ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คุณจะทำอย่างไร หากคุณถูกแพทย์วินิจฉัยว่า “คุณเป็นมะเร็ง” สำหรับเราแล้วนั้นคงเหมือนวันที่โลกแตกออกเป็นเสี่ยงๆ หรือในช่วงขณะนั้นวิญญาณของเราอาจจะหลุดหรือล้มทั้งยืนไปแล้วก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้นั้นก็เกิดขึ้นกับ นายสมนึก สุวิจิตร และนางพจนีย์ พึ่งวิชัย ผู้ป่วยที่ถูกแพทย์วินิจฉัยว่า “เป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ ระยะที่ 3”

สำหรับจุดเริ่มต้นในการพูดคุยครั้งนี้ เราเจอกันในงาน “Town Hall Meeting: Voices of Thai Cancer Patients เสียงผู้ป่วยมะเร็งเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society) เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา

นายสมนึก หรือพี่สมนึก เล่าว่า ตอนนั้นอาการเริ่มแรกคือมีอาการท้องอืดอยู่ร่วมเดือน หลังจากนั้นก็มีอาการถ่ายไม่ค่อยออก และถ่ายกะปริดกะปรอยอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ซึ่งด้วยความที่ทนไม่ไหวจึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ และสิ่งที่ได้กลับมาก็คือยาระบายที่ทานไปแล้วอาการก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย จนแพทย์ที่รักษาอยู่ตอนนั้นแนะนำให้ไปรักษาตัวต่อที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงพยาบาลราชวิถี

ขณะนั้นก็ถูกส่งไปหาอาจารย์แพทย์เฉพาะทาง และถูกส่งตัวไปส่องกล้องเพื่อหาความผิดปกติ และสุดท้ายก็พบก้อนเนื้อในที่สุด ซึ่งตอนนั้นที่เจอก็ยังไม่รู้ว่าก้อนพบนั้นเป็นเนื้อดีหรือเนื้อร้าย อาจารย์แพทย์จึงทำการส่งเพื่อวินิจฉัยต่อ และหลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ก็ได้รู้ในสิ่งที่ไม่อยากรู้ที่สุดว่า พี่สมนึกป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3

“ตอนที่เรารู้ว่าเราเป็นมะเร็งตอนนั้นเราทำอะไรไม่ถูกเลย แล้วก็ไม่รู้จะปรึกษาใครนอกจากหมอ แล้วก็คิดไปต่างๆ นานาว่าทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้นกับเรา” พี่สมนึก เล่า

เมื่อดึงสติกลับมาได้ สิ่งที่พี่สมนึกทำนั่นคือวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ แต่ว่าก็มีปัญหาตรงนี้ด้วยความที่รักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ ฉะนั้นจึงทำให้รอคิวการรักษานาน บวกกับในช่วงนั้นเริ่มปวดท้องจนทนไม่ไหว จนมาทราบว่าอาจารย์แพทย์คนนี้ก็รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง พี่สมนึกจึงไม่รอช้าที่จะทำการนัดแนะเพื่อเข้ารับการผ่าหน้าท้องเพื่อนำของเสียที่อยู่ข้างในออกมา

ภายหลังจากการผ่าตัดนำของเสียออกแล้ว พี่สมนึกก็กลับมารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง ผ่านการฉายรังสีและการทำคีโมตามแผนการรักษาและทำการผ่านำทวารเทียมมาไว้ตรงหน้าท้อง

“ตอนนั้นผมโดนฉายแสง 25 ครั้ง ทำคีโม 35 เข็ม ตอนนั้นก็ทั้งแพ้ตอนนั้นก็คิดว่าไม่รอด” พี่สมนึกว่า

ทว่าขณะนั้นที่พี่สมนึกอยู่ในระหว่างการรักษาก็ได้พบกับชมรมทวารเทียมที่ประกอบผู้ป่วยมะเร็งชนิดเดียวกัน จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันภายในชมรม ซึ่งการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชมรมนี้ทำให้พี่สมนึกได้รับทั้งประสบการณ์ กำลังใจ และรู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว

สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือพี่สมนึกดึงสติตัวเองกลับมาได้ ไม่เคยถอดใจตลอดการรักษา ทำตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่เคยขาดเวลาแพทย์นัด ไม่เคยไม่ไปฉายแสงหรือทำคีโม และมากไปกว่านั้นพี่สมนึกก็พบกับความโชคดีว่าร่างกายตอบสนองกับการรักษา

จนถึงตอนนี้พี่สมนึกดีขึ้น และยังคงทำงานในชมรมคอยออกให้กำลังใจผู้ป่วยที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันเพราะผู้ป่วยเขาจะฟังผู้ป่วยด้วยกันเองเพราะมีประสบการณ์ร่วมกัน

“การตั้งสติเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก” นี่คือสิ่งที่พี่สมนึกอยากบอกกับผู้ที่เพิ่งรู้ตัวเองว่าเป็นมะเร็ง ซึ่งพี่สมนึกเข้าใจดีเลยว่าครั้งแรกที่ตกเป็นผู้ป่วยมะเร็งรู้สึกอย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือการตั้งสติ และอย่าเชื่อคนที่ไม่ใช่แพทย์ ให้ฟังคำแนะนำจากแพทย์เป็นสิ่งที่ดีที่สุด หลังจากนั้นเมื่อปรับตัวได้ก็ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไรต่อไป

“อย่างในกลุ่มของผมก็มีคนที่หายจากมะเร็งเยอะ แต่บางคนที่ไม่หายเพราะไม่มีสติ ไม่รักษาไม่ทำตามที่หมอแนะนำ ทุกอย่างเลยสะเปะสะปะ สิ่งที่ดีที่สุดคือเชื่อหมอ เชื่อในตัวเอง และมีสติ” พี่สมนึก กล่าว

มากไปกว่านั้นญาติหรือคนรอบข้างอาจจะต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจผู้ป่วยในช่วงแรก เนื่องจากผู้ป่วยอาจจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนไป บางคนก็ไม่รับรู้อะไรแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งสองฝ่ายก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย

เช่นเดียวกันกับ พี่พจนีย์ ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ระยะที่ 3 สำหรับพี่พจนีย์อาการในช่วงแรกคือปวดก้นอยู่เป็นเดือน ซึ่งตอนแรกคิดว่าเป็นริดสีดวงทวารและก็ไม่ยอมไปโรงพยาบาลตามคำที่แฟนแนะนำ เพราะรู้สึกอาย ขณะเดียวกันก็เล่าย้อนไปว่าในสมัยสาวๆ นั้นพี่เคยดูแลตัวเองเลย ไม่ดื่มน้ำ ปล่อยให้ท้องผูก แต่ตอนนั้นไม่ได้สนใจเลย

ตอนที่ตัดสินใจไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน และหลังจากเล่าอาการที่ต้องเผชิญ แพทย์ตัดสินใจขออนุญาตสอดนิ้วเข้าทวาร ผลก็คือพบติ่งเนื้อและกว่าจะทราบว่าติ่งเนื้อคืออะไรก็ใช้เวลาราวๆ 1 อาทิตย์ ซึ่งตอนนั้นพี่พจนีย์ก็ไม่คิดว่าจะเป็นมะเร็ง จนเมื่อผลออกว่าเป็นมะเร็งลำไส้ส่วนปลายในระยะที่ 3 และต้องใส่ทวารเทียม

เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้แล้วคุณอาจจะคิดว่าพี่พจนีย์คงจะทำใจไม่ได้และหลุดลอย คุณคิดผิดถนัด

“พอรู้ว่าเป็นก็ตกใจ น้ำตาไหลบ้าง แต่หลังจากนั้นเราก็คิดว่าเป็นก็เป็น ไม่เป็นไร เราว่าเราใจแข็งนะ” นี่คือสิ่งที่พี่พจนีย์เล่าให้เราฟัง

