ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม” ธุรกิจเพื่อสังคมแห่งเดียวในประเทศไทยที่มุ่งขยายความเข้าใจและขับเคลื่อนเรื่อง “ตายดี” ผ่านการดูแลแบบประคับประคอง (Paliative care)

วัตถุประสงค์หลักของ “เยือนเย็น” คือการให้คำปรึกษากับผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ บำบัดความเจ็บปวดและอาการรบกวน รวมถึงให้พลังและความมั่นใจแก่ครอบครัวและผู้ป่วย ทั้งในด้านกาย จิตสังคม และจิตวิญญาณ

ทำไมการตายดีจึงกลายมาเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้ ?

อะไรที่ทำให้ธุรกิจนี้ยั่งยืน ?

ผลการดำเนินการจนถึงขณะนี้เป็นอย่างไร ?

เหล่านี้คือคำถามที่ “The Coverage” สนใจ และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านพบกับ ศาตราจารย์ ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในเด็ก ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ “ผู้อำนวยการเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม” ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจด้วยตัวเอง

1

องค์กรต้องอยู่รอดและต้องทำเพื่อสังคมได้

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อิศรางค์ เล่าว่า เยือนเย็น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดยทำหน้าที่ดูแลแบบประคับประคอง หรือชีวาภิบาล ที่บ้าน ให้กับผู้ป่วยทั้งโรคมะเร็งและกลุ่มผู้สูงอายุ โดยดำเนินธุรกิจแบบ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) กล่าวคือกำไรที่ได้มาจะไม่เข้ากระเป๋าใคร แต่จะใช้เพื่อดำเนินธุรกิจต่อเพียงอย่างเดียว

“ที่ตั้งเป็นองค์กรขึ้นมา เพราะว่าถ้าทำฟรี งานนี้จะตายไปพร้อมกันเรา มันจะขยายต่อไปไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ผู้คนก็ยินดีจะสนับสนุนอยู่แล้วเพราะมัน save cost เขา ไม่ต้องเดินทาง หรือค่ารักษาอะไรก็ตามที่เขาไม่ได้อยากได้ตั้งแต่แรก”

ดังนั้น เมื่อเป็น วิสาหกิจเพื่อสังคม จึงไม่ได้ให้บริการฟรี แต่ต้องเป็นธุรกิจที่อยู่รอดและทำเพื่อสังคมได้ ซึ่งหมายถึงให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองที่บ้านได้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการรับบริการต้องไม่ใช่เหตุผลสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลแบบนี้ต้องใช้เท่าไหร่ไม่มีใครรู้ เพราะแต่ละคนมีสัดส่วนการใช้ยาหรือเครื่องมือในการรักษาต่างกันไป

ดังนั้นรายได้หลักขององค์กรจึงมาจากการสนับสนุนจากคนที่มาใช้บริการ ซึ่งเมื่อมีการประเมินจากข้อมูลว่าต้องมีรายได้ในแต่ละครั้งหรือหากต้องการสนับสนุนจะอยู่ที่ 5,000 บาทต่อครั้ง เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่องค์กรจะสามารถดำเนินต่อไปได้

“ในความเป็นจริงคือคุณจะให้เราเท่าไหร่ก็ได้ หรือไม่มีเงินเลยให้ทำฟรีก็ได้เหมือนกัน หรือให้มากกว่านี้ก็ได้ เพราะเราก็เอาไปช่วยคนอื่นต่อ ไปๆ มาๆ จึงไม่ใช่ค่าบริการแต่เป็น Donation แล้วแต่คุณจะ Donate ซึ่งผมคิดว่า healthcare ก็ควรเป็นแบบนี้ถูกไหม เหมือนกับ free healthcare แต่คุณ support ระบบด้วยวิธีนี้”

ทั้งนี้ เยือนเย็น มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเพียง 3 คน โดย 2 คนจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเดินทาง นัดหมาย รับโทรศัพท์ บริหารจัดการเพื่อให้เป็นองค์กร ซึ่งใช้การรับสมัครบุคคลทั่วไปไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นงานประเภทการประสานงานเป็นหลัก

ส่วนงานของตนหลังจากพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในขั้นแรกแล้ว จะใช้วิธีพบแพทย์ทางไกลเป็นหลัก (Telemedicine) ในการสื่อสารให้คำปรึกษากับผู้ป่วย ส่วนเรื่องยาจะมีการแนะนำยาต่างๆ ที่ต้องใช้ในการรักษาให้ โดยสามารถหาซื้อเองได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน หรือเบิกจากระบบหลักประกันสุขภาพก็ได้ หรือหากไม่สามารถหาได้ ทางเยือนเย็นจะหาวิธีจัดหามาให้

2

อุดช่องว่างที่โรงพยาบาลในระบบทำไม่ได้

กระบวนการดูแลแบบประคับประคองที่เยือนเย็นทำแตกต่างจากโรงพยาบาล ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อิศรางค์ อธิบายว่า โรงพยาบาลมีกฎระเบียบเยอะ เช่น ถูกบังคับโดยมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA) ที่กำกับไว้ว่าเพื่อความปลอดภัยต้องรักษาตามขั้นตอน ไม่ทำไม่ได้ แต่ถ้าจะเอาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวตั้งต้องไม่ทำการรักษาตามขั้นตอนทั้งหมด อีกทั้งเรื่องเวลาก็ต้องทำงานภายใต้กรอบเวลาราชการเท่านั้น ซึ่งทำให้การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยได้ไม่ต่อเนื่อง หรือเกิด Communication fail อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ถ้าคุณเป็นโรคมะเร็งต้องเจอแพทย์ 3 คน คือ แพทย์ผ่าตัด แพทย์อองโค และแพทย์ฉายแสง ซึ่งเขาก็จะตรวจและเสนอการรักษาให้ แต่ไม่มีใครดูภาพรวมของชีวิต รวมถึงไม่ได้คุยกับทุกคนไม่ว่าญาติหรือผู้ป่วย จนในที่สุดอาจะทำให้การตัดสินใจไม่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยจริงๆ

