ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.จัดวงหารือเตรียมพร้อม “นครราชสีมา” ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. 21 แห่ง สู่ อบจ. 1 ต.ค.นี้ เน้นย้ำต้องไม่มีปัญหา เร่ง “กสพ.” เตรียมแผนงบประมาณให้ทัน หวังโคราชเป็นโมเดลสร้างการเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นการพัฒนา-บริการใหม่ ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ พร้อมหนุนเสริมชุมชนมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ


เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 9 และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ร่วมกันจัดการประชุมประเด็นการเตรียมความพร้อมการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จ.นครราชสีมา เพื่อสร้างความเข้าใจการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองประธาน กขป. เขตพื้นที่ 9 และอดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คำถามสำคัญต่อคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ของ จ.นครราชสีมา ซึ่งรับหน้าที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปสู่ อบจ. ต้องตอบให้ได้ คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนใน 21 ตำบล ได้รับประโยชน์จากการถ่ายโอน รพ.สต. ในครั้งนี้อย่างชัดเจน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ความท้าทายที่ กสพ. มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. ประเด็นเชิงอัตลักษณ์ของ จ.นครราชสีมา จะสามารถเป็นผู้นำในเชิงสาธารณสุข เพื่อพิสูจน์ว่าการถ่ายโอนภารกิจมาอยู่ท้องถิ่นแล้วจะประสบความสบความสำเร็จหรือไม่ 2. การเปลี่ยนหลักการและแนวคิดกระบวนการทำงานเชิงสาธารณสุข จากส่วนกลางโดยราชการส่วนภูมิภาค มาเป็นของท้องถิ่นโดย อบจ. อะไรจะเป็นรูปธรรมของโฉมใหม่และความยั่งยืน 3. การพิสูจน์หลักการเรื่อง รพ.สต. ใกล้บ้านใกล้ใจ ว่าจะสามารถดูแลประชาชนได้ดียิ่งกว่าเดิมหรือไม่

“ภายใต้ความท้าทายเหล่านี้ อีกข้อเท็จจริงที่ กสพ. นครราชสีมา ต้องตระหนักด้วย คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ รพ.สต. 21 แห่งจะถูกถ่ายโอนมาที่ อบจ. แน่นอนแล้ว และไม่มีการปรับลดจำนวนลงจากนี้ จะมีแต่เพิ่มขึ้น กระนั้นในขณะนี้ยังไม่มีเตรียมการสิ่งใดเพื่อรองรับเลย จึงอยากฝากว่า กสพ. ยังพอมีเวลาที่จะตั้งคณะทำงานย่อยไปดำเนินการในเรื่องนี้ โดยนำภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมด้วย ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับปีงบประมาณต่อไปในอนาคต” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอเชิงรูปธรรม 3 เรื่อง ได้แก่ 1. แผนงบประมาณ ทาง กสพ. ต้องรีบดำเนินการให้ รพ.สต. ทั้ง 21 แห่ง ทำแผนงบประมาณเสร็จก่อนกำหนด ไม่เช่นนั้นในปี 2566 อบจ.จะไม่มีงบประมาณในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่วางไว้ในเชิงกายภาพ หรือการบริการ ฯลฯ ที่จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อโอนภารกิจมาอยู่ อบจ. แล้ว มีบริการอะไรที่จะเกิดขึ้นใหม่

2. แผนการเงินการจัดการในเชิงธุรกรรมของระบบ เช่น เงินบำรุงเดิมของสถานีอนามัย เมื่อเปลี่ยนมาอยู่กับ อบจ. ต้องเตรียมไว้ให้พร้อม อย่าให้เป็นภาระจนกลายเป็นปัญหาในภายหลังได้ 3. แผนการรวบรวมปัญหา หรือ Pain point ของชุมชนนั้นๆ ผ่านธรรมนูญสุขภาพ แผนชุมชน ฯลฯ ทั้งในเรื่องโรค พฤติกรรมการใช้บริการ เนื่องจากนโยบายใกล้บ้านใกล้ใจนั้น จะตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง รพ.สต.ทั้ง 21 แห่งที่จะได้รับการถ่ายโอน สามารถทำได้เลยโดยอาศัยกลไกต่างๆ ที่มีอยู่

