ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านน่าจะเคยได้ยิน ได้เห็น หรือได้ฟังข่าวเหตุชุลมุนวุ่นวายที่เกิดภายในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะวุ่นวายกับคู่อริ หรือวุ่นวายกับบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม และแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

นั่นทำให้โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลศูนย์ขนาด 1,100 เตียง ในฐานะผู้ (เคย) ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ดังกล่าวตัดสินใจประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จัดตั้ง “สถานีตำรวจชุมชนในโรงพยาบาล” เป็นแห่งแรกของประเทศ

พร้อมกันนั้นโรงพยาบาลอุดรธานียังได้พัฒนาห้องฉุกเฉินคุณภาพ “Smart Emergency Room” หนึ่งในนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เป็น 1 ใน 21 โรงพยาบาลศูนย์นำร่องพัฒนาห้องฉุกเฉินคุณภาพอีกด้วย

“The Coverage” จึงไม่รอช้าที่ต่อสายตรงถึง พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี และได้รับเกียรติพูดคุยถึงการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยภายในห้องฉุกเฉินควบคู่ไปกับดูแลความปลอดภัยของทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลอีกด้วย

พญ.ฤทัย อธิบายให้เราฟังว่า เวลาที่ผู้ให้บริการกำลังให้การรักษา บางครั้งก็อาจจะทำให้หลงลืมสภาพแวดล้อมรอบที่อาจจะมีการบุก หรือเกิดเหตุการณ์ชุลมุนทำร้ายคู่อริในห้องฉุกเฉิน ซึ่งถ้าดูข้อมูลย้อนกลับไปช่วง 3 เดือนก่อนจัดตั้งสถานีตำรวจในโรงพยาบาลพบว่า โรงพยาบาลอุดรธานีมีเหตุขัดแย้งหน้าห้องฉุกเฉินประมาณ 3 ครั้ง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี ในขณะนั้นประสานงานกับสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานีถึงเรื่องความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถานีตำรวจชุมชนในโรงพยาบาล และเกิดการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จนเกิดการจัดตั้งสถานีตำรวจชุมชนในโรงพยาบาลอุดรธานีเมื่อปี 2562

สำหรับการจัดตั้งสถานีตำรวจชุมชนนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจเยี่ยมวันละ 3 ครั้ง พร้อมกับจัดอุปกรณ์ไว้เพื่อระงับเหตุ และยังช่วยฝึกอบรมการเผชิญเหตุชุลมุนให้แก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งประตูนิรภัยเอาไว้ถึง 3 ชั้น แน่นอนว่าหากไม่มีการเปิดจากข้างใน บุคคลภายนอกก็จะไม่สามารถเข้าไปได้

หากในพื้นที่มีการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ หรือกิจกรรมที่ดูมีโอกาสเกิดเหตุขึ้น ทางโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเตรียมตัวตั้งรับให้พร้อมเผื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

“ถ้ามีอีเว้นท์ เช่น หมอลำ จะเกิดเหตุได้ง่ายมาก และเป็นธรรมชาติของชาวบ้านละแวกนี้เมื่อมีอีเว้นท์ก็จะมีสุราด้วย เราก็จะเตรียมพร้อมว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะมีการระดมกำลังมาเพื่อเฝ้าระวังด้วย”

พญ.ฤทัย เล่าให้ฟังอีกว่า ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และสถานีตำรวจเองก็ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุเจ้าหน้าที่จะสามารถมาได้ทันที มากไปกว่านั้นโรงพยาบาลก็จะมีช่องทางการสำหรับวิทยุสื่อสารอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่มีการพูดคุยหรือส่งข้อมูลกัน ซึ่งโรงพยาบาลเองก็จะรับทราบข้อมูลในระดับหนึ่งด้วย

“ส่วนตัวเองก็ยังเห็นตำรวจเข้ามานั่งประจำอยู่ในสถานีตำรวจชุมชนโรงพยาบาล นอกจากมาเยี่ยมแล้วก็จะมานั่งประจำอยู่ที่นี่ ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เราอุ่นใจ”

ทว่านอกเหนือจากการจัดตั้งสถานีตำรวจชุมชนในโรงพยาบาลแล้ว ที่นี่ยังมีการพัฒนา ห้องฉุกเฉินคุณภาพ เป็น 1 ใน 21 โรงพยาบาลศูนย์นำร่องที่มีการพัฒนาในเรื่องนี้ตามที่ได้กล่าวในเบื้องต้นอีกด้วย

พญ.ฤทัย อธิบายว่า การพัฒนาห้องฉุกเฉินเป็นนโยบายของ สธ. ที่จะเป็นเรื่องความปลอดภัยของผู้ที่เข้ามารับบริการทั้งเชิงรุกและตั้งรับ และเน้นการเข้าถึงบริการที่สะดวกและรวดเร็วเป็นไปตามมาตรฐานที่ทุกโรงพยาบาลจะต้องทำ

