ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้พัฒนาแอปฯ ทางการแพทย์ยุคโควิด-19 เผยที่ผ่านมาแอปฯ เข้ามามีบทบาทช่วยในการรักษามากขึ้น หวังอนาคตผู้พัฒนาเทคโนโลยีแบ่งเบาภาระแพทย์-เพิ่มความสะดวกกับคนไข้ทุกเพศทุกวัย


เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 ย่านนวัตรกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ร่วมกับสำนักงานนวัตรกรรมแห่งชาติ (NIA) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จัดสัมมนาออนไลน์ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ด้านการแพทย์ยุคโควิด-19 พร้อมทั้งอภิปรายถึงมุมมองด้าน Health Tech ในอนาคต

นพ.อดุลย์ชัย ธรรมาแสงเสริฐ ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชันใกล้มือหมอ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2557 ได้ทำเพจ “แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว” ร่วมกับเพื่อนแพทย์ 30-40 คน มาช่วยตอบคำถามทางการแพทย์ให้กับคนไข้ที่สอบถามฟรี โดยทำมาตลอด 2 ปี มีมากกว่า 2 ล้านคำถาม จนปี 2559 แพทย์แต่ละท่านได้มีการแยกย้ายทำงานของตัวเอง จึงรวบรวมข้อมูลจากคำถามที่เคยซักจากคนไข้ในเพจ พัฒนาเป็นแอปพลิเคชันสำหรับวินิจฉัยโรคเบื้องต้น

นพ.อดุลย์ชัย กล่าวว่า ภายหลังได้มีการนำแอปพลิเคชันไปประกวดในโครงการของ TCELS ได้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาให้คำแนะนำว่าหากได้พัฒนาต่อสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพคนไทยทั่วประเทศได้ จึงได้เสนอโครงการกับ สสส. จนกลายเป็นแอปพลิเคชัน “ใกล้มือหมอ” เพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้งานกับชุมชนตนเอง

นพ.อดุลย์ชัย กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนทั่วไปเริ่มดาวน์โหลดมากขึ้น เนื่องจากคนทั่วไปไม่สะดวกไปโรงพยาบาล แต่ต้องการทราบว่าตัวเองเป็นอะไร ‘ใกล้มือหมอ’ ก็จะวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ รวมทั้งสามารถเช็คอาการโควิด-19 โดยมีการอัพเดททันทุกสายพันธุ์

“ในอนาคตหากมีเทคโนโลยีที่สามารถวินิจฉัยโรคง่ายๆ จนสามารถเทียบเท่ามนุษย์ได้ และสำหรับโรคที่มีความซับซ้อนก็สามารถทำการวินิจฉัยเบื้องต้นเพื่อส่งต่อไปยังแพทย์ได้ก็จะสามารถแบ่งเบาภาระให้กับแพทย์ได้เยอะ” นพ.อดุลย์ชัย กล่าว

ด้าน นายนิธิ ประสานพานิช ผู้ร่วมพัฒนาเว็บไซต์ COVID TRACKER กล่าวว่า ในช่วงแรกที่โควิด-19 มีการระบาด ซึ่งในช่วงนั้นวัคซีนและการรักษาให้หายยังไม่มี ทำให้หลายคนมีความกังวลและความกลัวที่รุนแรง จึงนำไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อจากข่าวว่าไปอยู่จุดไหนบ้าง เพื่อเพิ่มความระวังตัวในการใช้ชีวิต โดยทำในรูปแบบที่เห็นภาพง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อน หลังจากที่ได้ออกเวอร์ชันแรกก็ได้มีการส่งต่อมีผู้ดาวน์โหลดถึง 5 ล้าน ภายใน 5 วัน

นายนิธิ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้พัฒนาและออกแบบอยากจะฝากไปยังผู้ที่สนใจอยากทำ Health Tech ในอนาคตว่าถ้าอยากจะทำ ควรทำในรูปแบบที่คนเข้าใจง่าย เพราะว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็จะเข้ามาดูความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโรงพยาบาลผ่านช่องทางนี้มากขึ้น จึงอยากให้หันมาสร้างความน่าดึงดูดผ่านทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์เพื่อตอบโจทย์ยุคสมัยปัจจุบัน

ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุรินาแสงเพ๊ชร์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริการสูงสุด แอปพลิเคชัน Ooca ผู้ กล่าวว่า เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว การเข้ารับการปรึกษาสุขภาพจิตของคนทั่วไปเป็นเรื่องยาก หลายคนไม่อยากเปิดเผนตัวตน รวมถึงปัญหาจิตแพทย์และจิตวิทยามีน้อยมากที่จะให้บริการ จึงอยากทำให้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ รายได้หลักของแอปพลิเคชันมาจากการทำสัญญาให้กับบริษัทที่ต้องการส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานในบริษัท รวมถึงการทำโครงการ Wall of Sharing สำหรับนักเรียนนักศึกษาปรึกษาฟรี

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 สภาพจิตใจของคนไทยหลายคนเกิดความเครียด ส่งผลต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก ทาง Ooca ก็มีโครงการให้คนที่ต้องการคำปรึกษาช่วยเหลือผู้ที่มีผลกระทบด้านการเงิน แต่เครียดมากโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทพญ.กัญจน์ภัสสร กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาหลายๆ มิติ Health Tech ควรเป็นช่องทางที่ใช้งานง่าย ราคาที่ถูกลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงก็จะเข้าถึงคนรากหญ้าได้ด้วย