ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Machine : APD) เริ่มบริการนำร่อง สิทธิบัตรทอง ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมาให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีในการรักษาพยาบาล เพื่อสร้างความสะดวกแก่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตกลางวันได้อย่างปกติ

โรงพยาบาลประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ เป็นหนึ่งโรงพยาบาลที่มีบริการในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองทั้งหมด 1,405 ราย มีทั้งผู้ป่วยฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (HD) การล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) และบริการเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) โดยปัจจุบันมีเครื่อง APD จำนวน 12 เครื่อง และได้บริการให้ผู้ป่วยโรคไตทั้ง 12 รายแล้ว หนึ่งในนั้นคือ พระจิตกร พระภิกษุวัดเทพนิมิตโฆสิตาราม จ.นครสวรรค์

The Coverage พูดคุยกับ พระจิตกร วัดเทพนิมิตโฆสิตาราม ต.ปากน้ำโพ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ หนึ่งในผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังที่รับการบริการใช้เครื่อง APD ในสิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค

พระจิตกร เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ทราบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังว่า ได้ไปบริจาคเลือดที่สภากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ ตรวจแล้วไม่ผ่านเจ้าหน้าที่บอกว่าคุณภาพเลือดต่ำ จึงได้ไปตรวจต่อที่โรงพยาบาลถึงได้ทราบว่าเป็นไตวายเรื้อรัง และต้องได้รับการรักษาทันทีผ่านสิทธิบัตรทอง

“อาตมาเป็นคนชอบฉันอาหารที่มีรสจัด มีความเผ็ด เค็ม และมัน ... หากมีการไม่สบายเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะทานยาหลายเม็ดในครั้งเดียว เพื่อให้หายไว รวมถึงมีภาวะกรดยูริกสูงและโรคเกาต์ ที่อาตมาคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นไตวายเรื้อรัง ... แต่เพราะไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปีมาก่อนจึงไม่รู้ว่าเป็นมาตั้งแต่เมื่อไหร่”

พระจิตกร เล่าว่า หลังจากที่ทราบว่าตัวเองนั้นเป็นไตวายเรื้อรัง แพทย์ก็แนะนำให้รีบเข้าการรักษาทันที ด้วยการฟอกไตทางหลอดเลือด (HD) ต้องเจาะเส้นเลือดอยู่ที่ขอบประมาณ 2 เดือนกว่า และในตอนนั้นการรักษาแบบ HD ยังต้องเสียค่ารักษาค่อนข้างมากฟอกหนึ่งครั้งก็ต้องจ่ายหลายพันแล้ว

ภายหลัง แพทย์ได้แนะนำให้เปลี่ยนรักษาเป็นการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง (CAPD) เพราะสามารถใช้สิทธิบัตรทอง ไม่ต้องเสียทั้งค่าอุปกรณ์และค่าน้ำยาล้างไตทางช่องท้องสำหรับเปลี่ยนถ่ายทุกวัน รวมถึงสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายสามารถทำได้เองที่วัด ในกุฏิของตนเอง จึงใช้การรักษาด้วยวิธีนี้มาตลอด 2 ปี

พระจิตกร เล่าต่อไปว่า จน รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ได้นำเครื่อง APD มาบริการให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทาง รพ. ก็ได้ติดต่อหาทันที ด้วยความจำเป็นและความเหมาะสมหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสะอาด สภาพแวดล้อม และต้องมีการติดตั้งสายดิน สายไฟฟ้าต่าง ๆ ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร เพราะเครื่องต้องใช้ไฟฟ้าค่อนข้างแรง และมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำการใช้เครื่อง APD จนเข้าใจ หากเกิดปัญหา หรือมีข้อสงสัยก็มีเบอร์โทร.ของเจ้าหน้าที่ติดต่อได้ตลอด 24 ชม.

พระจิตกร อธิบายถึงวิธีการใช้งานของเครื่อง APD ว่า สำหรับพระจิตกรจะเปิดเครื่องและเริ่มการล้างตั้งแต่หนึ่งถึงสองทุ่ม เครื่องก็จะทำการล้างตลอดทั้งคืน 9-10 ชม./วัน ยาวจนไปถึงเช้าตีสี่ตีห้า ล้างเพียง 1 ครั้ง/วันเท่านั้น ทำให้ช่วงเวลากลางวันสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกได้เลยก็คือมีความปลอดภัยมากกว่า ความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลง หายใจได้เต็มที่ นอนได้มากขึ้น เดินได้เยอะกว่าเดิม สามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น โดยที่ยังต้องควบคุมรสชาติอาหาร

“การรักษาด้วยเครื่อง APD ต่างกับวิธี CAPD ที่ทุก ๆ 4-6 ชม. ต้องมาเปลี่ยนน้ำยาเก่าออก และนำน้ำยาใหม่เข้า ซึ่งก็จะมีน้ำอยู่ในท้องตลอด รวมถึงยังเกิดการตกค้างบ่อย จะส่งผลต่อร่างหายให้รู้สึกหนักและหายใจไม่ออก และต้องเปลี่ยนวันละ 4 รอบ ต่างกับ APD ที่ปล่อยให้ท้องแห้งได้เลย”

พระจิตกร ขยายความว่า จนถึงปัจจุบันได้ใช้เครื่อง APD มาเกือบ 1 ปีแล้ว เป็นบริการที่ได้จาก บัตรทอง และ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ได้คำแนะนำที่ดี บริการที่ดี รวมถึงได้ใช้เครื่อง APD และน้ำยาล้างไตทางช่องท้องรักษาฟรีตลอดการรักษา

“รู้สึกดีใจ ที่ทางรพ.นำมาให้ผู้ป่วยได้ใช้ ขอบคุณโครงการดี ๆ และสิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ให้ผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นพระ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และประชาชนได้ใช้”