ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักโทษนานาประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ทั้งๆที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศ สะท้อนระบบไม่ถ้วนหน้าจริง นักวิจัยเสนอนำสุขภาพนักโทษ รวมเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดประเมินระบบสุขภาพในภาพรวม

ความครอบคลุมของบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 100

ซึ่งในปี 2562 “ออสเตรเลีย” มีคะแนนนำด้านนี้ อยู่ที่ 87 คะแนน ตามด้วย “นอร์เวย์’ และ “สิงคโปร์” ซึ่งได้ 86 คะแนน ส่วน “ประเทศไทย” และ “สหรัฐอเมริกา” ได้ 83 คะแนน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจากนักวิจัยชาวอเมริกันและออสเตรเลียเรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการจำคุก (Universal health coverage and incarceration)” ตีพิมพ์ในวารสารเดอะแลนซิต (The Lancet) เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ชี้ว่าคะแนนนี้อาจมากกว่าความเป็นจริง เพราะไม่ได้นับรวมการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มนักโทษ และเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ

ในปัจจุบัน มีนักโทษมากกว่า 11 ล้านคนในโลก และมีเยาวชนอย่างน้อย 4.1 แสนคน ในสถานพินิจแต่ละปี ซึ่งจากกรณีศึกษาในหลายประเทศ เมื่อคนกลายเป็นนักโทษแล้ว มักจะไม่มีประกันสุขภาพของรัฐตามไปดูแล

ในกรณีของออสเตรเลีย มีนักโทษประมาณ 42,970 คน และเยาวชนอายุ 10-17 ปี ประมาณ 800 คนในสถานพินิจ

รายงานสุขภาพนักโทษ เผยแพร่โดยสถาบันสุขภาพและสวัสดิการออสเตรเลีย (Australian Institute of Health and Welfare) ระบุว่า 40% ของนักโทษมีปัญหาสุขภาพจิต, 2 ใน 3 ใช้ยาเสพติดในช่วงหนึ่งปีก่อนการรับโทษ, 1 ใน 3 มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หอบหืด และมะเร็ง, 1 ใน 5 มีไวรัสตับอักเสบบี

แม้จะมีปัญหาสุขภาพ นักโทษมีสิทธิพบพยาบาลเพียงอาทิตย์ละครั้ง ไม่สามารถเข้าถึงบริการแพทย์เฉพาะทาง และโดนตัดสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาลออสเตรเลีย หรือที่เรียกกันว่า “เมดิแคร์”

“องค์การอนามัยโลกให้นิยามประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าปัจเจกบุคคลทุกคนต้องเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขทางการเงิน” ศาตราจารย์สจ๊วต คินเนอร์ (Stuart Kinner) แห่งมหาวิทยาลัยเคอร์ตินออสเตรเลีย และหนึ่งในทีมนักวิจัย ให้สัมภาษณ์กับคอสโมแมกกาซีน

“แม้ออสเตรเลียจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในความจริงระบบกลับไม่ถ้วนหน้าจริง เพราะมันไม่นับรวมกลุ่มคนเปราะบางอย่างนักโทษและเยาวชนที่กระทำความผิด”

การตัดสิทธินักโทษจากระบบประกันสุขภาพ ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของนักโทษตกไปอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีงบประมาณจำกัด เพราะมีภาระงานนอกเหนือจากเรื่องสุขภาพของนักโทษ

นอกจากนี้ ยังยากแก่การตรวจสอบความโปร่งใสและคุณภาพการให้บริการ เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ดูแลเรือนจำรายงานสถานการณ์สุขภาพของนักโทษ

งานวิจัยระบุว่า ในภาพรวมทั่วโลก การลงทุนด้านสุขภาพกับนักโทษถือว่าต่ำมาก นักโทษหลายคนได้รับการปล่อยตัวพร้อมกับปัญหาสุขภาพ โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเรือนจำมาสู่ชีวิตปกติ มักไม่ได้รับการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง

นั่นจึงทำให้อัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยของนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัว สูงกว่าคนปกติ และมีอัตราการเข้าใช้บริการแพทย์ฉุกเฉินสูงกว่า ทั้งยังมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่าคนปกติ โรคติดเชื้อที่พบหลักๆ ได้แก่ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ เอชไอวี

ในขณะที่โรคโควิด19 ระบาด เรือนจำกลายเป็นสถานที่ที่มีการแพร่เชื้อสูงกว่าโลกภายนอก ทั้งยังความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตจากโรคสูงอีกด้วย เพราะนักโทษเข้าไม่ถึงการตรวจและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาด้านระบบข้อมูล ระบบบันทึกประวัติสุขภาพของนักโทษในเรือนจำหลายประเทศ รวมถึงในประเทศที่มีรายได้สูง ยังคงใช้ระบบจดลงในกระดาษ ไม่มีการส่งต่อสู่สถานพยาบาล

นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ข้อมูลด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างหาได้ยาก และสูญหายไปจากการประเมินผล ทั้งๆที่เป็นกลุ่มประชากรเปราะบางที่มีความเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพสูง ข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานยืนยันว่า กลุ่มคนนี้ถูกขีดออกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

งานวิจัยเสนอว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องครอบคลุมนักโทษ เพื่อให้นักโทษมีสุขภาพดี พร้อมออกมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเมื่อได้รับการปล่อยตัว

การเข้าถึงระบบสุขภาพยังเป็นผลดีต่อระบบยุติธรรม ในกรณีของนอร์เวย์ นักโทษยังคงได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลภายนอกเรือนจำ หากมีความจำเป็น

การมีคุณภาพชีวิตที่ดี อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการทำผิดซ้ำของนักโทษในนอร์เวย์ อยู่ที่เพียง 20% ถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดในโลก สอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพดีกับแนวโน้มการทำผิดซ้ำที่ลดลง

ทีมนักวิจัยจึงมีข้อเสนอไปยังองค์การอนามัยโลก ให้รวมการประเมินผลการเข้าถึงบริการสุขภาพของนักโทษ เข้าไปในตัวชี้วัดความก้าวหน้าของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย มิเช่นนั้น การประเมินผลจะไม่สะท้อนภาพรวมสุขภาพของประชากรที่แท้จริง ทั้งยังเปิดช่องให้ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพคงอยู่ต่อไป ทำให้โลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนได้

อ่านงานศึกษา Universal health coverage and incarceration ฉบับเต็มที่: https://www.thelancet.com/journals/lanpub/article/PIIS2468-2667(22)00113-X/fulltext

อ่านบทความจากคอสโมแมกกาซีนที่: https://cosmosmagazine.com/people/prison-universal-healthcare/