ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ใช้เวลาราวๆ 3 ชั่วโมงกว่าจากจังหวัดอุดรธานี ในที่สุดเราก็มาถึงจังหวัดบึงกาฬเป็นที่เรียบร้อย ทว่าการมาในครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อเดินทางไปยังบึงโขงหลง หรือถ้ำนาคา สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังแต่อย่างใด หากแต่เป้าหมายของเราคือ “โรงพยาบาลบุ่งคล้า” อ.บุ่งคล้า ต่างหาก

ความจริงแล้วจุดประสงค์หลักๆ ของการเยือนโรงพยาบาลบุ่งคล้าก็เพื่อมาดูการดำเนินงานทันตกรรมของผู้สูงอายุ อย่างเช่นการใส่ฟันเทียม (ในที่นี้ขออนุญาตเรียกฟันปลอมแทน) สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันทั้งปาก เพื่อให้พวกเขาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เรื่องราวที่น่าสนใจไม่ได้มีแค่นั้น เพราะยังมีเรื่องราวของทันตแพทย์หญิงคนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งจบจากรั้วมหาวิทยาลัยหมาดๆ เข้ามาทำหน้าที่เป็น 1 ใน 2 ทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลบุ่งคล้า คอยดูแลฟันผู้คนทั้งอำเภอ

“The Coverage” ขอพาทุกคนเข้าห้องทำฟัน พูดคุยกับ ทพญ.ไอลดา พานิชย์ หรือ หมอไอซ์ ทันตแพทย์โรงพยาบาลบุ่งคล้า เพื่อท่องโลกหมอฟัน งานชุมชน ปัญหา ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับฟันที่เกิดขึ้นในพื้นที่กัน

ทพญ.ไอลดา เป็นเด็กจากจังหวัดตรัง ไปเรียนที่ภาคเหนือ เธอเป็นบัณฑิตรุ่นสองจากสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อเรียนจบก็จะมีช่วงจับสลากใช้ทุน เธอได้พื้นที่จังหวัดบึงกาฬ และมาลงตัวที่อำเภอบุ่งคล้า ซึ่งอยู่ห่างไกลและมีความ “ขาดแคลนทันตแพทย์” ที่สุด

โรงพยาบาลบุ่งคล้าจึงเป็นที่พึ่งที่ใกล้ที่สุดของชาวบ้านในละแวกนี้ เพราะนอกจากจะอำนวยความสะดวกด้วยการเปิดนอกเวลาราชการแล้ว และยังบริการแทบจะทุกอย่างที่สามารถทำได้ หากไม่ใช่การรักษาเฉพาะทาง

ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2565 หมอไอซ์อยู่ในพื้นที่นี่มา 1 ปีแล้ว เราจึงขออนุญาตเธอให้ฉายภาพ 1 ปีที่อยู่ในพื้นที่ให้ฟัง

แน่นอนว่า เธอก็ยินดี

‘โควิด-ติดหวาน’ สาเหตุที่ทำให้หมอต้องถอนฟัน

“ช่วงแรกไอซ์ถอนฟันวันหนึ่งเป็น 10 เคส” เธอเล่าย้อนไปถึงช่วงแรกที่เธอมาทำงานในพื้นที่ ซึ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 และก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานฟุ้งกระจายมากนัก บวกกับความกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ที่มองโรงพยาบาลเป็นสถานที่เสี่ยง พยายามหลีกเลี่ยงการเข้ามาทำฟัน จนฟันเริ่มผุ ปวด โยก และจบด้วยการถอนทิ้ง

พอสถานการณ์เริ่มดีขึ้นก็มีผู้ป่วยเข้ามาทำฟันมากขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับช่องว่างในฟันที่มีมากขึ้นจากการถอน และสุดท้ายก็เกิดเป็นปัญหาเคี้ยวอาหารไม่ได้ บางคนถึงกับบอกว่าน้ำหนักลงไป 2 กิโลกรัม และท้ายที่สุดก็ต้องขอใส่ฟันปลอม

