ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในประเด็นร้อนช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 คือการที่ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ได้ออกมา “คว่ำ” สิทธิการทำแท้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวลุกลามที่ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาลงถนน เดินหน้าประท้วงว่าการตัดสินนี้ เป็นการทำลายเสรีภาพผู้หญิงและถือว่าเป็นการก้าวถอยหลังครั้งใหญ่ของประเทศ

ขณะเดียวกันเมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยเอง ประเด็นของการยุติการตั้งครรภ์ หรือ การทำแท้ง ก็เคยเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี 2499 ที่ประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนด “ความผิด” ฐานให้ทำแท้งลูก ซึ่งบังคับใช้มาต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี

จนกระทั่งเมื่อการเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ “เกิดสัมฤทธิ์ผล” ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ออกประกาศและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ก.พ. 2564 เปิดช่องให้บุคคลที่ตั้งครรภ์และไม่พร้อมต่อการมีบุตรสามารถ ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย และกลายเป็นแสงสว่างให้กับผู้หญิงที่ไม่พร้อมจะตั้งครรภ์ได้มีทางออกในชีวิตหลังจากนี้

ทว่าแม้ระยะเวลาจะผ่านมาล่วงเลยกว่า 1 ปี แต่เหตุใดสตรีจำนวนไม่น้อยยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการทำแท้งอย่างถูกต้องได้อย่างแท้จริง?

เร่งรัดมีหลักเกณฑ์-วิธีการรับคำปรึกษาทำแท้ง

ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีการกำหนดเอาไว้ว่าการทำแท้งอย่างปลอดภัย สามารถทำได้จนเมื่อถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ แต่สำหรับในประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีเพียงสตรีที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เท่านั้น ที่จะสามารถทำแท้งได้ตามความสมัครใจ จากสิทธิที่ได้รับตาม ...แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 ..2564 ใน ม.305 (4)

อย่างไรก็ตาม สำหรับในอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ การทำแท้งอาจมีความซับซ้อนกว่านั้น เพราะการทำแท้งในอายุครรภ์ระยะนี้ยังถือว่ามีความผิด นอกเสียจากว่ามีเหตุผลตามที่ระบุไว้ใน ม.305 หมวดต่างๆ เหล่านี้ จึงจะสามารถทำแท้งได้

ม.305 (1) การตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

ม.305 (2) มีเหตุเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติ

ม.305 (3) ยืนยันว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

และ ม.305 (5) ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพ “ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.สาธารณสุข ประกาศกำหนด”

ในหมวดสุดท้ายนี้เองที่จะเห็นได้ว่า แม้สตรีจะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่หากไม่เกิน 20 สัปดาห์ ก็ยังสามารถยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ หากได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพ

หากแต่เงื่อนไขของการที่จะต้องมี “หลักเกณฑ์และวิธีการ” นี้เอง ทำให้ขณะนี้กลายเป็นตัวล็อคทางเลือกของสตรีจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถทำแท้งตามความประสงค์ได้

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ให้ข้อมูลกับ “The Coverage” ยืนยันถึงปัญหาความล่าช้าของการออกหลักเกณฑ์และวิธีการตาม ม.305 (5) ว่าเป็นชนวนเหตุที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์จำนวนหนึ่งยังไม่สามารถหลุดจากวงจรทางเลือกของการ “ทำแท้งเถื่อน” ได้

นั่นทำให้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เธอจึงเป็นแกนนำในการยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข เรื่อง การเร่งรัดจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก ตาม .305 (5) และการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจหลังแก้เรื่องกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่

รศ.ดร.กฤตยา อธิบายว่า เดิมทีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องออกมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตาม ม.305 (5) ได้มีอนุกรรมการร่างกฎหมายแล้วเสร็จไปตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2564 และถูกนำเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อส่งไปให้ รมว.สาธารณสุข ลงนามประกาศ

