ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผย สถานการณ์โควิด 19 อยู่ในช่วงขาลง เตรียมปรับระบบรายงานเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้ แนะไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ยกเว้น 3 กลุ่ม คือ เมื่อมีอาการ ผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยงสูง และผู้อยู่ในสถานที่-กิจกรรมที่รวมตัวคนจำนวนมาก 


นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 เมาอวันที่ 30 พ.ค. 2565 ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมอยู่ในช่วงระยะขาลงทั้งประเทศและดีกว่าสถานการณ์ที่เคยคาดการณ์ไว้ สำหรับผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งครึ่งหนึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงต้องรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตสูงฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นเพื่อลดการเสียชีวิต 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงเตือนภัยโควิด-19 ในระดับ 3 กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่เข้าสถานที่เสี่ยง เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ ในสัปดาห์นี้ผู้เชี่ยวชาญจะมีการหารือเรื่องการพิจารณาการปรับลดระดับการเตือนภัย ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือทุกคนช่วยกันป้องกันไม่ให้กลับมาเกิดการระบาดเป็นวงกว้างอีก โดยสวมหน้ากาก
เว้นระยะห่างและล้างมือเช่นเดิม

"ขณะนี้ประเทศไทยสถานการณ์ลดลงคล้ายกับประเทศอื่นในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศปรับระบบรายงานจากรายวันเป็นรายสัปดาห์ หรือรายงานเฉพาะการเสียชีวิต ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ซึ่งประเทศไทยมีการปรับมาตรการเพื่อผ่อนคลายมากขึ้น จะมีการปรับระบบการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นการรายงานเฉพาะจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังในโรคที่ความรุนแรงลดลงแล้ว" นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้กำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย จึงต้องมีการค้นหาผู้ที่ติดเชื้อด้วยการตรวจ RT-PCR และ Antigen Test Kit (AT) แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มีการปรับการรายงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจะเน้นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ดังนั้น การตรวจ ATK เป็นประจำทุกสัปดาห์จึงไม่จำเป็น โดยจะตรวจเป็นประจำใน 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้ที่มีอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ฯลฯ 2. ผู้ดูแลใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงสูง คือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 3. ผู้อยู่ในสถานที่หรือกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันจำนวนมากและเสี่ยงแพร่ระบาด เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ พนักงานยังต้องตรวจเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด 

ทั้งนี้ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น อาจพบการระบาดหรือการติดเชื้อเป็นวงกว้างได้พอสมควร ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ยังต้องเข้มมาตรการ 2U คือ การป้องกันส่วนบุคคล (Universal Prevention) และการฉีดวัคซีน (Universal Vaccination) เพราะหากติดเชื้ออาจมีอาการหนักได้ ส่วนสถานที่เสี่ยงต้องเข้มมาตรการด้วย เช่น พนักงานผับ บาร์ คาราโอเกะ ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำตามมาตรการ COVID Free Setting ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยง การระบายอากาศ ฯลฯ