ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความท้าทายของการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ชนิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน (STEMI) คือเรื่องของการแข่งกับเวลา ยิ่งผู้ป่วยได้รับการเปิดหลอดเลือดหัวใจ (reperfusion) ช้าเท่าใด โอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิตก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

ในอดีตที่ผ่านมาในช่วง ปีงบประมาณ 2557-2559 พื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 มีปัญหาสำคัญคือผู้ป่วย STEMI เข้าถึงการรักษาล่าช้า ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการเปิดหลอดเลือดหัวใจอย่างทันเวลาทอง (Golden period) มีเพียง 23.3-25.6% และเฉลี่ยอัตราตายในโรงพยาบาลสูงถึง 26.9% จนกระทั่งเมื่อศูนย์หัวใจและหลอดเลือดสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ ถูกจัดตั้งขึ้นมาในปีงบประมาณ 2560 ทางทีมงานศูนย์หัวใจฯจึงได้ นำปัญหาในอดีตมาถอดบทเรียนและเร่งพัฒนากลยุทธ์ลดความล่าช้าในการเข้าถึงบริการ จนได้ออกมาเป็นกลยุทธ์ Seamless Spoke & Hub Model เพิ่มอัตรารอดชีวิตผู้ป่วย STEMI เครือข่ายโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จนใจปัจจุบันผู้ป่วยที่ได้รับการเปิดหลอดเลือดหัวใจทันเวลาสูงขึ้นถึง 65%

นพ.ภูริทัต เมืองบุญ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือดฯ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ Seamless Spoke & Hub Model โดยแก่นแท้แล้วก็คือการจัดการเวลา เอาเวลามาจับแต่ละ process ตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนถึงมือแพทย์ เพื่อลด system-delayed เพื่อทำให้อัตราการเปิดหลอดเลือดหัวใจทันเวลาขยับสูงขึ้นและอัตราตายลง

นพ.ภูริทัต ขยายความว่า มาตรฐานการเปิดหลอดเลือดหัวใจในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ primary PCI (PPCI) โดยมี Diagnosis-to-wiring time <120 นาทีและวิธี Pharmacoinvasive (PI) โดยให้ยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็วใน 30 นาที และสวนหัวใจต่อใน 2-24 ชั่วโมง ซึ่งตัวเลข 23.3-25.6% ในอดีตถือว่าหนักหนามาก เนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานควรมากกว่า 50% ของเคสทั้งหมด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในอดีตโรงพยาบาลในเครือข่ายต่างคนต่างทำ มีความสับสนว่าเคสไหนต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด เคสไหนต้องส่งมาทำ primary PCI ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ยาไม่มี ไม่ได้สำรองรถส่งตัวผู้ป่วยที่เพียงพอ ทำให้กระบวนการล่าช้า การเข้าถึงห้องสวนหัวใจทำได้จำกัด อัตราการเปิดหลอดเลือดหัวใจทันเวลาทองน้อย นำไปสู่อัตราตายที่เพิ่มขึ้นในที่สุด

เมื่อถอดบทเรียนปัญหาเหล่านี้และวางแผนแก้ไขแล้วก็ออกมาเป็นกลยุทธ์ Seamless Spoke & Hub Model โดยแบ่ง Golden period ด้วยสูตร 30-60-30 กล่าวคือ ถ้าเทียบระหว่างการให้ยาละลายลิ่มเลือดกับ primaty PCI การทำprimaty PCI จะดีกว่า ซึ่งช่วงเวลาที่สุดเมื่อเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีเวลา 116 นาทีหรือตีกลมๆคือ 120 นาทีในการเปิดหลอดเลือดให้สำเร็จ แต่ถ้าช้ากว่านั้นสู้ใช้วิธีให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วรีบส่งตัวมาสวนหัวใจต่อภายใน 24 ชั่วโมงที่โรงพยาบาลศูนย์ดีกว่า

เมื่อรู้แล้วว่ามีเวลา 120 นาทีแล้ว ก็แบ่งเวลาเป็น 30-60-30 โดย 30 นาทีแรก หมายถึง เวลาที่โรงพยาบาลชุมชนต้นทางนับตั้งแต่แพทย์วินิจฉัยจนถึงรถส่งตัวออกจากโรงพยาบาล จากการสอบถามในโรงพยาบาลเครือข่ายได้รับคำตอบว่าสามารถทำกระบวนการทั้งหมดในเวลา 26 นาที จึงกำหนดเวลาไว้ที่ 30 นาที ขณะที่ตัวเลข 30 นาทีหลัง หมายถึงเวลาตั้งแต่รถส่งตัวมาจอดที่ห้องฉุกเฉินไปจนถึงเข้าห้องผ่าตัดทำการเปิดหลอดเลือด ใช้เวลารวม 30 นาทีและที่เหลืออีก 60 นาที คือระยะเวลาในการเดินทางจากโรงพยาบาลต้นทางมาถึงโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์นั่นเอง

