ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ได้เผยแพร่ “กระทู้ถามที่ 005 ร.’ เรื่อง นโยบายให้ผู้ประกันตนนำเงินกองทุนชราภาพ ประกันสังคมออกมาใช้ก่อน และใช้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งเป็นกระทู้ที่ตั้งโดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถามไปยัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อให้ตอบลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง นายสุชาติ ได้ตอบกลับมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นพ.อำพล ถาม

นพ.อำพล ได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.แรงงาน ตอนหนึ่งว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าว รมว.แรงงาน มีนโยบายที่จะให้ผู้ประกันตนนำเงินสะสมเพื่อการชราภาพมาใช้ก่อนได้ โดยกำหนดเป็น 3 ทางเลือก คือ 1. เปลี่ยนจากการรับบำนาญรายเดือนมาเป็นบำเหน็จที่จ่ายครั้งเดียว 2. ลูกจ้างขอรับเงินคืน ร้อยละ 30 โดยไม่เสียดอกเบี้ย 3. ใช้เป็นหลักประกันในการขอกู้เงิน เช่น ปิดบัตรเครดิตเพื่อลดภาระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการบริโภคในปัจจุบัน

หลักการของการออมระยะยาวเพื่อการชราภาพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เกษียณจากงานแล้ว มีความมั่นคงด้านรายได้ และมีบำนาญ หรือรายได้หลังเกษียณ "เพียงพอ" ต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น

ตลอดช่วงอายุยามเกษียณจากการทำงานแล้ว ให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการคุ้มครอง

ทางสังคมให้ผู้สูงวัยไม่ต้องเผชิญกับความเปราะบางในการดำรงชีวิตและเผชิญความเสี่ยงต่อความยากจน

ระบบประกันสังคมที่มีอยู่ปัจจุบัน มีปัญหาสำคัญอยู่หลายประการ ได้แก่

ประการที่ 1 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการเงินของกองทุน กล่าวคือ กองทุนชราภาพ

ภายใต้กองทุนประกันสังคมเป็นแบบ Partial Funded โดยเรียกเก็บเงินสมทบ (Defined Contribution)

ไม่สมดุลกับสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ผู้ประกันตน (Defined Benefit)

กองทุนเริ่มจ่ายบำเหน็จและบำนาญให้ผู้ทรงสิทธิตั้งแต่ปี 2557 เมื่อพิจารณาว่าผู้เกษียณอายุที่ถึงเกณฑ์รับบำนาญจำนวนมากขึ้นจึงเกิดภาระต้องจ่ายบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งสำนักงานประกันสังคมประมาณการว่าเงินกองทุนบำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคมจะเริ่มลดลงในปี 2577 และเข้าสู่ "ภาวะติดลบ" ในปี 2587 ซึ่งกำลังหาแนวทางเพื่อสร้างเสถียรภาพแก่กองทุนชราภาพในระยะยาว

ประการที่ 2 ระดับรายได้ทดแทนหลังเกษียณของกองทุนประกันสังคมไม่พอต่อการคงสถานะดำรงชีวิตทัดเทียมกับช่วงวัยทำงาน โดยรายได้ทดแทนหลังเกษียณจากกองทุนชราภาพของประกันสังคมอยู่ที่ร้อยละ 20 ของเงินเดือนเฉลี่ย 6 เดือนเท่านั้น สุดท้ายหากจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 180 เดือน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ทุกการจ่ายสมทบ 12 เดือน

แต่ด้วยการจำกัดเพดานของเงินเดือนที่จ่ายสมทบที่ 15,000 บาท ทำให้บำนาญขั้นต่ำอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น แม้ว่ายามเกษียณแล้ว ผู้สูงวัยจะมีแบบแผนค่าใช้จ่ายต่างจากวัยทำงานโดยรายจ่ายจำเป็นบางประการลดลง เช่น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ดังนั้นแม้รายได้จากบำนาญหลังเกษียณจะน้อยกว่าช่วงทำงาน ผู้สูงวัยก็อาจยังคงมาตรฐานการดำรงชีวิตได้ ซึ่งรายได้ทดแทนหลังเกษียณที่เหมาะสมควรอยู่ที่ร้อยละ 5-6 ของรายได้เดิม เช่น ลูกจ้างที่มีเงินเดือน 60,000 บาท เมื่อเกษียณอายุแล้ว รับบำนาญจากทั้งประกันสังคม บวกกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบวกกับการออมโดยการสมัครใจอื่น ควรมีรายได้ทดแทนหลังเกษียณ เดือนละ 30,000-36,000 บาท ซึ่งจะ