ทว่าปัญหาเรื่องฟันผุส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมติดหวานด้วยของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งตอนนั้นที่เธอมายังไม่มีโครงการอ่อนหวานที่อำเภอ แน่นอนว่าเมื่อทานหวานมากฟันก็มีโอกาสผุมากเช่นกัน

“แต่เด็กๆ เขาจะมีโครงการเด็กอ่อนหวาน เด็กเล็กๆ ที่อยู่ในศูนย์เขาจะไม่ค่อยฟันผุ แต่เมื่อโตขึ้นมาเป็นเด็กวัยรุ่น บางครั้งไอซ์ต้องถอนฟันเด็กอายุ 14-15 ซึ่งเป็นฟันแท้แล้ว ก็จะรู้สึกเสียดายมาก”

เพราะไม่รู้ว่ามีสิทธิ (ประโยชน์) ใส่ฟันปลอม

ชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าสามารถใส่ฟันปลอมได้โดยไม่ต้องให้ไม่มีฟันทั้งปาก ซึ่งหมอไอซ์เล่าว่า เขาเข้าใจว่าถอนฟันก็คือถอนไปเรื่อยๆ ตอนนั้นบอกผู้ป่วยไปว่าเดี๋ยวถอนเสร็จแล้วมาทำฟันปลอมนะ เขาก็ตอบว่าไม่อยากทำเพราะต้องมาถอนทั้งปากเลย ตอนนี้ยังเคี้ยวได้ ซึ่งแบบนี้เป็นความเข้าใจผิดๆ ของเขา

ความจริงแล้วถ้าฟันหายไปหนึ่งซี่ก็สามารถใส่ฟันปลอมได้แล้วซึ่ งมีอยู่ในสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วย  และสำหรับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ก็เปลี่ยนได้ฟรี 1 ครั้งใน 5 ปี แต่ก็ผู้ป่วยก็อาจจะมีจ่ายเงินเองบ้างในกรณีที่เลือกวัสดุหลายอย่าง เพราะตรงนี้ก็ต้องมีส่วนต่างค่าเล็บ (ห้องปฏิบัติการ) ด้วยเช่นกัน

โชคดีที่ว่าอำเภอบุ่งคล้าเป็นอำเภอเล็กๆ ทำให้ชาวบ้านเขาจะรู้จักกันอยู่แล้ว เมื่อคนหนึ่งได้ความรู้ ชาวบ้านก็จะไปพูดต่อกัน บางครั้งชักชวนมาทำพร้อมกัน 3-4 คนในวันเดียวก็มี

“ถ้าไม่ได้ทำงานด้านนี้ก็ไม่ค่อยมีคนรู้เท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นความรู้ที่อยากโปรโมทให้คนเขารู้บ้างว่าจริงๆ สิทธิบัตรทองสามารถมาใส่ฟันปลอมได้ สิทธิยังครอบคลุมอยู่”

ไม่มีใครอยากเสียฟัน

บางครั้งหมอฟันนั้นรักฟันมากกว่าผู้ป่วยเสียอีก นั่นคือสิ่งที่หมอไอซ์เล่าให้เราฟัง และจะเสียดายมากๆ ที่จะต้องถอนฟันให้ผู้ป่วย ซึ่งเธอก็บอกว่าจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากเสียฟัน เพียงแต่งานทันตกรรมนั้นก็มีทั้งสิทธิที่เบิกได้และไม่ได้ เธอจึงยกตัวอย่างให้ฟังถึงผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีฟันผุช่วงกรามและต้องถอนทั้งที่อายุยังไม่มาก ซึ่งเธอก็ไม่อยากที่จะถอน เพราะหากเขาต้องเสียฟันไปตอนนี้ในอนาคตเขาจะมีปัญหาเรื่องการเคี้ยว

“ไอซ์ก็จะแนะนำให้รักษาฟันเอาไว้ อย่างเช่นการรักษารากฟัน ซึ่งการรักษารากปัญหาหลักก็คือมันเบิกไม่ได้ในทุกสิทธิ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ตามมา และเขาก็บอกว่าหมอถอนไปเถอะ”

นั่นทำให้หมอไอซ์เสียดายเป็นอย่างมาก แต่เธอก็ไม่รู้จะช่วยตรงนี้อย่างไร หากมีสิทธิตรงนี้มากขึ้น ผู้ป่วยก็อยากจะเก็บฟันมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครอยากเสียฟันไป

