ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตผู้ป่วย 1 ใน 5 ของโลกในแต่ละปี

แม้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา แต่ส่วนมากไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม หรืออาจต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลระยะยาว และจำเป็นต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ

เอมิลี แบรนท์ และ คริสตินา รัดด์ นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก แสดงความเห็นผ่านบทความบนเว็บไซต์ The Conversation ว่า แม้ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง แต่ยังขาดความเข้าใจต่อโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค และการตรวจและวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นโรคฉุกเฉินที่เริ่มต้นด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส แม้เป็นการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย ก็อาจลุกลามไปสู่อาการรุนแรงได้ ที่พบมากที่สุดคือในผู้ป่วยโรคปอดบวมและทางเดินปัสสาวะอักเสบ นอกจากนี้ ยังพบในผู้ป่วยโรคโควิด 19 อีกด้วย

เมื่อร่างกายติดเชื้อ ระบบร่างกายจะปล่อยสารเคมีเข้าสู่กระแสเลือดซึ่งกระตุ้นให้เกิดเซลล์ภูมิคุ้มกัน หากเกิดในคนที่สุขภาพแข็งแรง เซลล์เหล่านี้ก็จะสามารถสู้กับเชื้อจนร่างกายหายดี

แต่ในหลายกรณี พบว่าเซลล์ภูมิคุ้มกันกลับมาโจมตีเนื้อเยื่อและอวัยวะของร่างกายเสียเอง ทำให้เกิดความเสียหายของระบบร่างกาย จนถึงขนาดเลือดออกตามอวัยวะ ผู้ป่วยมีภาวะความดันต่ำ และเกิดภาวะช็อคจนเสียชีวิต

หากเกิดภาวะช็อคแล้ว อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มจาก 10% เป็น 40%

ปฏิกิริยาของเซลล์ในลักษณะนี้พบได้ในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดได้หลายลักษณะ เช่น ในรูปแบบของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคโครห์น ซึ่งเป็นกลุ่มโรคลำไส้อักเสบที่มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร สามารถเกิดขึ้นในคนที่มีสุขภาพดี

ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าผู้ป่วยรายใดมีแนวโน้มเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดภาวะนี้ได้ภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์หลังการติดเชื้อทั่วไป หรือมากกว่านั้น

ในส่วนของการรักษา จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อสามารถพบสัญญาณภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้เร็ว ซึ่งอาจสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาแก้อักเสบและน้ำเกลือ แต่หากอาการพัฒนาไปจนมีความรุนแรง การรักษาเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยหลายรายไม่แสดงสัญญาณที่ชัดเจน ขณะที่อาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจวาย ลิ่มเลือด และอาการแพ้ทั่วๆไป ผู้ป่วยบางคนอาจมีแค่อาการปวดหัว หายใจเร็ว หรืออ่อนแรง แพทย์จึงไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ทันทีเมื่อดูอาการผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังไม่มีเครื่องมือตรวจเชื้อตัวใดที่สามารถตรวจภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้โดยตรง ทำใแพทย์ไม่สามารถสรุปผลวินิจฉัยได้ 100%

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยทางสังคมมีผลต่อการเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ผู้ป่วยในกลุ่มคนจนและคนสีผิวในสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้สูงและคนผิวขาว เพราะสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการเข้าถึงการตรวจที่ทันท่วงที หรือพื้นที่อาศัยห่างจากโรงพยาบาลที่มีแพทย์และเครื่องมือพร้อม

กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน และโรคอ้วน มีแนวโน้มเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยอื่น

แบรนท์และรัดด์ ให้ความเห็นว่างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มักเน้นที่การตรวจและรักษาในโรงพยาบาล มากกว่าที่จะทำสร้างความตระหนักต่อโรคในระดับชุมชน ครอบครัว และการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรค

งานวิจัยบางชิ้นพบว่า 87% ของผู้ป่วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เริ่มมีความเสี่ยงเกิดภาวะดังกล่าวตั้งแต่ตอนยังไม่เข้าโรงพยาบาล ส่วนมากเมื่อมาถึงมือหมอก็อาการทรุดเกินแก้ไข

ในปัจจุบัน นักวิจัยจากหลายหลายสถาบัน รวมทั้งทีมวิจัยของแบรนท์และรัดด์ พยายามศึกษาอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และปัจจัยทางสังคมและชุมชนที่ก่อให้เกิดโรค

การศึกษานี้เฝ้าติดตามผู้ป่วยใน 40 โรงพยาบาล และ 30 ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา เพื่อจำแนกสัญญาณของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และหาวิธีการตรวจและวินิจฉัยโรคที่สามารถหยุดการติดเชื้อ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอาการรุนแรง

แบรนท์และรัดด์สรุปความเห็นของตนเองว่า วงการแพทย์ต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด รวมทั้งเปลี่ยนแนวทางการรับมือโรคนี้ โดยจากที่แต่เดิมแพทย์ตั้งรับที่โรงพยาบาล รอรักษาคนไข้ที่มีอาการรุนแรง โต้องเปลี่ยนมาทำงานร่วมกับชุมชนนอกโรงพยาบาล เพื่อป้องกันโรคแต่เนิ่นๆ

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่: https://theconversation.com/sepsis-still-kills-1-in-5-people-worldwide-two-icu-physicians-offer-a-new-approach-to-stopping-it-175650