ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สรพ. พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ จ.สกลนคร รับฟังความคิดเห็นด้านการพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลังวันที่ 1 ต.ค. 2565 นี้ ด้าน ปลัด อบจ.สกลนคร ยืนยันพร้อมใช้เกณฑ์ประเมินมาตรฐานหน่วยบริการปฐมภูมิของ สรพ. เพื่อสร้างหลักประกันคุณภาพว่าประชาชนจะได้รับบริการที่ดี


คณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และคณะผู้บริหาร สรพ. ลงพื้นที่ จ.สกลนคร เพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาการจัดระบบบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการปฐมภูมิ (รพ.สต.) เพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน กรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งจะเริ่มการถ่ายโอนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ประธานกรรมการ สรพ. กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และ สรพ.ได้มีแนวคิดจัดทำมาตรฐานการให้บริการในระดับปฐมภูมิเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพ ดังนั้นจึงอยากรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รพ.สต. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำข้อมูลกลับไปพัฒนามาตรฐานให้สอดคล้องกับการปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่จะถึงนี้ สรพ. จะประกาศใช้มาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลฉบับใหม่ ดังนั้นจึงอยากรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยบริการในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

ด้านพญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า หน้าที่ สรพ. คือรับรองคุณภาพระบบการดำเนินงานของสถานพยาบาลหรือ Service Delivery ของสถานพยาบาลของรัฐ ทั้งที่มีเตียงและไม่มีเตียง ดังนั้น รพ.สต. ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่สังกัดใดก็ยังอยู่ในบทบาทหน้าที่ที่ สรพ. สามารถเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเรื่องคุณภาพได้ โดยยืนยันว่ามาตรฐานที่กำหนดโดยของ สรพ. ผ่านการรับรองในระดับสากล และ สรพ.เองก็มีวิสัยทัศน์ทำให้สถานพยาบาลมีคุณภาพไว้วางใจได้ในระดับสากล เช่นเดียวกับในส่วนของหน่วยบริการในระบบปฐมภูมิ ก็มีการวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถานบริการปฐมภูมิในระดับที่สากลยอมรับ

พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า เดิมทีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะใช้กลไก รพ.สต.ติดดาว เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิตั้งแต่ปี 2560-2569 จากนั้น สรพ.จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพในฐานะ third party ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี เนื่องจากในวันที่ 1 ต.ค. 2565 จะเริ่มมีการโอนย้าย รพ.สต. จำนวน 3,348 แห่ง หรือประมาณ 30% ของ รพ.สต.ทั้งหมดไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงต้องขยับเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น ซึ่งแต่เดิม สรพ.ใช้กลไกมาตรฐานระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System Accreditation : DSHA) เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยมีฐานที่โรงพยาบาลชุมชน เป็นพี่เลี้ยงดูแลเรื่องส่งมอบคุณภาพที่ได้มาตรฐานให้กับ รพ.สต. ในเครือข่าย

"เราทำเรื่องนี้มา 3 ปี มีเครือข่ายที่ผ่านการรับรอง DSHA 38 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง จ.สกลนคร มีพื้นฐานการพัฒนาสุขภาพที่เชื่อมต่อไปยังชุมชนผ่านมาตรฐาน DSHA สูงสุดถึง 8 โรงพยาบาล แต่จากข้อมูลพบว่าใน 8 เครือข่ายนี้ มี รพ.สต. ขอโอนย้ายไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งอำเภออยู่หลายอำเภอ ดังนั้นที่นี่จะเป็นตัวอย่างสำคัญว่าถ้า รพ.สต.ย้ายสังกัดแล้ว ระบบ DSHA ที่มีฐานจากโรงพยาบาลชุมชนกำกับเรื่อง Service Delivery จะคงรูปแบบนี้ต่อไปได้หรือไม่หรือจะใช้กลไกดูแลเรื่องคุณภาพอย่างไร ขณะเดียวกัน สรพ.เอง ก็ยังเตรียมแผนพัฒนาคุณภาพสำหรับสถานบริการปฐมภูมิโดยเฉพาะ ใช้รูปแบบการประเมินคุณภาพผ่านการรับรองตนเอง จากผู้รับบริการ และประเมินจากผู้เยี่ยมสำรวจภานนอกซึ่งอาจมาจากโรงพยาบาลชุมชน เราก็อยากฟังความคิดเห็นว่าในพื้นที่คิดอย่างไร"พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ขณะที่ นพ.ธราพงษ์ กัปโก รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า โรงพยาบาลทุกแห่งผ่านการรับรองคุณภาพจาก สรพ. 100% และมีอำเภอที่ได้รับการรับรอง DSHA อีก 8 แห่งหรือประมาณ 50% และอีก 50% อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ครบ 100% ในอนาคต ขณะเดียวกัน รพ.สต. ใน จ.สกลนคร ที่ขอทำการถ่ายโอนมีจำนวน 144 แห่ง เหลือ รพ.สต. ที่ยังอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข 24 แห่ง แต่ในปี 2566 อาจจะต้องชะลอการถ่ายโอนออกไปก่อนและเริ่มถ่ายโอนในปี 2567 ดังนั้นปี 2565 นี้ จะทางจังหวัดจะศึกษาตัวอย่างจากจังหวัดใกล้เคียงก่อนว่าเมื่อถ่ายโอนไปแล้วพบปัญหาอุปสรรคอะไร สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อในมุมมองของ อบจ. เป็นอย่างไร

ด้านนายมานพ เชื้อบัณฑิต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ทาง อบจ. ก็มีความกังวลพอสมควรว่าเมื่อรับถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้วจะมีสิ่งใดที่จะรับประกันคุณภาพให้ประชาชนมั่นใจในเรื่องคุณภาพการให้บริการ อย่างไรก็ดี ความกังวลก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ท้องถิ่นอยากรับโอน รพ.สต. เพราะอย่างน้อยอยากให้ประชาชนได้รับบริการที่มากกว่าเดิม เนื่องจากเมื่อรับโอนมาแล้ว นอกจากงบเหมาจ่ายรายหัวแล้ว รพ.สต. ยังจะได้รับการสนับสนุนอีกส่วนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้สามารถจัดบริการได้ง่ายขึ้น ขณะที่กำลังคนที่ย้ายมาก็เตรียมกรอบอัตราต่างๆรองรับไว้สามารถไปถึงตำแหน่งชำนาญการพิเศษในสายงานต่างๆ

"ท้องถิ่นจะมีเกณฑ์ชี้วัดอีกแบบ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกระบวนการ เช่น การประเมินประสิทธิภาพในด้านบุคลากร ด้านบริการสาธารณะ การเงินการคลัง ด้านธรรมมาภิบาล ส่วนเรื่องคุณภาพการบริการสาธารณสุขเป็นเรื่องใหม่ของ อบจ. เราศึกษากฎหมายและมาตรฐานต่างๆ และใช้ พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562 เป็นแนวทาง แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะใช้เครื่องมือใด แต่ถ้าใช้เกณฑ์ที่ สรพ. เสนอ เราเห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะว่าอย่างน้อยก็มีหลักประกันคุณภาพว่าประชาชนมาแล้วจะได้รับบริการที่ดี และเชื่อว่าทุกพื้นที่ ทุก อบจ. พร้อมให้ความร่วมมือในการใช้เกณฑ์คุณภาพไม่ว่าจะจาก สรพ. หรือจากกลไกอื่นๆ สำหรับการประเมินคุณภาพ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมาอยู่กับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ"นายมานพ กล่าว