ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานสถิติสุขภาพโลกของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า โลกมีความก้าวหน้าด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ และโรคระบาดโควิดยังรั้งความก้าวหน้านี้ ด้วยการทำให้บริการสุขภาพหยุดชะงัก

WHO เผยแพร่รายงานสถิติสุขภาพโลกประจำปี 2565 เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเผยให้เห็นผลกระทบของโรคระบาดโควิดต่อความก้าวหน้าด้านสุขภาพและสาธารณสุขในหลายด้าน และอาจส่งผลต่อจำนวนอายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกอีกด้วย

ความก้าวหน้าด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหัวข้อหนึ่งในรายงานที่แม้จะแสดงให้เห็นสถานการณ์เข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีผู้ป่วยที่ต้องจ่ายค่าบริการสุขภาพด้วยตัวเองอีกจำนวนมาก

ในระหว่างปี 2543-2560 พบว่าอัตราส่วนผู้ป่วยที่จ่ายค่าบริการสุขภาพเป็นอัตราส่วนมากกว่า 10% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน เพิ่มขึ้นจาก 9.4% เป็น 13.2%

ในส่วนของงานปฐมภูมิ พบว่าหลายประเทศต้องหยุดให้บริการปฐมภูมิในช่วงโควิดระบาด ทำให้ 56% ของบริการสุขภาพ 28 ประเภทไม่สามารถเดินหน้าต่อในช่วงไตรมาศที่ 3 ของปี 2563 และ 44% ของบริการนี้ยังคงหยุดให้บริการในปลายปี 2564

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพปฐมภูมิคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งโลกในปี 2562 หรือประมาณ 3.1% ของจีดีพี

แม้ว่าประเทศรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายสุขภาพปฐมภูมิต่อหัวประชากรสูง ประเทศรายได้น้อยและปานกลางกลับมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายสุขภาพปฐมภูมิต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งหมดสูงกว่า โดยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายนี้มาจากภาคเอกชน ส่วนมากเกี่ยวข้องกับโรคติดต่อเป็นหลัก

ในด้านบริการสุขภาพแม่และเด็ก พบว่า 77% ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์เข้าถึงยาคุมกำเนิดในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 74% ในปี 2543 ประเทศในแอฟริกามีความก้าวหน้าในด้านนี้มากที่สุด

ระหว่างปี 2558-2564 การคลอดมากกว่า 84% กระทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะ เพิ่มขึ้นมามากกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปี 2544-2550 แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแอฟริกา ที่ยังมีอัตราการทำคลอดโดยไม่ปลอดภัยมากกว่าประเทศอื่น ผลกระทบจากโควิดอาจทำให้บริการสุขภาพแม่และเด็กถอยหลัง

ในด้านโรคติดต่อ ประมาณ 84% ของผู้ติดเชื้อไอชไอวีรู้ว่าตนเองติดเชื้อ 87% เข้าถึงยาต้านไวรัส 90% ของผู้รับยาสามารถใช้ชีวิตตามปกติ แต่โรคระบาดโควิดทำให้การเข้าถึงการตรวจเอชไอวีลดลง

เช่นเดียวกับผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งเข้าถึงการตรวจและยารักษาน้อยลงในช่วงโรคระบาด ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากวัณโรคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี มีรายงานว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยวัณโรคไม่สามารถเข้าถึงการรักษาในปี 2563

ในด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเข้าถึงการตรวจและการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ครึ่งของผู้มีโรคความดันยังไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรค มีเพียง 1 ใน 5 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ได้รับการรักษา

ในช่วงโรคระบาด 1 ใน 5 ของประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องหยุดให้บริการผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 58% ของประเทศกลุ่มนี้ไม่สามารถให้บริการรักษาโรคความดัน 59% และ 62% มีปัญหาให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งและเบาหวาน ตามลำดับ

ในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คิดเป็น 9.8% ของจีดีพีในปี 2562 ประมาณ 80% ของค่าใช้จ่ายนี้เกิดในประเทศรายได้สูง ส่วนมากเป็นค่าใช้จ่ายมาจากรัฐบาล ส่วนประเทศรายได้น้อยนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนมากมาจากผู้ป่วย คิดเป็น 44% ของค่าใช้จ่ายสุขภาพทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังพบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรัฐบาลค่อนข้างตรึงตัวในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง อยู่ที่ประมาณ 7% ของรายจ่ายรัฐบาล แม้จะไม่มีข้อมูลว่าโรคระบาดโควิดกระทบกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากน้อยเพียงไร แต่เชื่อได้ว่าน่าจะมีผลต่อการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐบาลในหลายประเทศ

ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศอยู่มาก เช่นในกรณีของจำนวนเตียงในกลุ่มประเทศแอฟริกา อาเซียน และอเมริกา มีความหนาแน่นของเตียงต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะที่จำนวนเตียงในยุโรปและกลุ่มประเทศแปซิฟิกมีจำนวนเตียงสูงกว่ามาตรฐาน 4 เท่า

โรคระบาดทำให้เห็นว่าต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข รวมทั้งจำนวนเตียง เครื่องมือ และบุคลากรทางการแพทย์

ในด้านบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าหลายประเทศมีปัญหาขาดบุคลากรตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่าระบบสุขภาพทั่วโลกขาดบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 18 ล้านอัตรา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแอฟริกาและอาเซียน

กลุ่มประเทศแอฟริกาแบก 24% ของภาระโรค แต่กลับมีบุคลการทางการแพทย์เพียง 3%ของที่มีทั้งโลก ขณะที่อเมริกาและประเทศในยุโรปมีบุคลากรหนาแน่นมากที่สุด อยู่ที่ 80 คน ต่อประชากร 1 หมื่นคน มากกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน

แม้ว่าปัญหาขาดแคลนแพทย์จะดีขึ้นจากแต่ก่อน แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์จำนวนของแพทย์ในกลุ่มประเทศยุโรปอยู่ที่ 37 คนต่อประชากร 1 หมื่คน ในระหว่างปี 2557-2563

ขณะที่กลุ่มประเทศแอฟริการมีอัตราส่วนแพทย์อยู่ที่ 3 คนต่อประชากร 1 หมื่นคนเท่านั้น อัตราส่วนของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 8 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน

ในด้านยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ยังมีประชากรมากกว่า 2,000 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงยาที่จำเป็น ผลการสำรวจใน 25 ประเทศ พบว่า 28% ไม่มีสถานที่ที่ให้ยาขั้นพื้นฐาน

อ่านรายงาน World Health Statistic 2565 ฉบับเต็มได้ที่
https://cdn.who.int/media/docs/default-source/gho-documents/world-health-statistic-reports/worldhealthstatistics_2022.pdf?sfvrsn=6fbb4d17_3