ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อสัปดาห์ก่อน (วันที่ 16 มิ.ย. 2565) แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีแห่งออสเตรเลีย ได้ออกมาประกาศว่า รัฐบาลกลางจะขยายกรอบเวลาให้เงินอุดหนุนโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ เป็นอัตราส่วน 50% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดใหม่

แต่เดิม รัฐบาลกลางช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ 45% ของรายจ่ายโรงพยาบาลทั้งหมด แต่เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด 19 จึงเพิ่มอัตราส่วน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรับมือโรคระบาดได้โดยไม่ติดขัดทางการเงิน

การขยายกรอบเวลาครั้งนี้ จะลากยาวจนถึงปลายปีนี้ โดยจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายแก่รัฐบาลรวมมากกว่า 18,600 ล้านบาท

2

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดจากจุดยืนของนายกรัฐมนตรีและทีมงาน ซึ่งเห็นว่าอัตราส่วนเงินสนับสนุนควรอยู่ที่อัตราส่วน 50:50 ตลอดไป เพราะความต้องการบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ประกอบกับต้นทุนบริการที่เพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลท้องถิ่นเองก็ไม่สามารถสนับสนุนโรงพยาบาลได้เต็มที่นัก เพราะมีรายได้จากภาษีในอัตราส่วนเพียง 1 ใน 3 ของภาษีทั้งประเทศ

ปีเตอร์ เบรดอน (Peter Breadon) ผู้อำนวยการโครงการสุขภาพและการดูแลผู้สูงวัย สถาบันแกรททัน (Grattan Institute) เสนอความเห็นว่า การขยายอัตราส่วนเงินสนับสนุนนี้ อาจไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพออสเตรเลียได้

ในปัจจุบัน ผู้ป่วยยังคงกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาล เน้นรักษาโรคที่ปลายทาง มากกว่าที่จะป้องกันโรคตั้งแต่ต้นทาง การให้เงินสนับสนุนโดยเน้นที่การรักษาปลายทางอย่างเดียว จึงไม่เป็นผลดีต่อระบบสุขภาพในภาพรวม

รัฐบาลกลางริเริ่มให้เงินสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน โดยให้เงินเป็นอัตราค่าเฉลี่ยตามประเภทกิจกรรมที่เกิดในโรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ พร้อมกระตุ้นให้โรงพยาบาลบริหารการเงินด้วยการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

แม้ว่าเงินอุดหนุนจะสร้างผลลัพธ์ที่ดี ในแง่การเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย แต่เมื่อบริบทวันนี้เปลี่ยนไป ซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น อายุขัยของผู้คนยาวนานขึ้น จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาในระยะยาวจึงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นปีต่อปี

รัฐบาลอาจไม่สามารถแบกค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ทั้งหมด ดังนั้นควรเน้นหาแนวทางลดจำนวนคนที่มาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

1

วิธีการที่สามารถทำได้ทันที คือการนำบริการสุขภาพออกมานอกโรงพยาบาล ทั้งในรูปแบบการให้บริการที่บ้าน และผ่านระบบออนไลน์

มีงานศึกษาหลายชิ้นที่ยืนยันว่าการให้บริการที่บ้านได้ผลลัพธ์ดีพอๆ กับการไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยยังชอบการรักษาที่บ้านมากกว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดอัตราการครองเตียงที่โรงพยาบาล

ตัวอย่างมีให้เห็นในกรณีการรักษาข้อเข่าเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยสามารถนอนในโรงพยาบาลเพียงคืนเดียวหลังการผ่าตัด และกลับไปฟื้นฟูที่บ้านหลังจากนั้น

บริการแพทย์ฉุกเฉินก็สามารถทำนอกโรงพยาบาลเช่นกัน โดยเมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลกลางออสเตรเลียประกาศว่าจะลงทุนเพิ่มศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินให้กระจายตัวในหลายพื้นที่ “เบรดอน” เสนอว่ารัฐบาลสามารถผันเงินสนับสนุนโรงพยาบาลบางส่วน มาอุดหนุนศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล

แนวทางลดจำนวนคนมาโรงพยาบาลที่ท้าทายที่สุด คือ การทำให้พวกเขามีสุขภาพดี วิธีการหนึ่งคืออุดหนุนคลินิกแพทย์ครอบครัวที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชน

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสามารถมีบทบาทในการยกระดับบริการปฐมภูมิได้เช่นกัน ด้วยการทำงานร่วมกับแพทย์ครอบครัว และให้คำแนะนำผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดก่อนที่อาการจะย่ำแย่

แน่นอนว่านี่อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพในทันที แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล และลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์

3

เบรดอนสรุปในตอนท้ายว่า การเพิ่มอัตราส่วนเงินอุดหนุนโรงพยาบาลรัฐ เป็นเพียงหนึ่งในจิ๊กซอร์ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสุขภาพที่เกิดผล

ยังมีปัญหาอีกหลายข้อที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มคนจน และผู้ป่วยที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลอย่างกลุ่มชนเผ่าอะบอริจิน รัฐบาลจึงต้องแน่ใจว่า เงินอุดหนุนจะไปถึงกลุ่มประชากรเปราะบางเหล่านี้

ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องเน้นในการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยต้องมีการทำแผนบริหารจัดการบุคลากร รวมถึงการอบรมเพิ่มศักยภาพบุคลากรเพื่อรับมือความไม่แน่นอนในอนาคต

เบรดอนเสนอว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการรักษา คือการประเมินผลลัพธ์การปฏิรูป และทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของระบบสุขภาพ

ที่ผ่านมา ข้อถกเถียงของนักการเมืองมุ่งเน้นไปยังอัตราส่วนการจ่ายเงินอุดหนุนโรงพยาบาล แต่มองข้ามการออกแบบแผนปฏิรูประบบสุขภาพระยะยาว ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่: https://theconversation.com/hospital-funding-deal-sets-a-tight-deadline-for-real-reform-and-the-clocks-ticking-185296