ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พระสงฆ์เป็นผู้นำโดยธรรมชาติ เมื่อพระพูดโยมก็ฟัง

พระครูปลัดนรินทร์ นราสโภ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอชุมแสง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเกยไชยเหนือ (บรมธาตุ) กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ “The Coverage” ถึงการใช้พลัง “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) ขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์ในเขตพื้นอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์

ความจริงจุดเริ่มต้นของการพูดคุยในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ลงพื้นที่วัดวรนาถบรรบต (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และมีโอกาสได้ฟัง พระราชรัตนเวที รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และเจ้าอาวาสวัดวรนาถบรรบตเทศนาธรรมในหัวข้อ “สิทธิประโยชน์และการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกภายใต้ธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ พ.ศ. 2560 โดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นส่วนขับเคลื่อน

วันนั้นเองผู้เขียนจึงมีโอกาสได้พบกับพระครูปลัดนรินทร์ที่เป็นอีกหนึ่งกำลังหลักในการขับเคลื่อนการดูแลธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ตั้งแต่การตั้งโครงการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ไปจนถึงการพยายามที่จะให้ญาติโยมตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น นั่นจึงทำให้ผู้เขียนต้องกราบนมัสการพระครูปลัดนรินทร์ เพื่อพูดคุยการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

ทำงานคู่ขนานกับธรรมนูญสงฆ์

พระครูปลัดนรินทร์ อธิบายว่า ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 มีโอกาสได้ไปแสดงนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตนครสวรรค์ ซึ่งในตอนนั้นมีโครงการวัดสร้างสุข พัฒนาวัดด้วยหลัก 5 ส. และได้เป็นตัวแทนของคณะสงฆ์ภาค 4 เพื่อแสดงผลงานคณะสงฆ์ และในวันนั้นก็ได้มีการพบปกับ ผศ.ดร.ปฏิธรรม สําเนียง หนึ่งในคณะทำงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ และก็ได้ชวนให้อาตมาเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังจัดเวที 5  ภาคเสนองานเกี่ยวกับธรรมนูญฯ เพียงแต่ในขณะนั้นยังไม่ได้ทำเป็นรูปธรรม

ขณะที่อยู่เชียงใหม่นั้น ดร.ปฏิธรรม ก็บอกว่าการทำงานในส่วนนี้สามารถขอกองทุนตำบลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ หลังจากนั้นเราก็เริ่มรู้จัก สปสช. มากกว่าเดิม ตอนนั้นพลังบวรก็ทำคู่ขนานไปด้วยเนื่องจากมีชุมชนคุณธรรม และเมื่อปลายเดือน ธ.ค. ปี 2560 ก็ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เป็นฉบับแรก พระครูปลัดนรินทร์ ระบุ

เมื่อมีการประกาศใช้ธรรมนูญอย่างเป็นทางการแล้ว กลางปี 2561 โรงพยาบาลชุมแสงก็ได้ติดต่อมาว่ามีการจับคู่ 1 โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1 วัด ซึ่งวัดเกยไชยเหนือก็จับคู่กับโรงพยาบาลชุมแสงในขณะนั้น แต่ในขณะนั้นกลัวว่าการทำงานในส่วนนี้จะไม่เกิดขึ้นจริง พระครูปลัดนรินทร์ จึงได้ประสานงานไปยังแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมแสง ทำให้ปีนั้นมีการตรวจสุขภาพพระสงฆ์ขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปีที่จะตรวจทั่วไป แต่มากกว่า 35 ปีที่จะมีการตรวจอย่างละเอียด โดยที่ยังไม่ได้ใช้เงินจากกองทุนตำบล

เมื่อเข้าปี 2562 พระครูปลัดนรินทร์ จึงได้เขียนโครงการอีกครั้ง และนั่นก็ทำให้รู้ว่างบกองทุนตำบล เป็นเงินที่ได้จากการที่ สปสช. จ่ายเป็นงบอุดหนุนตามรายหัวประชากร บวกกับเงินจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะสมทบเพิ่มตามรายได้ที่มี

จึงได้เกิดการอมรมและปฏิบัติการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ตามปัจจัย 4 อย่างถูกวิธี ในครั้งนั้นมีพระสงฆ์เข้าร่วมทั้งหมด 24 รูป และชาวบ้าน 76 คน ร่วมทำกิจกรรมดูแลพระสงฆ์อย่างถูกวิธี ตั้งแต่เรื่องอาหาร ไม่หวาน มัน เค็ม รวมไปถึงการให้ความรู้เรื่องชุดสังฆทานที่ไม่ควรซื้อแบบสำเร็จ เพราะนอกจากจะเสี่ยงหมดอายุแล้ว บางอย่างก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หากไปซื้อจัดเองดูจะมีประโยชน์มากกว่า

ภายในปี 2562 ก็ได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ พระครูปลัดนรินทร์ ภาคภูมิใจ นั่นก็คือการได้รับพระราชทานรางวัล “บ้านสวย เมืองสุข” ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้แก่บ้านเกยไชยเหนือ วัดเกยไชยเหนือ และโรงเรียนเกยไชยเหนือตามหลักบวร นั่นทำให้ พระครูปลัดนรินทร์ ปักหมุดว่าจะต้องทำให้พลังบวรที่มีเข้มแข็งขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อเข้าสู่ปี 2563 ตอนนั้นประเด็นเรื่องอาหารกำลังเป็นที่พูดถึง พระครูปลัดนรินทร์จึงได้เขียนของบจากกองทุนตำบล จัดกิจกรรมโดยนำพระสงฆ์ในตำบลเกยไชย 5 วัด จำนวน 30 รูป และประชาชนจาก 10 หมู่บ้าน จำนวน 70 คน แยกเป็นออกเป็น 7 กลุ่ม โดยมีพระสงฆ์ 3 รูป และชาวบ้าน 7 คน ร่วมกันทำอาหารเตรียมถวายเพลแด่พระสงฆ์ ซึ่งพระสงฆ์มีหน้าที่จดว่าวัตถุดิบ และเครื่องปรุงที่ชาวบ้านใช้มีอะไรบ้าง

เมื่อถึงเวลา 11 โมงก็ตั้งโต๊ะ แพทย์ก็ร่วมทานและตรวจคุณภาพด้วย จบจากนั้นก็จะเป็นการเข้าห้องประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนกัน โดยจะให้พระที่แต่ละกลุ่มออกมาอธิบายว่าอาหารชนิดนั้นใส่อะไรบ้าง

ผลปรากฏว่าการเมื่อหมอตรวจคุณภาพจากกลุ่มแรกก็พบว่าค่าความเค็มขึ้นไปสูงมาก ไม่ผ่านเกณฑ์ อาหารไม่ปลอดภัย ซึ่งส่วนมากกลุ่มที่ใส่กะปิ ปลาร้าค่าความเค็มจะพุ่งขึ้นเลย จากกิจกรรมดังกล่าวนี้กลุ่มที่ผ่านเป็นกลุ่มที่หุงข้าว และทำผลไม้ และแกงส้ม พระครูปลัดนรินทร์ ระบุ

หลังจากเสร็จกิจกรรมแพทย์ก็ได้สรุปออกมาว่า เมื่อพระสงฆ์ฉันอาหารหวาน มัน เค็ม ก็จะทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน ฯลฯ ขณะเดียวกันญาติโยมที่ทานอาหารหม้อเดียวกันก็จะป่วยไปด้วย ซึ่งภายหลังญาติโยมก็เกิดการตระหนักรู้เรื่องกายถวายอาหารให้พระสงฆ์มากขึ้น แม้ในช่วงแรกจะเป็นกลุ่มที่ร่วมกิจกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ได้มีการกระจายความรู้ออกไปเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่กว้างขึ้น

อาตมาไม่อยากให้พระสงฆ์ใช้เงินกองทุนมรณภาพ

อาตมาเป็นความดันจนเส้นเลือดในสมองแตก สลบไป 1 วันครึ่ง แขนและขาข้างขวาใช้งานไม่ได้ แต่ตอนนั้นใจฮึกเหิม ใช้เวลาเพียงแค่ 1 เดือนก็กลับมาเดินได้ จนขณะนี้เกือบจะสมบูรณ์แล้วแต่ยังไม่ 100%”   

พระครูปลัดนรินทร์ ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเคยป่วยมาก่อนนั่นทำให้วางเป้าหมายต่อว่าเมื่อรู้เรื่องสุขภาพก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ กับอีกหนึ่งส่วนนั่นก็คือไม่อยากให้มีพระป่วย และไม่อยากให้ใช้กองทุนมรณภาพสำหรับพระสงฆ์ จึงพยายามที่จะหาวิธีทำให้พระไม่ป่วย และมีสุขภาพที่ดี รวมไปถึงญาติโยมด้วย

ช่วงที่ฉีดวัคซีนโควิด อาตมาก็จะส่งข้อมูลไปในไลน์กลุ่มของคณะสงฆ์ในแต่ละวัด แต่ละตำบล เมื่อได้รายชื่อ ได้เลขบัตรประชาชนก็จะส่งไปที่โรงพยาบาลชุมแสง เขาก็จะเก็บไว้ให้ตามที่ได้มีการลงทะเบียนเอาไว้ ทำให้พระสงฆ์ที่อาตมาได้นำไปฉีดวัคซีนทั้งอำเภอ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ปี 2565 ฉีดไปได้ทั้งอำเภอ 304 รูป ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มากที่สุด พระครูปลัดนรินทร์ กล่าว

นอกเหนือจากการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว พระครูปลัดนรินทร์ยังได้มีการะดมให้ญาติโยมเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ด้วยการสานแพทย์จากโรงพยาบาลชุมแสง และ รพ.สต.บ้านเกยไชยเหนือ เพื่อร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 3 นั่นทำให้ครั้งนั้นมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั้งหมด 1,600 คน

จัดอบรมพระคิลาฯ เพื่อให้พระสงฆ์ดูแลกันได้

ย้อนกลับไปในปี 2562-2563 ขณะนั้นก็เริ่มมีการจัดอบรมพระคิลาฯ และพระ อสว. แล้ว แต่กลับได้เพียงปีละ 2 รูปเท่านั้นจาก 15 อำเภอ ขณะเดียวกันตำบลอำเภอชุมแสงก็มีโควตาเข้าปีละ 2 รูป รวมแล้วเป็น 6 รูป ทว่ากรมอนามัยระบุว่าอยากให้มีพระคิลาฯ 1 ตำบล 1 รูป ซึ่งไม่เพียงพอเพราะอำเภอชุมแสงมีทั้งหมด 10 ตำบล จึงตัดสินใจเขียนของบกองทุนตำบลอีกครั้งในปี 2564 เพื่อนำมาพัฒนาพระคิลาฯ จำนวน 50 รูป ในเขตตำบลเกยไชยและตำบลข้างเคียง ผลปรากฏว่าทำให้ในขณะนี้มีพระคิลาฯ ในตำบลเกยไชยมีจำนวนทั้งหมด 57 รูป (รวมของเดิม 6 รูป) นับว่ามากที่สุดในอำเภอชุมแสง

อาตมามองว่าอยากให้พระสงฆ์ดูแลกันเองได้ เผื่อยามป่วยไข้ ก็เลยมีไอเดีย จึงทำการขอเงินจากกองทุนเพื่อนำมาจัดโครงการพัฒนาพระคิลาฯ พระ อสว. ในปี 2564 ก็มีการจัดอบรม ใช้ภาคีเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมแสง สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) รพ.สต. รวมไปถึงศูนย์อนามัยที่ 3 และ สปสช. เขต 3 ก็นำบุคลากรมาจัดอบรม รวมไปถึงการปฏิบัติ พระครูปลัดนรินทร์ ระบุ

มากไปกว่านั้นในปีเดียวกันพระครูปลัดนรินทร์ก็ได้เขียนโครงการอีกครั้ง เป็นการนำพระคิลาฯ หรือพระ อสว. ทุกรูปมาเรียนรู้เรื่องวัดส่งเสริมสุขภาพ โดยมีพี่เลี้ยงเป็นศูนย์อนามัยที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้พระที่เข้าร่วมอบรมสามารถกลับไปขับเคลื่อนวัดส่งเสริมสุขภาพได้ที่วัดของตัวเอง

เขียนงบขอกระเป๋ายา 10 กระเป๋า เพื่อมาสาธิตในการใช้อุปกรณ์ต่าง โดยให้แพทย์จากศูนย์อนามัยที่ 3 เป็นผู้ให้ความรู้ในการใช้อุปกรณ์ ตั้งแต่เครื่องวัดความดัน การหาค่าดัชนีมวลกาย ฯลฯ เมื่อเสร็จแล้วก็จะให้พระคิลาฯ นำไปทดลองใช้กับพระในวัด

ตอนเราเรียนเราก็ได้ใช้เครื่องมือ แต่เราก็อยากให้มีติดวัดไว้เลย เพื่อที่พระคิลาฯ จะได้นำไปฝึกใช้กับพระเขาเอง ดูแลพระที่ป่วยก่อนที่จะส่งต่อไปยัง รพ.สต. หรือโรงพยาบาล พระครูปลัดนรินทร์ กล่าว

ศูนย์อนามัยที่ 3 กับการบูรณาการความรู้ให้แก่พระสงฆ์

เพื่อให้เห็นภาพการทำงานและการขับเคลื่อนสุขภาวะสงฆ์อย่างเป็นระบบ ผู้เขียนจึงได้พูดคุยเพิ่มเติมกับ พญ.ศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3  นครสวรรค์

พญ.ศรินนา ระบุว่า ตั้งแต่มีการขับเคลื่อนธรรมนูญสงฆ์ตั้งแต่ปี 2560 กรมอนามัยก็ได้ให้มีการเริ่มจัดอบรม พระคิลาฯ มาอย่างต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อให้พระได้มีองค์ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพตามพระธรรมวินัยทั้งของพระสงฆ์ด้วยกันเองและญาติโยม

ศูนย์อนามัยก็จะเข้าไปเสริมทั้งความรู้ที่เป็นทฤษฎี ปฏิบัติ โดยใช้เจ้าหน้าที่จากศูนย์อนามัยและสาธารณสุขจจังหวัด แบ่งองค์ความรู้เป็นหัวข้อ นอกเหนือจากความรู้ที่ได้จากการอบรม ปฏิบัติแล้วยังมีเรื่องของสิทธิ ซึ่งตรงนี้ก็จะใช้วิทยากรจาก สปสช. ให้ความรู้เรื่องการเข้าถึงสิทธิ พญ.ศรินนา ระบุ

พญ.ศรินนา ขยายความว่า การอบรมพระคิลาฯ จะมีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ดูแลทุกจังหวัดในเขตสุขภาพ โดยจะมีการจับคู่ดูแลกับผู้รับผิดชอบงานพระสงฆ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และบางเรื่องก็จะทำคู่กับ สปสช.

ทว่าสิ่งที่ทำให้จังหวัดนครสวรรค์แตกต่างกับจังหวัดอื่นนั่นคือคือการควบรวมการทำงานของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระ จากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพพระสงฆ์เข้าด้วยกัน เพราะที่ผ่านมาพระสงฆ์อาจจะยังไม่รู้ทั้งเรื่องของการเข้าถึงสิทธิและการเข้าถึงบริการ

ช่วงแรกเราจะปูพรมเรื่องพระคิลาฯ ให้เต็มพื้นที่ หากมีจำนวนมากพอก็จะเริ่มติดตามผลการดำเนินงานต่อไป สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ก็ได้กระจายไปทั่วทุกตำบลแล้ว และหลังจากการอบรมแล้วส่วนหนึ่งพระที่เข้าอบรมส่วนใหญ่จะเป็นพระนักเทศน์ ซึ่งก็จะสามารถสื่อสารเรื่องสุขภาพให้แก่ญาติโยมต่อไปได้เวลามีงานบุญ หรือช่วงใส่บาตรได้ พญ.ศรินนา ระบุ

ส่งเสริมสุขภาพคู่กับการปรับสิ่งแวดดล้อมภายในวัด

พญ.ศรินนา อธิบายว่า ในปีนี้จะเน้นมุ่งเน้นให้พระคิลาฯ ทราบฐานข้อมูลก่อนว่ามีพระสงฆ์ติดวัดกี่รูป และมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็จะมีการส่งเสริมสุขภาพควบคู่ไปกับการปรับสิ่งแวดล้อมภายในวัด เพราะเรื่องความสะอาดเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ เมื่อสถานที่ดีญาติโยมที่เข้ามาทำบุญก็จะซึมซับ และเห็นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งตรงนี้ก็จะสามารถยกระดับความเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพตำบลได้

นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการจัดการขยะ ในส่วนนี้ก็จะให้พระสงฆ์ในแต่ละวัดได้เลือกว่าจะขับเคลื่อนประเด็นใด เพราะบางวัดในบางพื้นที่ก็ต้องการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ บางพื้นที่ก็ต้องการปรับสิ่งแวดล้อม

บางที่ก้าวหน้าก็จะไปทำเรื่องการจัดการขยะ และบางวัดก็จะมีพระบางรูปที่มีความเป็นช่าง ก็จะมีการขยับไปทำอุปกรณ์เพื่อให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งเราก็พยายามจะดูด้วยการใช้ฐานสุขภาพเป็นตัวนำ พญ.ศรินนา ระบุ