เพียงพอในการดำรงชีวิต

แต่ผู้มีรายได้น้อยอาจต้องการรายได้ทดแทนหลังเกษียณอยู่ที่ร้อยละ 80 เช่น

ลูกจ้างที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ควรมีรายได้หลังเกษียณ 12,000 บาท จึงจะสามารถ

คงมาตรฐานการดำรงชีพที่ดีได้เป็นต้น ดังนั้นบำนาญขั้นต่ำที่ 3,000 บาท จึงไม่เพียงพอ

ดังนั้น หากมีการดำเนินการตามนโยบายที่ปรากฏต่อสาธารณะข้างต้น กล่าวคือ ๑. การเปลี่ยนจากบำนาญรายเดือนเป็นบำเหน็จที่รับครั้งเดียวได้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าผู้เกษียณจะมีความมั่นคงด้านรายได้ตลอดช่วงอายุหลังเกษียณ

2. การให้ลูกจ้างขอคืนเงินออม ร้อยละ 30 ได้ ทำให้เงินกองทุนลดลง ซึ่งจะกระทบต่อ

เสถียรภาพทางการเงินของกองทุนบำนาญชราภาพของประกันสังคม และสร้างภาระทางการคลัง

ของประเทศ เนื่องจากระบบบำนาญชราภาพของประกันสังคม เป็นแบบผสมผสานระหว่างการกำหนด

เงินสมทบและกำหนดสิทธิประโยชน์ อีกทั้งแม้ว่าไม่มีการขอถอนเงิน หรือขอคืนเงินออม เงินกองทุน

ก็จะลดลงและติดลบอยู่แล้ว

3. การใช้เงินกองทุนเป็นหลักประกันเงินกู้ทำให้กองทุนเกิดความเสี่ยงทางการเงินที่ต้องชดใช้แทน

หากผู้ประกันตนไม่สามารถชำระหนี้ได้ (กฎหมายประกันสังคมไม่อนุญาตให้ทำได้)

อนึ่ง ประสบการณ์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีการออกใบรับรอง

บำนาญให้สมาชิกเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาศักยภาพในการชำระคืนเงินกู้ แต่การกู้เป็นความ

รับผิดชอบของผู้กู้กับสถาบันการเงิน มิใช่ภาระการค้ำประกันของกองทุนแต่อย่างใด จึงขอเรียนถามว่า

1. รัฐบาลได้คาดประมาณผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนบำนาญชราภาพของกองทุน

ประกันสังคมหรือไม่ อย่างไร มีการปรับสิทธิประโยชน์บำนาญสำหรับผู้ที่ถอนเงินออมหรือไม่ อย่างไร

เช่น การลดอัตราเงินทดแทนยามเกษียณ ซึ่งอาจจะกระทบต่อความพอเพียงของรายได้ยามเกษียณ

2. เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบกองทุน ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมี

ข้อผูกพันว่าจะไม่มีการถอนเงินสมทบตลอดระยะการออมจนกว่าจะครบกำหนดรับบำนาญ ดังนั้น

หากมีการถอนเงินก่อนกำหนด จะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีย้อนหลังด้วยหรือไม่ ได้มีการพิจารณา

ในประเด็นนี้หรือไม่ อย่างไร

3. กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพของกองทุนจากการดำเนิน

ตามนโยบายข้างต้น ซึ่งทำให้กองทุนเกิดความเปราะบาง และเร่งภาวะติดลบของกองทุนให้เร็วกว่า