จากนั้นก็กางแผนที่โดยให้โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์เป็นศูนย์กลาง แล้วดูรัศมีของโรงพยาบาลลูกข่ายที่สามารถส่งตัวผู้ป่วยมาทำ primary PCI ได้ภายใน 60 นาที ซึ่งจะมีจำนวนทั้งหมด 33 โรงพยาบาล โรงพยาบาลเหล่านี้จะจัดเป็น Spoke A  เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเคส STEMI เข้ามา จะส่งมาทำ primary PCI ที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ทันที ส่วนโรงพยาบาลอีก 10-15 โรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลออกไป ต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 80 นาที ถูกจัดเป็น Spoke C ถ้ามีเคสเข้ามา จะใช้วิธีให้ยาละลายลิ่มเลือดก่อนแล้วรีบส่งตัวมาสวนหัวใจที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์โดยเร็ว และยังมีโรงพยาบาลอีกส่วนหนึ่งที่อยู่กลางๆ เดินทางได้ทันใน 60 นาทีบ้างไม่ทันบ้าง จัดเป็น Spoke B สามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้ยาละลาดลิ่มเลือดก่อน หรือส่งมาทำ primaty PCI ก็ได้ถ้าสามารถลดระยะเวลาในขั้นตอนการวินิจฉัยจนรถส่งตัวออกจากโรงพยาบาลและมีเวลาในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น

"เมื่อมีแนวทางแบบนี้จึงเกิดความชัดเจนไม่สับสน ทำให้อัตราการเปิดหลอดเลือดหัวใจอย่างทันเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 65% ในปัจจุบัน ซึ่งหากแยกระหว่างการให้ยาละลายลิ่มเลือดกับ primary PCI พบว่าเฉพาะในส่วนที่ต้องให้ยาอย่างเดียวสามารถทำได้ประมาณ 50-55% ขณะที่การทำ primary PCI โรงพยาบาลในกลุ่ม Spake A สามารถทำได้ทันเวลาถึง 93% ถัวเฉลี่ยแล้วจึงกลาย 65%" นพ.ภูริทัต  กล่าว

อย่างไรก็ดี กว่าจะสามารถพัฒนาระบบและดำเนินการถึงขั้นนี้ได้ นพ.ภูริทัต กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกถือว่าเหนื่อยมากและทีมงานต้องทำงานหนักขึ้นอย่างมหาศาล ปัจจัยสำคัญคือโรงพยาบาลแม่ข่ายต้องสื่อสารแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลลูกข่ายบ่อยๆ รับทุกฟีดแบ็ก รับแก้ปัญหาตลอดเวลา ต้องรับ response อย่างจริงจังและจริงใจเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ลูกข่าย และอีกประการคือโรงพยาบาลแม่ข่ายต้องรับเคสเร็ว ต้องรับทุกกรณีไม่ว่าจะหนักหรือเบา ไม่ปฏิเสธเคส  สิ่งนี้คือกุญแจที่สำคัญอย่างมากในการทำงาน รวมทั้งการสื่อสารภายในโรงพยาบาลแม่ข่ายก็ต้องชัดเจน สื่อสารไปอายุรแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน ไปกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน กลุ่มงานพยาบาล ฯลฯ ให้เข้าใจว่ากำลังทำอะไร  และสุดท้ายคือติดตามผลทุกเดือนๆ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ว่ามีปัญหาอะไร ต้องแก้อะไร

ด้วยความสำเร็จของกลยุทธ์ Seamless Spoke & Hub Model ทำให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 ให้ความสำคัญและยกให้เป็นนโยบายของเขตสุขภาพ ทำให้เกิดการสนับสนุนทั้งด้านคน เงิน ของ ให้แก่โรงพยาบาลที่ยังขาดแคลน และได้รับการร่วมมือจากโรงพยาบาลอื่นๆ ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานการดำเนินการเดียวกัน แต่การพัฒนากลยุทธ์ Seamless Spoke & Hub Model ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ นพ.ภูริทัต กล่าวว่า เป้าหมายในอนาคตจะเพิ่มอัตราการเปิดหลอดเลือดหัวใจอย่างทันเวลาให้สูงขึ้นเป็น 70% ของเคสทั้งหมดให้ได้ ถ้าทำได้จะช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายในการรักษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมาก นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มากขึ้น เพราะจากการศึกษาข้อมูลสาเหตุการตายย้อนหลัง พบว่าผู้ป่วยมีรอยโรคทุกราย จนเมื่อเกิด STEMI ขึ้นมาก็คือฟางเส้นสุดท้ายแล้ว ดังนั้น ถ้าพบว่ามีรอยโรคก็ต้องป้องกันไว้ก่อน และเชื่อว่าหากผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังและจริงใจ น่าจะเห็นผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรมภายใน 5 ปีอย่างแน่นอน