การค้นหาโรงพยาบาลเพื่อรักษาต่อจึงเป็นสิ่งที่พี่พจนีย์ทำในเวลาถัดมา เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว การจะรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครื่องมือครบนั้นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงทำให้ต้องมองหาโรงพยาบาลของรัฐที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง สุดท้ายหวยก็ออกที่โรงพยาบาลราชวิถี

เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาพี่พจนีย์ต้องฉายแสงถึง 33 ครั้ง และทำคีโมอีก 6 ครั้ง และจะต้องทำทั้ง 2 อย่างนี้พร้อมกัน จนมีบางครั้งก็ต้องหยุดเพราะเกิดผลกระทบต่อร่างกาย ซึ่งก็ทำได้ไม่นาน เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานการรักษาอาจจะไม่ทันการณ์

“ระหว่างนั้นพี่ก็คิดว่าพี่ตกนรก แต่ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับจิตใจจริงๆ ซึ่งตอนนั้นก็คิดว่ากำลังใช้กรรมอยู่” พี่พจนีย์ เล่า

ทว่าการตกนรกของพี่พจนีย์ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะหลังจากทำการรักษาได้ราวๆ 1 ปี ก็มีอาการปวดท้อง และถ่ายไม่ออกทุกร่วมเดือน ซึ่งเมื่อกลับไปพบแพทย์ก็ได้ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อมา จนสุดท้ายก็ต้องสอดสายยางเข้าจมูกเพื่อดูดสิ่งตกค้างออกมาเป็นระยะกว่า 10 วันที่ต้องทำแบบนั้น จนสุดท้ายต้องส่งเข้า CT-Scan และก็พบว่าเป็นอาการพังผืดรัดลำไส้เล็กและผนังหน้าท้องและต้องทำการผ่าตัด ซึ่งเจ็บกว่าผ่าติ่งเนื้อใส่ถุงทวารเทียมเสียอีก

“แต่ความโชคดีของพี่คือมีครอบครัวที่ดี ดูแลเราดี แต่ที่เกรงใจเพราะเขาต้องเสียเวลา เพื่อมาดูเรา เราเลยต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งตรงนี้มันอยู่ที่สภาพจิตใจเราด้วย” พี่พจนีย์เล่าหลังจากผ่านความยากลำบากในการรักษา

ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่จะรับกับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปของตัวเองได้ บางคนก็รับไม่ได้ที่ต้องมีถึงทวารเทียมติดตัว นั่นจึงทำให้พี่พจนีย์ตัดสินใจเข้าชมรมเดียวกันกับพี่สมนึก เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากนี้จากประสบการณ์ตัวเอง ... ผ่านการให้กำลัง

จากการรักษาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงตอนตอนนี้พี่พจนีย์ก็ยังต้องอยู่กับถึงทวารเทียม ซึ่งเธอก็ไม่เคยปิดกั้นตัวเองในการใช้ชีวิต ยังคงออกไปเที่ยวต่างประเทศ หรือไปในที่ที่เธออยากจะไป แน่นอนว่าครอบครัวหรือคนรอบข้างก็มีส่วนที่จะช่วยให้เกิดกำลังใจ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการให้กำลังใจตัวเอง

พี่พจนีย์ทิ้งท้ายสำหรับผู้ป่วยมะเร็งคนอื่นๆ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจ ซึ่งเดี๋ยวนี้การรักษามีความทันสมัย และเครื่องมือก็พร้อมมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือให้ความร่วมมือกับแพทย์ ส่วนคนรอบข้างก็เป็นกำลังใจที่สำคัญอีกหนึ่งส่วน อยากให้คอยซัพพอร์ตผู้ป่วยในวันที่จิตเขาตก หากคอยดูแลกันและกันชีวิตก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ

เพื่อที่วันใดวันหนึ่งที่ย้อนมองกลับมานั้นจะทำให้เห็นว่าเราผ่านจุดนั้นมาได้