หมอไอซ์ยังได้สะท้อนอีกว่า สำหรับสิทธิบัตรทองจะฟรีในงาน ขูด อุด ถอน และการใส่ฟันปลอม แต่เรื่องของการรักษารากฟันผู้ป่วยยังต้องจ่ายเงินเองหากจะทำ ซึ่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดนั้นอยู่ในตัวเมือง ซึ่งก็มีเรื่องค่าเดินทางเพิ่มเข้ามา

นอกจากนี้งานทันตกรรมในสิทธิประกันสังคมครอบคลุมปีละ 900 บาท ซึ่งบางครั้งการอุดฟันหนึ่งครั้งก็มีราคาค่อนข้างสูง บางครั้งก็อยู่ที่ครั้งละ 400 บาท นั่นเท่ากับว่าผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคมจะได้อุดฟันปีละ 2 ครั้งก็เต็มอัตราแล้ว

ทำงานไม่ยากถ้าเข้าใจบริบทพื้นที่

หมอไอซ์เล่าว่าจริงๆ แล้วเธอไม่ได้ชอบงานชุมชน ในช่วงแรกที่มาที่นี่ยอมรับว่ามีความกังวล เพราะเธอนั้นมาจากเมืองใหญ่ทางภาคเหนือ และก็กลัวว่าจะอยู่ไม่ไหว แต่สิ่งสำคัญคือเธอเปิดใจ และเข้าใจว่าบริบทชุมชนเป็นแบบไหน ซึ่งเมื่อเธอได้มาอยู่ตรงนี้ ได้ทำงานชุมชนมากขึ้น ออกไปเจอสาเหตุของปัญหา และเสริมความรู้ความเข้าใจให้เขามากขึ้นตรงนี้ก็สามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาได้

เธอมองว่าในแต่ละบริบทพื้นที่มีจุดอ่อน จุดแข็งต่างกันออกไป และในพื้นที่ตรงนี้ก็มีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่

“จริงๆ ไม่มีผู้ป่วยคนไหนที่ดื้อ หรือไม่เชื่อฟังเลย เขาแค่ขาดความเข้าใจก็เท่านั้น อย่างที่นี่ไอซ์รู้สึกว่าชุมชนเขาแข็งแกร่งมาก พี่ทันตาฯ เขาจัดงานประชุมขึ้นมาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็ลงไปช่วยจริงจัง เวลาจะขอความร่วมมือจากหมู่บ้านเพื่อที่จะเข้าไปตรวจ เขาก็มากันแบบพร้อมเพรียง”

ช่วงระหว่างการสัมภาษณ์เสียงของหมอไอซ์เต็มไปด้วยความสดใสและเต็มไปด้วยแพชชัน จนเราเองอดถามไม่ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทันตแพทย์หญิงรายนี้ดูมีพลังเปี่ยมล้นในการทำงานขนาดนี้

เธอเล่าว่าการทำฟันปลอม ทุกๆ เคสเธอจะส่งกระจกให้ผู้ป่วย เพื่อให้เขาได้เห็นตัวเองในตอนนี้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะทำนั้นผู้ป่วยไม่อยากคุยกับเธอเลย เนื่องจากไม่มั่นใจเพราะฟันเขาหายไปหลายซี่

“ไอซ์แค่รู้สึกว่าเวลาเห็นคนไข้มีความสุข เวลาได้ทำอะไรดีๆ ออกไปเป็นเรื่องปกติที่เราจะมีความสุข ซึ่งการทำอะไรดีๆ ก็เป็นการส่งต่อความสุขอย่างหนึ่ง เราได้แก้ปัญหาให้เขา เขามีความสุขและก็กลับมาเราว่า หมอได้ใส่ฟันปลอมแล้วนะ กลับไปคุณตากินข้าวได้เยอะขึ้น น้ำหนักขึ้นมาตั้ง 2 กิโลฯ แล้ว มันแบบมีความสุขกับการที่ได้ทำจริงๆ” ทพญ.ไอลดา ระบุ