทำให้อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในระดับ 20-30% ยังไม่เกิน 50% ที่ต้องเพิ่มจำนวนเตียง ส่วนยารักษาต่างๆ มีมากพอรองรับ

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคได้คาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป ว่าอาจเกิดการระบาดเป็นระลอกเล็กๆ (Small Wave) ได้ ซึ่งช่วงนี้มีสัญญาณว่ากำลังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาจทำให้มีผู้ไปรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น หากยังคงมาตรการเหมือนช่วงเดือนมิถุนายน คาดช่วง 10 สัปดาห์จากนี้ไปจนถึงเดือนกันยายนจะเป็นช่วงพีคสุดของเวฟในการเจอผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล แต่ถ้าผ่อนคลายมาตรการทั้งหมด ไม่สวมหน้ากาก ก็อาจจะมีผู้ป่วยมากขึ้นอีก  และหากกลุ่ม 608 ป่วยมากขึ้น ก็อาจจะเป็นระลอกใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบผ่อนหน้ากากอนามัย ขอให้ใส่ไว้ก่อนเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด สถานที่แออัด ขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และรีบไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดและป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลงได้