ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ หารือแผนการดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด สู่โรคประจำถิ่น เตรียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะ Post-pandemic ให้ทุกจังหวัดทำแผนปฏิบัติการรองรับตามมาตรการ “2U 3 พอ”


เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมประชุม

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือแผนดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น และเตรียมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะ Post-pandemic เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นเช่น สเปน อินเดีย รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ และภาพรวมขณะนี้ได้เข้าสู่ระยะ Declining มีผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลงเร็วกว่าฉากทัศน์ที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการ ทำให้ควบคุมสถานการณ์หลังสงกรานต์ได้ดี ไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา

นอกจากนี้ รวมไปถึงความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงมีการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่นในบางส่วนแล้ว เช่น ประกาศลดระดับการเตือนภัย จากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ทั่วประเทศ และมอบหมายให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเปิดเมืองเปิดประเทศตามมาตรการ “2U” (Universal Prevention & Universal Vaccination) และ “3 พอ” (เตียงพอ หมอพอ เวชภัณฑ์และวัคซีนพอ) โดยภาพรวมประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 134 ล้านโดส ครอบคลุมเข็มแรกกว่า 81% เข็มที่สอง 74% เข็มกระตุ้น 38% และอยู่ระหว่างเร่งรัดการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข็มแรก 84% เข็มที่สอง 80% และเข็มกระตุ้น 42%

สำหรับมาตรการเตรียมรับการเปิดเทอมทั่วประเทศ ในวันที่ 17 พ.ค. 2565 สธ. และ ศธ. ได้ปรับมาตรการป้องกันโรคและการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและสามารถเปิดเรียน On-site ได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ในเด็กนักเรียน ซึ่งขณะนี้เด็กอายุ 5-11 ปี ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกกว่า 54% และเข็มที่สอง 17%

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ชื่นชมความสำเร็จในการรับมือวิกฤต “โควิด 19” ของไทย โดยระบุว่ามีปัจจัยความสำเร็จ 5 ประการ ได้แก่ ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหา มีระบบหลักประกันสุขภาพและการดูแลปฐมภูมิที่ดี มีความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นกำลังสำคัญของสาธารณสุข ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการโควิด ซึ่งจะนำเสนอประสบการณ์ในการรับมือโควิด-19 ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกให้ประเทศสมาชิกได้เรียนรู้ต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบการพัฒนาบุคลากรด้านการตรวจสุขาภิบาลยานพาหนะเรือ และการออกเอกสารรับรอง Ship Sanitation Certificate : SSC ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และการเดินทางระหว่างประเทศทางเรือกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมที่มีชาวต่างชาติมาเยือนทางเรือ การตรวจสุขาภิบาลเรือและออกเอกสารรับรองสุขาภิบาลจึงมีความสำคัญ ภายใต้มาตรฐานของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005)

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทางน้ำ (ท่าเรือ) กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกพาณิชน์นาวี กระทรวงคมนาคม และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมเรื่องการตรวจสุขาภิบาลเรือ และการออกใบรับรองสุขาภิบาลเรือ ที่จะจัดในระหว่างวันที่ 9 -13 พ.ค. 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต โดยความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค สธ. WHO และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทางน้ำ ให้มีศักยภาพประเมินความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขและสุขาภิบาลในเรือ ให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

นอกจากนี้ มีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. ยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 - 2573 และแผนปฏิบัติการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2565 – 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องว่างและพัฒนารูปแบบ การดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ในการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ให้ได้ภายใน

พ.ศ. 2573 และ 2. โครงการป้องกันและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางแสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ปี 2565