ขณะเดียวกัน หากเป็นเรื่องมาตรฐานการรักษาโรงพยาบาลอุดรธานีนั้นให้ความสำคัญมาโดยตลอด แต่ในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างให้โดดออกมาอย่างเด่นชัดและเป็นมาตรฐานนั้นจะอยู่ในช่วงของ นพ.ณรงค์ เมื่อปี 2562 ที่มีหัวใจสำคัญคือความปลอดภัยของผู้รับและผู้ให้บริการ

การเตรียมตัวเป็น Smart ER นั้น พญ.ฤทัย เล่าว่า ต้องปรับกรอบความคิด (Mildset) ของเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องรู้ว่าถ้าเปลี่ยนแล้วต้องลดความซ้ำซ้อนของระบบเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมคุณภาพ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องรู้ด้วยว่าคุณภาพนั้นคือการที่ผู้ป่วยต้องได้พบแพทย์ ได้รับการประเมินที่ได้รับการรักษารวดเร็วปลอดภัยที่สุด และต้องไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน

ระบบคัดแยกผู้ป่วยผ่านช่องทางด่วน (Fast Track) ที่โรงพยาบาลได้ดำเนินการไปก่อนหน้าก็ถือว่าช่องทางที่ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการอย่างรวดเร็ว และมากไปกว่านั้นบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ก็สามารถจัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วยได้รวดเร็วและง่ายขึ้นอีกด้วย

ภายในระบบ Fast Track จะมีการแบ่งเป็นโซนสีซึ่งสีที่มีระดับความรุนแรงสำหรับห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลอุดรธานีนั้นจะแบ่งเป็น สีแดง สีชมพู และสีเหลือง ที่เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว

“ถ้าเป็นสีแดงจะด่วนที่สุด คือไม่มีเวลารอ ต้องรีบให้การรักษาเร็วที่สุด เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ หัวใจขาดเลือด กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่ม fast tack”

สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ได้ฉุกเฉินจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีขาว ซึ่งก็จะมีทางเลือกเป็นคลินิกนอกเวลาให้ ซึ่งส่วนนี้โรงพยาบาลก็มีการประเมินในแต่ละวันและก็พบว่าจากผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการห้องฉุกเฉินประมาณ 200 ราย จะมีกลุ่มที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วประมาณ 80% ของผู้ใช้บริการห้องฉุกเฉินทั้งหมด

ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงกำลังของบุคลากรทางแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย พญ.ฤทัย บอกว่า ที่โรงพยาบาลอุดรธานีมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฉุกเฉินวิกฤต 9 คน และยังมีแพทย์จากแผนกอื่นๆ รวมไปถึงแพทย์เพิ่มพูนทักษะมาช่วยหมุนเวียน ฉะนั้นจะมีแพทย์ที่คอยดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง

แค่นั้นยังไม่พอเพราะภายในห้องฉุกเฉินยังสามารถเดินทะลุไปยังวอร์ดที่เรียกว่า “Emergency and Accident” ที่สามารถแอดมิทผู้ป่วยในกรณีที่ไม่มั่นใจให้ได้นอน 24 ชั่วโมงอีกด้วย

มากไปกว่านั้นที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอุดรธานียังมีการให้บริการแบบ Smart technology ซึ่งจะเป็นบริการ One Stop Service  คือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการส่งข้อมูลทั้งหมด ฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะไม่ต้องมานั่งเขียนกระดาษ เพราะข้อมูลชุดเดียวสามารถส่งต่อกันได้ทั้งหมด

“นอกจากนี้เราจะมีจอเพื่อให้ญาติสามารถดูได้ว่าการรักษาอยู่ในขั้นตอนไหน และสถานะเป็นอย่างไร โดยจะปรากฏเป็นชื่อและตัวย่อของนามสกุล เพื่อลดความกังวลของญาติ ซึ่งญาติก็จะได้รู้ว่าผู้ป่วยกำลังรอผลแล็บหรือรอเอกซเรย์ เพราะเราเชื่อมโยงข้อมูลหมด”

ขณะเดียวกันแม้จะมีการพัฒนาแต่ก็ยังมีปัญหาที่ทำให้ต้องมีการระดมความคิด เช่น เมื่อต้องมีการส่งต่อผู้ป่วยเข้ามาที่ห้องฉุกเฉิน จะต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการเท่าไร่จึงจะสามารถทำได้ทันท่วงที หรือหากเป็นผู้ป่วยจิตเวชจะมีการคัดกรองภาวะฉุกเฉินอย่างไร เพราะผู้ป่วยจิตเวชเองก็จะมีภาวะฉุกเฉินของเขาด้วย ซึ่งก็มีการประชุมกันทุกวันเวลา 8:30 น. เพื่อนำเหตุการณ์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมาทบทวน และพูดคุยกันถึงแนวทางการพัฒนาระบบในเชิงป้องกัน รวมไปถึงให้เจ้าหน้าที่ตระหนักรู้ว่าควรจะต้องระวังในเรื่องใดบ้าง

“การทำงานสาธารณสุขไม่มีอะไรหยุดนิ่ง ทุกหน่วยงานต้องนำบทเรียนในแต่ละวันมาพัฒนาต่อเนื่องวางระบบเชิงป้องกันหมด”