รวมไปถึง โรงพยาบาลมีแพทย์หลายส่วนมาเกี่ยวข้องเยอะ มีแพทย์ดูแลเฉพาะทาง 5 แผน เช่น  โรคไต โรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งแพทย์แต่ละคนก็ไม่กล้าตัดสินใจแทนกัน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายและงานที่ไม่จำเป็น

“ถ้ามีคนคุยภาพรวมให้คนไข้ว่าเขาตายได้ ไม่จำเป็นต้องยื้อชีวิต เขาก็จะตัดสินใจได้ว่าควรจะเลือกอย่างไร ซึ่งคนไข้ที่เราพูดถึงบางรายเขาเลือกแล้วว่า เขาโอเค ตายไม่กลัว กลัวทรมาน”

ดังนั้นถึงแม้โรงพยาบาลจะมีบริการดูแลแบบประคับคองแต่ก็อาจไม่ตอบโจทย์และไม่มีประสิทธิภาพมากพอ หรืออาจจะทำได้สำเร็จแต่ค่อนข้างช้า เพราะว่าระบบกลไกการทำงานของโรงพยาบาลเอง

อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิเลือก ถ้าหากต้องการรักษาต่อก็เข้ารับบริการกับโรงพยาบาล แต่ถ้าคนไหนไม่อยากรักษาหรือกระบวนการรักษายาก ไม่ควรต้องรักษา ก็ต้องมีทางเลือกให้เขา เยือนเย็นเพียงแต่ทำหน้าที่โน้มน้าวจิตใจญาติให้เคารพการตัดสินใจของผู้ป่วยเท่านั้นเอง ไม่ใช่ให้ญาติเป็นคนตัดสินใจแทน

ระบบสาธารณสุขได้ประโยชน์โดยไม่รู้ตัว

งานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเก็บตัวอย่างกว่า 133,744 คน รวมถึงอาศัยข้อมูลจากรายงานของ สปสช. ปี 2558 พบว่า ช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนตาย ผู้ป่วยต้องเข้ารับการแอดมิท เฉลี่ย 2.77 (3) ครั้ง และต้องอยู่โรงพยาบาลจำนวน 19.77 (20) วัน สำหรับโรงพยาบาลรัฐมีค่าใช้จ่ายที่เบิกจากระบบอยู่ที่  60,565 บาท และค่าใช้จ่าย 1 เดือนสุดท้าย อยู่ที่ 41,630 บาท ซึ่งในโรงพยาบาลเอกชนจะประมาณ 1 แสนบาท

3

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อิศรางค์ เผยว่า ปัจจุบันเยือนเย็นให้การดูแลแบบประคับประคองมาแล้วกว่า 500 คน ซึ่งทำให้ลดการแอดมิทที่โรงพยาบาล 953 ครั้ง ลดการอยู่โรงพยาบาลไป 6,880 วัน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขไปได้กว่า 17.2 ล้านบาท

“เรา Prove ได้แล้วว่ามันลดทรัพยากรที่ใช้กับระบบสาธารณสุขได้จริง แต่ต้อง base on เขาเลือก”

แท้จริงแล้วเมื่อปี 2563 เคยไปเสนอกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะรู้ว่าเขาสนับสนุนเรื่องการดูแลแบบประคับประคองอยู่ และมีอยู่ในเกณฑ์เบิกจ่ายสำหรับ homecare system ซึ่งทางเยือนเย็นเข้าเกณฑ์ต่างๆ ทั้งหมด แต่เบิกไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นสถานพยาบาล

“ผมคิดว่าตอนออกเกณฑ์นี้ออกมา อาจยังคิดไม่ถึงว่าจะมีธุรกิจรูปแบบนี้เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นองค์กรยุคใหม่อย่างแท้จริง ไม่มีออฟฟิศ เน้นการทำผ่านระบบออนไลน์ แน่นอนว่าเยือนเย็นจะเป็นสถานพยาบาลไม่ได้ เพราะงานเป็นการให้บริการที่บ้านเท่านั้น ซึ่งในอนาคตหวังว่าจะมีกลไกที่มาสนับสนุนตรงนี้ได้”

นอกจากนี้ยังช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustain Development Goals : SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 เรื่องสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages) และเป้าหมายย่อยที่ 3.8 ในการบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนที่จำเป็นปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และราคาที่หาซื้อได้

“ผมคิดว่าเราช่วยให้คนในกรุงเทพและปริมณฑลเข้าถึง Paliative care ได้อย่างรวดเร็ว ตอนนี้พูดได้เลยว่าคนต้องการสิ่งนี้แต่เข้าไม่ถึง เพราะระบบไม่ได้ถูกดีไซน์มารองรับ ไม่มีใครรู้ว่าบ้านไหนต้องการอะไร เพราะฉะนั้นเราก็ตอบโจทย์ในเรื่องนี้” ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อิศรางค์ ระบุ

4