
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3 ระบบใหญ่ ได้แก่ ระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ เชื่อว่า ทุกชีวิตต้องข้องแวะกับระบบใดระบบหนึ่ง และระบบหลักประกันสุขภาพฯ นี้เองที่จะเป็นกำแพงพิงหลังให้กับเราตั้งแต่เกิดไปจนตาย แต่ด้วยข้อมูลที่มากอย่างล้นทะลัก มีความกระจัดกระจายและแยกส่วนกัน บางเรื่องบางราวซับซ้อนและเฉพาะทางจนยากเกินความเข้าใจ นั่นจึงไม่แปลกที่เราอาจเข้าใจเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพฯ เพียงผิวเผิน
แต่นับจากนี้ มั่นใจได้ว่าทุกคนจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น นั่นคือหน้าที่ของเรา ... The Coverage
The Coverage จะเป็นสื่อกลางและช่องทางการสื่อสารที่บอกเล่าเรื่องราว พาทุกท่านไปสำรวจชีวิต ติดตามแง่คิดและมุมมองของบุคคล อัพเดทข้อมูลข่าวสารไทย-เทศ ในทุกมิติที่เกี่ยวพันกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เชื่อเถอะว่าจะเป็นประโยชน์ ... เชื่อเถอะว่าสำคัญสำหรับคุณ
ขอขอบคุณที่ติดตาม ขอขอบคุณที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน
สธ. ตั้งคณะอนุกรรมการ 7 คณะ เร่งผลักดัน 'พัฒนาระบบยาอย่างต่อเนื่อง' พร้อมประกาศบัญชียาหลักฯ เพิ่มการเข้าถึงยา-กำหนดราคากลาง

สธ. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 7 คณะ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นกว่า 20 รายการ และประกาศกำหนดราคากลางยา 155 รายการ ช่วยรัฐประหยัดงบได้ถึง 740 ล้านบาท
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่แทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 ว่า คณะกรรมการเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 7 คณะ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบยาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการยังเห็นชอบให้ประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นกว่า 20 รายการ เช่น ปรับปรุงเกณฑ์อนุมัติสั่งใช้ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง (ยารับประทานสูตรผสม Sofosbuvir+ Velpatasvir) เพิ่มรายการยาระงับปวดสำหรับผู้ป่วยวิกฤต COVID-19 และผู้สูงอายุ (ยาฉีด Dexmedtomidine) ฯลฯ และยังเห็นชอบให้ประกาศกำหนดราคากลางยา จำนวน 155 รายการ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 รัฐจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 740 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU country) โดยส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลผ่านสถานพยาบาลเอกชน ส่งผลให้ประชาชนที่มารับบริการในคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับข้อมูลการใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม
สำหรับการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ ในปีงบประมาณ 2565 องค์การอาหารและยา (อย.) ยังได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนากลไกเพื่อการเข้าถึงข้อมูลสิทธิบัตรยา โดยการจัดอบรมหลักสูตรให้กับผู้ประกอบการด้านยาในการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรยา เพื่อให้มีการผลิตยาสามัญทดแทนยาต้นแบบได้รวดเร็วขึ้น
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การพัฒนาระบบยาจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการ 7 คณะ ยังต้องอาศัยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันเร่งผลักดันขับเคลื่อนมาตรการสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็น ใช้ยาสมเหตุผล และประเทศมีความมั่นคงด้านยาอย่างยั่งยืน