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทาง สช. และกลไกของ กขป. ในระดับเขต รวมถึงในระดับจังหวัดที่มีสมัชชาสุขภาพ เหล่านี้จะมีบทบาทที่สำคัญต่อการทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ทั้งหมด แต่ประเด็นที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมนี้คงไม่เพียงให้ประชาชนออกมาสะท้อนความต้องการเท่านั้น แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชน รวมไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีศักยภาพในการดูแลตนเอง เพราะการผลิตบุคลากรการแพทย์เพิ่มเพียงใด ก็คงไม่สามารถที่จะเพียงพอต่อการดูแลทั้งหมด

นพ.ปรีดา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงว่าจะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติอย่างเข้าใจ หรือมีความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) ดังนั้นนโยบายด้านสุขภาพจึงเป็นส่วนที่ควรช่วยกันทำเพื่อให้เกิดความชัดเจน อันเป็นการสนับสนุนระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือระบบสุขภาพที่ยั่งยืน จะต้องประกอบไปด้วยการมีส่วนร่วมของทั้ง 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน จึงจะตอบสนองต่อเป้าหมายการถ่ายโอนภารกิจนี้ได้

“เดิม รพ.สต. มีจุดแข็งที่การอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน ส่วนจุดอ่อนคือการพัฒนาและการดูแล ฉะนั้นหลังจากนี้จึงเป็นโอกาสที่จะหาวิถีทางร่วมกัน ในการให้ รพ.สต. พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งมีอยู่หลายแนวทาง เช่น รพ.สต. ต้องเป็นจุดที่สามารถเชื่อมระหว่าง Professional Care โดยผู้ให้บริการสุขภาพ กับ People Care หรือ Community Center โดย อสม. จึงอาจต้องช่วยกันคิดต่อว่าจะทำอย่างไรเพื่อผลักดันรูปแบบหรือประเด็นปัญหาที่สอดคล้องกัน ที่จะทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนมากขึ้น” นพ.ปรีดา กล่าว

ขณะที่ น.ส.ภัชจิรัชม์ ธัชเมฆรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันโรคติดต่อ กองสาธารณสุขท้องถิ่น สถ. กล่าวว่า เมื่อการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.เสร็จสิ้น กสพ.จะมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งคณะกรรมการจัดหาบริการสาธารณสุข เพื่อจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงาน ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการให้บริการ และอีกส่วนหนึ่งจะสามารถจัดตั้งกลุ่มพื้นที่สุขภาพของ อบจ. ได้ โดยจะมีหน้าที่คล้ายกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ซึ่งทางหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัด สธ. ยังสามารถทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้านงานวิชาการมาตรฐานและการให้บริการได้อยู่ ไม่ได้ถูกตัดขาดจากกัน

ด้าน พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ทาง สธ. ยินดีอย่างยิ่งที่จะมีการถ่ายโอน รพ.สต. เพราะทุกอย่างเป็นกฎหมายออกมาแล้ว ขณะนี้จึงเป็นการช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ รวมถึงเรื่องของ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญด้วย อย่างไรก็ตามหากมองในส่วนของคนทำงานในพื้นที่ จะพบว่าความกังวลใจมาจากเรื่องงบประมาณและการบริหารจัดการ รวมถึงตำแหน่งภายหลังการถ่ายโอนด้วย

พญ.อารีย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ รพ.สต.เดิมที่มีอยู่ 182 แห่ง แต่ขณะนี้ทำการถ่ายโอนได้เพียง 21 แห่ง ส่วนนี้จึงถูกจับตาเป็นพิเศษว่าจะสำเร็จได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ และจะทำให้แห่งอื่นๆ ขยับตามได้มากน้อยเพียงใด จึงคิดว่า กสพ. อาจต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบว่าการถ่ายโอนจะเกิดประโยชน์ หรือมีบทบาทให้คนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในด้านสาธารณสุขได้อย่างไร ส่วนในอนาคตที่ สสจ. จะมุ่งเป้าจัดการเรื่องของสุขภาพด้านต่างๆ ก็หวังว่าหากทำงานควบคู่กับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จะทำให้ปัญหาด้านสาธารณสุขของคนโคราชได้รับแก้ไขที่ดีขึ้นได้