ปี ๒๕๘๗ ที่ประมาณการไว้เดิม

รมต.สุชาติ ตอบ

นายสุชาติ ได้ตอบกระทู้ถามของ นพ.อำพล ผ่านราชกิจจานุเบกษา ตอนหนึ่งว่า ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ ดังนี้

1. กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ได้ออกแบบกฎหมายไว้ไม่ให้กระทบกองทุนในระยะยาว กล่าวคือกรณีที่ผู้ประกันตนขอคืนเงินออมโดยขอนำเงินชราภาพบางส่วนคืน ซึ่งเงินที่ผู้ประกันตนขอคืนทั้งหมดจะถูกหักออกจากสิทธิชราภาพในอนาคตรวมกับผลตอบแทนที่คาดว่ากองทุนจะทำได้

เช่น ผู้ประกันตนอายุ 30 ปี ขอเงินออมคืนไป 30,000 บาท อีก 30 ปีข้างหน้าเกษียณอายุแล้วมารับเงินชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจะหักเงินผู้ประกันตน 30,000 บาท และบวกค่าเสียโอกาสในการลงทุน (อัตราผลตอบแทนตามที่สำนักงานฯ ประกาศทุกปี) ฉะนั้นในระยะยาวจะไม่กระทบกับกองทุน แต่อาจกระทบกับเงินชราภาพของผู้ประกันตนที่จะได้รับลดลง

สำนักงานประกันสังคมคำนึงถึงความเพียงพอของสิทธิบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้เบื้องต้น คือผู้มีสิทธิที่จะเข้าเงื่อนไขในการขอคืน/ขอกู้ จะต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 เดือน ผู้ประกันตนจะต้องใช้สิทธิได้ไม่เกิน 30 ของเงินสะสมชราภาพของผู้ประกันตนที่มีอยู่ หรือไม่เกิน 30,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถที่จะส่งเงินกลับคืนเพื่อให้ได้รับสิทธิชราภาพเต็มเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกันตนขอคืนเงินออมไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมยังคงจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

2. ผู้ประกันตนเป็นผู้ซึ่งจ่ายเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนจากกองทุน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งประโยชน์ทดแทนทุกกรณีได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มาตรา 42 (25)

ทั้งนี้ ไม่ว่าการจ่ายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนครั้งเดียว เช่น กรณีคลอดบุตร กรณีตาย กรณีบำเหน็จชราภาพ หรือหลายครั้ง เช่น สงเคราะห์บุตร กรณีบำนาญชราภาพ หรือกรณีการนำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้ก่อนหรือใช้ค้ำประกันเงินกู้ ไม่มีผลกระทบต่อการเสียภาษีเงินได้ เพราะประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมทุกกรณีล้วนได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมในการคำนวณเพื่อยื่นภาษีเงินได้ทั้งสิ้น

3. สำนักงานประกันสังคมคำนึงถึงความยั่งยืนของกองทุน และติดตามสถานการณ์ของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงได้ศึกษามาตรการที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพกองทุนในอนาคต ได้แก่ การขยายเพดานค่าจ้าง ขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ และปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ เป็นต้น

มาตรการเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้กองทุนมีความมั่นคงยั่งยืนแล้ว ในอนาคตยังทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีบางมาตรการอยู่ระหว่างดำเนินการและต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกันตน และจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผู้ประกันตนจำนวนมากมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ การให้สิทธิในการขอคืน/ขอกู้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนและสร้างเสถียรภาพให้กับกองทุน

สำหรับกรณีขอใช้เงินออมเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ถูกออกแบบไว้ไม่ให้กระทบกองทุนในระยะยาว ซึ่งหากผู้ประกันตนผิดนัดชำระ สำนักงานประกันสังคมจะชดใช้เฉพาะเงินค้ำประกันตามที่ตกลง แต่จะไม่รวมส่วนของดอกเบี้ยเพิ่มเติมที่เกินวงเงินค้ำประกัน ซึ่งทางธนาคารจะต้องตามหนี้จากผู้ประกันตน