ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จ.อยุธยานำร่องใช้ Internet of Things (IoT) ดูแลสุขภาพของประชาชนเพื่อป้องกันโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ให้ อสม. ใช้อุปกรณ์ IoT วัดค่าความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด ส่งข้อมูลเข้าฐานข้อมูลอัตโนมัติ พร้อมคืนข้อมูลให้ดูข้อมูลย้อนหลังผ่าน  Line OA "อยุธยาพร้อม" เพื่อให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงและวางแผนสุขภาพตัวเองได้ ก้าวต่อไปจะวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ด้วยว่าแต่ละคนเสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง


นพ.ณรงค์ ถวิลวิสาร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ จ.พระนครศรีอยุธยาได้เริ่มนำร่องในการนำอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) คือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล เข้ามาช่วยในการดูแลสุขภาพของประชาชนเพื่อป้องกันโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ในทุกตำบลของ อ.ลาดบัวหลวง และ อ.ผักไห่ รวมทั้งบางตำบลในพื้นที่อำเภออื่นๆ
 
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า หลักการในการนำเทคโนโลยี IoT ในการดูแลสุขภาพนั้น กล่าวคือปกติประชาชนจะรู้สภาวะสุขภาพของตัวเองก็ต่อเมื่อมารับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งบางครั้งการเข้ารับบริการอาจไม่ได้สะดวก ไม่สามารถเข้ามาที่โรงพยาบาลได้ทุกคนหรือทุกเวลา เช่น อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ลำบากในการเดินทาง มีความแออัดในโรงพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้ กว่าจะทราบว่าตัวเองเจ็บป่วยก็ต่อเมื่อมีอาการแล้ว ทั้งที่ควรจะรู้ค่าสภาวะสุขภาพของตัวเองตั้วแต่ยังไม่ป่วย ดังนั้น IoT จะมาตอบโจทย์ให้ประชาชนสามารถรับรู้ดัชนีสุขภาพของตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ ทุกที่ทุกเวลา
 
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำร่องใช้อุปกรณ์ IoT ใช้วัดค่าต่างๆ ทั้งความดันโลหิต ค่าน้ำตาลในเลือด น้ำหนัก ส่วนสูง โดยกระจายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำไปตรวจวัดค่าสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ อุปกรณ์จะส่งข้อมูลแบบ real time เข้ามาที่เซิร์ฟเวอร์ในโรงพยาบาลโดยอัตโนมัติ จากนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะสามารถ access เข้ามาดูข้อมูลและประเมินได้ว่าประชาชนแต่ละคนมีดัชนีสุขภาพแบบไหน มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเดือนอย่างไรบ้าง

1
 
ขณะที่ในส่วนของประชาชน จะมีการคืนข้อมูลให้ทราบผ่านทาง Line OA "อยุธยาพร้อม" โดยสามารถแอดเข้ามาเป็นเพื่อนในอยุธยาพร้อมและดูข้อมูลค่าความดันและค่าน้ำตาลในเลือดของตัวเองย้อนหลังได้ พร้อมคำอธิบายว่าหมายถึงอะไรและค่าที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงของตัวเองได้ว่าจะต้องดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างไรต่อไป
 
"อุปกรณ์เหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนผลิตมาเพื่อนำร่อง ต่อไปหากได้ผลหรือมีความต้องการเพิ่มขึ้น อาจใช้วิธีตั้งสเปคกลางเพื่อให้บริษัทเครื่องมือแพทย์ทั้งหลายเข้ามาแข่งขันได้ นอกจากนี้ในอนาคตเรายังวางแผนจะวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ประชาชนด้วย เช่น น้ำหนักเท่านี้ รอบเอวเท่านี้ ความดันและค่าน้ำตาลขนาดนี้ มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะ 5-10 ปีกี่เปอร์เซ็น เป็นต้น" นพ.ณรงค์ กล่าว
 
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาได้ประมาณ 2 เดือน โดยตั้งเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลลาดบัวหลวง และมีประชาชนรับบริการนี้จำนวนหนึ่งแต่โดยรวมแล้วยังไม่มากนัก เนื่องจากความคุ้นเคยในการใช้งานอุปกรณ์ของ อสม. ยังไม่มากนัก จึงต้องเริ่มจากคนที่ใช้งานเป็นแล้วขยายไปสอนคนที่ยังใช้ไม่เป็น อีกส่วนหนึ่งคือต้องการนำร่องให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในบางพื้นที่ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ แต่ตามแผนแล้วจะกระจายให้ทั่วทั้ง จ.พระนครศรีอยุธยา ดังนั้นคนอยุธยาจะได้รับบริการนี้แน่นอน เพียงแต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ว่ามีมากน้อยแค่ไหน