ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สุขภาพหนึ่งเดียว” หรือ One Health เป็นแนวคิดอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ หากหนึ่งในองค์ประกอบนี้ป่วย สมาชิกในองค์ประกอบอื่นก็ป่วยตาม

ตัวอย่างเช่นในกรณีของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนอย่างโควิด 19 และโรคที่มียุงและพยาธิเป็นพาหะ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมลพิษทางอากาศ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยน้ำมือมนุษย์ ส่งผลให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมแย่ลง แล้วย้อนกลับมาทำลายสุขภาพมนุษย์

การสร้างสุขภาพหนึ่งเดียวนั้น ต้องอาศัยความรู้และความร่วมมือข้ามหลายศาสตร์วิชา เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสภาวะสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ สุขภาพหนึ่งเดียวยังเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจจากผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้จัดทำโรดแมปขจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ( Neglected Tropical Diseases: NTDs ) ปี 2564-2573 ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานเพื่อขจัดโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยมีการจัดหาทรัพยากรและลงทุนร่วมกัน

โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย คือ กลุ่มโรคที่ส่งผลกระทบต่อประชากรในประเทศกำลังพัฒนา และมักเกี่ยวพันกับข้อจำกัดการใช้ชีวิตภายใต้ความยากจน เช่น กรณีการกินอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จนติดโรคจากแมลงและพยาธิ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว แต่ยังไม่ได้รับความสนใจจากประเทศพัฒนาหรือผู้จัดทำนโยบายมากนัก

สุขภาพหนึ่งเดียว เป็นประเด็นที่พูดถึงในงานเสวนาออนไลน์ขององค์การอนามัยโลกเมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการโรคในประเทศของตน

Onyeka Erobu ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองฟรีทาวน์ สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน เล่าว่าในทุกอำเภอของประเทศตน มีรายงานการแพร่ระบาดของกลุ่มโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยอย่างน้อยสองโรค ถือได้ว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สร้างภาระให้กับประเทศอย่างมาก

ตัวอย่างมีให้เห็นในกรณีของโรคอีโบลา ซึ่งมีแหล่งพาหะจากค้างคาวและลิง ระบาดในเซียร์ราลีโอนระหว่างปี 2557-2559 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลต้องทุ่มทรัพยากร เช่น เงินและบุคลากร เพื่อหยุดยั้งโรคระบาดที่มีควสามรุนแรงในตอนนั้น

อย่างไรก็ดี การระบาดของโรคอีโบลาก็เร่งให้รัฐบาลทำแผนยุทธศาตร์ระดับชาติด้านสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย การดำเนินนโยบายตามแผนนี้ได้ถูกส่งต่อมายังรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งต้องสำรวจสถานการณ์กลุ่มโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และจัดทำแผนระยะยาวเพื่อขจัดโรคให้สิ้นซาก 

ในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเมืองฟรีทาวน์ Erobu ระบุว่าตัวอย่างของการจัดทำแผนป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า นำไปสู่การดูแลสุขภาพสุนัขในเมืองควบคู่กับสุขภาพคน โดยมีการให้ยาถ่ายพยาธิกับสุนัข รักษาโรคผิวหนัง ไปจนถึงการดูแลความสะอาดของพื้นที่ที่สุนัขอาศัย   

Lee Ching Ng ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สถาบันสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งสิงคโปร์ กล่าวในระหว่างการเสวนาออนไลน์ว่า สิงคโปร์ได้ทำนโยบายลดความเสี่ยงโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ โดยเฉพาะไข้เลือดออกและมาลาเรีย ด้วยการส่งเสริมการทำระบบท่อน้ำดื่มแบบปิด และจัดการขยะเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

นอกจากนี้ ภาครัฐยังทำงานร่วมกับเครือข่ายจากหลายภาคส่วน เพื่อติดตามความเสี่ยงของโรค อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ เพราะยังคงมีแหล่งน้ำนิ่งกระจายหลายแห่ง เช่นในถังเก็บน้ำของตึกเก่า และยังมีแหล่งน้ำขังในพื้นที่ก่อสร้าง ประกอบกับสภาพอากาศร้อนชื้นในสิงคโปร์ที่ทำให้ยุงเจริญพันธุ์ได้ดี

Harena Rasamoelina ผู้ประสานงาน SEGA One Health Network เครือข่ายของภาคประชาสังคม องค์กรภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญ ในแถบหมู่เกาะมหาสมุทรอินเดีย ประกอบด้วยประเทศหมู่เกาะ เช่น สาธารณรัฐมอริเชียส  สาธารณรัฐมาดากัสการ์ สาธารณรัฐเซเชลส์ และสหภาพคอโมโรส    

เครือข่ายดังกล่าวสนับสนุนให้จัดทำระบบข้อมูลสุขภาพของประชาชน และระบบสอบสวนและติดตามโรคติดต่อเขตร้อนในประเทศหมู่เกาะ ที่ผ่านมาได้นำระบบดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการควบคุมโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย เช่น พิษสุนัขบ้า พยาธิตัวตืด ไข้เลือดออก และ ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นต้น

Franck Berthe ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ ประจำธนาคารโลก กล่าวว่าธนาคารโลกเองก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมและจัดการโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ลดความยากจน

“แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว มีคุณประโยชน์เกินกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการจัดทำนโยบาย หากมีการลงทุนและสร้างกลไกทางการเงินเพื่อจัดการโรคแล้ว ประเทศต่างๆ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคระบาดได้ และยังลดความสูญเสียที่เกิดในภาคส่วนอื่นๆ อันเกิดจากผลกระทบของโรคระบาด” Berthe กล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่:
https://www.who.int/news/item/21-03-2022-one-health-is-critical-to-addressing-zoonotic-public-health-threats-and-environmental-issues