ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าโลกจะเผชิญวิกฤติโควิดในช่วงสองปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) กลับพบว่ามีความก้าวหน้าทางสาธารณสุขเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน

รายงานผลการทำงานขององค์การอนามัยโลกระหว่างปี 2563-2564 ระบุว่าหนึ่งในความก้าวหน้าคือการพัฒนาวัคซีนโควิดได้สำเร็จภายในเวลาเพียง 12 เดือนเท่านั้น จากปกติที่ใช้เวลาเฉลี่ยนานถึง 6-10  ปี ในการพัฒนาวัคซีนตัวอื่นๆ

องค์การอนามัยโลกทำโครงการ COVAX ซึ่งจัดหาวัคซีนต้านโควิดให้ประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง สามารถแจกจ่ายวัคซีนได้มากกว่า 1,400 ล้านโดส

ในภาพรวม องค์การอนามัยโลกทำงานกับองค์กรเครือข่ายมากกว่า 1,600 แห่ง ใช้งบประมาณรวม 59,000 ล้านบาทในการทำงานรับมือโรคโควิด-19

ทั้งยังสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และงบประมาณดูแลผู้ป่วยให้นานาประเทศ เช่น พีพีอี (17,000 ล้านบาท) เครื่องให้ออกซิเจน (6,400 ล้านบาท) การรักษา (165 ล้านบาท) และการตรวจหาเชื้อ (3,800 ล้านบาท)

“ในขณะที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับวิกฤติสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุดในรอบศตวรรษ เราก็สนับสนุนประเทศสมาชิกให้สามารถรับมือและจัดการโรคภัยคุกคามอื่นๆ แม้ว่างบประมาณถูกบีบให้น้อยลง (เพื่อผันงบประมาณไปรับมือโควิด) และการให้บริการด้านสุขภาพอยู่ในสภาพชะงักงัน” นพ. ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลกกล่าว

“ในปีต่อๆ ไป เราจะยังคงเน้นลงทุนทรัพยากรให้มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือ เราให้ความสำคัญกับกลไกทางการเงิน ซึ่งต้องมีความยั่งยืน คาดการณ์ได้ และยืดหยุ่นพอประมาณ เพื่อที่เราจะสามารถทำพันธกิจด้านส่งเสริมสุขภาพ ให้โลกปลอดภัย เข้าถึงกลุ่มเปราะบาง”

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกยังสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด

หนึ่งในความสำเร็จ คือ การจัดทำแนวทางการใช้วัคซีนต้านมาลาเรียขึ้นเป็นครั้งแรก และแจกจ่ายวัคซีนให้เด็กมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก ช่วยให้เด็กเหล่านี้รอดพ้นจากความตายได้อย่างน้อย 40,000-80,000 ชีวิต

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังผลักดันให้ 58 ประเทศ มีประชากรรวม 3,200 ล้านคน ทำนโยบายเลิกใช้ไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นตัวการโรคหัวใจ มีประเทศที่สามารถทำนโยบายได้ดีจนเป็นตัวอย่าง เช่น บราซิล เปรู สิงคโปร์ ตุรกี และ สหราชอาณาจักร

ในด้านการรณรงค์เลิกบุหรี่ พบว่าจำนวนผู้ใช้ยาสูบลดลงใน 150 ประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะใช้มาตรการภายใต้กรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ที่จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก

ในด้านสุขภาพแม่และเด็ก มี 15 ประเทศที่สามารถกำจัดโรคเอชไอวีและซิฟิลิสที่ส่งผ่านจากแม่สู่เด็ก

อย่างไรก็ตาม รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่ายังมีภาระงานอีกมากที่ต้องทำให้สำเร็จ รวมทั้งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนทั้งโลกภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

ตอนนี้ การเดินไปสู่เป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังถือว่าล่าช้า ทำสำเร็จเพียง 1 ใน 4 ของเป้าหมายที่วางไว้ จึงทำให้หลายประเทศทั่วโลกไม่สามารถรับมือกับโรคระบาดโควิดได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโลกสำรวจ 127 ประเทศ พบว่ามี 117 ประเทศที่ต้องหยุดให้บริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างน้อยหนึ่งประเภทบริการในช่วงโรคระบาด เฉลี่ยแล้วบริการมากกว่า 45% ต้องหยุดชะงัก

ในด้านงบประมาณ องค์การอนามัยโลกวางงบประมาณสำหรับทุกโครงการรวมกันที่ 2 แสนล้านบาทในระหว่างปี 2563-2564  แต่ใช้จริง 2.7 แสนล้านบาท เพราะเกิดโรคระบาดโควิด งบประมาณส่วนเกินบริจาคโดยประเทศพัฒนา

หากต้องบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนทั้งโลก คาดว่าต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จำเป็นต้องสร้างกลไกทางการเงินที่สนับสนุนงบประมาณอย่างยั่งยืน

อ่านบทความฉบับเต็ม:
https://www.who.int/news/item/16-05-2022-who-results-report-shows-global-health-achievements-despite-covid-19-pandemic

อ่านรายงานผลการดพเนินงานขององค์การอนามัยโลกระหว่างปี 2563-2564:
https://www.who.int/about/accountability/results/who-results-report-2020-2021