ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิทยาลัยแพทย์วอชิงตันได้เผยแพร่งานวิจัยที่ประมาณการณ์ว่า การบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับโลก ต้องมีการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์อีกมากกว่า 43 ล้านตำแหน่ง \

งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ เดอะแลนซิต (The Lancet) เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยทีมนักวิจัยจากสถาบันหน่วยวัดและประเมินผลทางสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) ภายใต้วิทยาลัยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน

ทีมนักวิจัยศึกษาปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ใน 204 ประเทศและเขตแดน แบ่งบุคลากรเป็น 4 ประเภท ได้แก่ แพทย์ พยาบาลและนักผดุงครรภ์ บุคลากรในภาคทันตกรรม และภาคเภสัชศาสตร์

พบว่ามากกว่า 130 ประเทศทั่วโลกมีรายงานปัญหาขาดแคลนแพทย์ และมากกว่า 150 ประเทศขาดแคลนพยาบาลและนักผดุงครรภ์

งานวิจัยชี้ว่าบุคลากรทางการแพทย์มีความสำคัญต่อการสร้างระบบสุขภาพที่มีคุณภาพและยั่งยืน หากยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ อาจไม่ง่ายที่จะบรรลุเป้าหมายด้านการขยายความครอบคลุมบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นหัวใจของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ในปี 2562 มีบุคลากรทางการแพทย์ 104 ล้านคนทั่วโลก แบ่งเป็นแพทย์ 12.8 ล้านคน พยาบาลและผู้ผดุงครรภ์ 29.8 ล้านคน บุคลากรในภาคทันตกรรม 4.6 ล้านคน และภาคเภสัชศาสตร์ 5.2 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการขยายความครอบคลุมบริการสุขภาพให้คนทุกคนบนโลก

1

ทีมนักวิจัยคำนวนว่ายังมีความต้องการบุคลากรเพิ่มมากกว่า 43 ล้านตำแหน่ง ในนี้เป็นแพทย์ 6.4 ล้านตำแหน่ง พยาบาลและนักผดุงครรภ์อีก 30.6 ล้านตำแหน่ง บุคลากรภาคทันตกรรม 3.3 ล้านคน และภาคเภสัชศาสตร์ 2.9 ล้านคน

ปัญหาขาดแคลนแพทย์รุนแรงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ซึ่งขาดแคลนแพทย์มากกว่า 2.57 ล้านคน ตามด้วยกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ขาดแคลนแพทย์ 1.92 ล้านคน

ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน เอเชียตะวันออก ออสเตรเลียและหมู่เกาะรอบๆ ขาดแคลนเพียง 995,000 ตำแหน่ง กลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางขาดแคลน 636,000 ตำแหน่ง

“เราพบว่าจุดหมายปลายทางของบุคลากรทางการแพทย์ สัมพันธ์กับระดับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” พญ.แอนนี ฮาเกนสแตด (Annie Haakenstad) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

กลุ่มประเทศรายได้น้อยส่วนมาก มีความหนาแน่นของบุคลากรทางการแพทย์น้อยกว่ากลุ่มประเทศรายได้สูง เช่นในกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้มีอัตราส่วนแพทย์เฉลี่ยเพียง 2.9 คน ต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปมีอัตราส่วนแพทย์ที่ 38.3 คนต่อประชากร 10,000 คน

ประเทศคิวบา ซึ่งมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและรัฐบาลเน้นนโยบายขยายความครอบคลุมบริการทางการแพทย์ มีความหนาแน่นของแพทย์มากถึง 84.4 คนต่อประชากร 10,000 คน

ความหนาแน่นของพยาบาลและผู้ผดุงครรภ์มีแนวโน้มทิศทางเดียวกัน โดยในกลุ่มประเทศออสเตรเลียและเอเชียมีอัตราส่วนพยาบาลและผู้ผดุงครรภ์ 152.3 คนต่อประชากร 10,000 คน

แต่ในกลุ่มประเทศทางตอนใต้ของละตินอเมริกา ซึ่งมีการพัฒนาเศรษฐกิจด้อยกว่า มีอัตราส่วนพยาบาลและผู้ผดุงครรภ์ 37.4 คนต่อประชากร 10,000 คนเท่านั้น

งานวิจัยดังกล่าวอ้างอิงถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ การเคลื่อนย้ายของบุคลากรออกจากพื้นที่ที่มีความยากลำบาก ไปยังพื้นที่ที่มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมดีกว่า

สงครามและความขัดแย้งทางการเมืองเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในบางประเทศประสบปัญหาความรุนแรง และจำเป็นต้องเลิกทำงานในสายอาชีพนี้ ในหลายประเทศยังพบว่าบุคลากรยังขาดการสนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพ และแรงจูงใจทางการเงินและความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ

2

งานวิจัยยังกล่าวถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งสะท้อนว่าหลายประเทศ ขาดการเตรียมบุคลากรในการรับมือวิกฤติทางสุขภาพที่ไม่คาดฝัน

ผู้จัดทำนโยบายสุขภาพและผู้บริหารโรงพยาบาลน่าจะได้รับบทเรียนในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา และควรหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีอยู่ และมองหาบุคลากรใหม่ๆ เพื่อมาเติมเต็มความต้องการของระบบสุขภาพ

ที่สำคัญ รัฐบาลต้องเพิ่มการลงทุนในการฝึกฝนและจัดการบุคลากรทางการแพทย์ให้พอเพียง

“แต่ละประเทศอาจมียุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งควรจะปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ” พญ.ฮาเกนสแตดกล่าว

ยุทธศาสตร์นี้อาจรวมถึงการวิเคราะห์จำนวนบุคลากรในเชิงพื้นที่ เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมพื้นที่หนึ่งๆจึงมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร และสร้างแรงจูงใจและนโยบายเพิ่มจำนวนบุคลากรในพื้นที่นั้นๆ

อ่านงานวิจัย “Measuring the availability of human resources for health and its relationship to universal health coverage for 204 countries and territories from 1990 to 2019: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2019” ฉบับเต็มได้ที่: https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(22)00532-3/fulltext