“ทางเราก็คาดว่าจะได้ประกาศฉบับนี้ออกมาในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2564 แต่ทางทีมกฎหมายของ รมว.สาธารณสุข กลับทักท้วงว่าร่างฉบับนี้มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ซึ่งเกินหน้าที่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะร่างอนุบัญญัติออกมา จึงคัดค้านไม่ให้ประกาศ ฉะนั้นจากที่ควรจะเสร็จภายในปี 2564 ก็ยังไม่เสร็จ” เธอระบุ

รศ.ดร.กฤตยา ให้ข้อมูลต่อว่า จนกระทั่งต้นปี 2565 ทีมกฎหมายของ รมว.สาธารณสุข จึงได้มีการจัดตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อร่างประกาศฉบับนี้อีกครั้ง โดยมีตัวแทนทั้งหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา ร่วมเป็นคณะกรรมการ

ขณะที่ร่างประกาศฉบับใหม่ แม้ในขณะนี้จะแล้วเสร็จและได้มีการนำขึ้นหน้าเว็บไซต์ของกรมอนามัยเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 หากแต่การนำขึ้นเว็บไซต์นี้กลับไม่ได้มีการระบุว่านำขึ้นไปเพื่อรับฟังเสียงความคิดเห็นจากประชาชนแต่อย่างใด และยังคงหยุดค้างอยู่ ณ จุดนี้ โดยไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อ

เมื่อประกาศฯล่าช้า เกิน 12 สัปดาห์ต้องทำแท้งเถื่อน?

สำหรับร่างประกาศฯ ฉบับใหม่นี้ รศ.ดร.กฤตยา ระบุว่าได้มีการปรับจากร่างประกาศฯ เดิม โดยนำส่วนของข้อเสนอที่ให้กระทรวงต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ตามลำดับ มีบทบาทแนวทางในการช่วยเหลือ นั้นออกไป

“ฉะนั้นเราจึงมองว่า รมว.สาธารณสุข ไม่ได้ใส่ใจหรือเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ จนถึงทุกวันนี้ที่ร่างประกาศฯ เสร็จแล้ว ก็ยังไม่ลงนาม แม้เรื่องนี้เป็นการแก้กฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาที่มีขั้นตอนมากมาย แต่รัฐมนตรีฯ กลับไม่มีความกระตือรือร้น ไม่สนใจในสุขภาพผู้หญิง ต่างจากเรื่องเสรีกัญชา” รศ.ดร.กฤตยา ให้ความเห็น

ด้วยความล่าช้านี้เอง ที่ทำให้ รศ.ดร.กฤตยา มองว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานบริการ ที่มีความพร้อมให้บริการทำแท้งแก่สตรีที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ซึ่งรอคอยประกาศฯ นี้อยู่ ทำงานยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้บุคคลที่ตั้งครรภ์ไปใช้บริการเถื่อนได้

“ผู้หญิงบางคนท้องแล้วแต่ไม่รู้ก็มี หรือบางคนก็ไม่มีเงินในการเดินทาง เข้าถึงบริการไม่ได้ภายใน 12 สัปดาห์ ก็เพราะส่วนหนึ่งสถานบริการในประเทศไทยมีอย่างจำกัด แล้วพอตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ จะสามารถเดินเข้าไปเพื่อทำแท้งได้ก็ต่อเมื่อใช้ ม.305 (1), (2) และ (3) เท่านั้น” เธอ ระบุ

ในขณะที่ ม.305 (5) หากมีการประกาศหลักเกณฑ์ออกมาชัดเจนเมื่อไรแล้ว จึงจะเป็นการขยายโอกาสให้กับคนที่มีปัญหา และไม่สามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใน 12 สัปดาห์ ได้มีโอกาสมากขึ้น

มากไปกว่านั้น หากจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น รศ.ดร.กฤตยา จึงเสนอว่าในทางที่ดีแล้วควรมีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ของภาครัฐ อย่างน้อย 1 แห่ง ในแต่ละจังหวัด

ตลอดการรณรงค์เรื่องสิทธิผู้หญิงและการทำแท้งมามากกว่า 30 ปี พบว่าทัศนคติของคนในสังคมรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคน Gen X, Y และ Z เปลี่ยนไปเยอะ มีการให้ความสำคัญเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองมากขึ้น รศ.ดร.กฤตยา ทิ้งท้าย