ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ (สอน.) พิกุลทอง จัดโครงการ “มหัศจรรย์ 1,000 วัน” สร้างการเข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก ดูแลสตรีตั้งครรภ์ และเด็กแรกเกิด-2 ปี บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน 


เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 คณะผู้บริหาร นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการ “มหัศจรรย์ 1,000 วัน” สร้างการเข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และชุมชนในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ณ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ (สอน.) พิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี โดยมี นพ.ธนา พุทธากรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าช้าง จ.สิงห์บุรี นางงามจิต พระเนตร รักษาการผู้อำนวยการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ต.พิกุลทอง นพ.สุขสันติ พักธรรมนัก แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หน่วยบริการปฐมภูมิที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวสถานีอนามัยฯ พิกุลทอง และ ว่าที่ ร.ต.พรรุ่ง เหมือนพงษ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลตำบลถอนสมอ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ให้การต้อนรับ

นางงามจิต พระเนตร รักษาการผู้อำนายการสถานีอนามัยฯ พิกุลทอง เปิดเผยว่า โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันจะเป็นการการดูแลแม่ตั้งแต่เตรียมตัวตั้งครรภ์ไปจนถึงตอนคลอดจนถึงเด็กอายุ 2 ปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เทศบาลตำบลถอนสมอ เกือบจะทั้งหมดในการดูแล ทั้งเรื่องการจ่ายโฟลิก เพื่อให้แม่ไม่มีภาวะซีด รวมไปถึงอาหาร บนความคาดหวังว่าหากแม่ได้ทานนมที่มีโปรตีนสูง ทานไข่เพียงพอ เด็กที่คลอดออกมาก็จะมีน้ำหนักตัวเกิน 2,500 กรัม 

อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว โครงการฯ ก็จัดกิจกรรมกิน กอด เล่น เล่า ส่งเสริมการเล่านิทาน เพื่อพัฒนา EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์แก่เด็ก และตรวจกระตุ้นพัฒนาการให้สมวัยในช่วง 1,000 วันแรก ให้สมบูรณ์ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าศูนย์เด็กเล็กเมื่อเด็กมีอายุได้ 2 ปีครึ่ง ขณะเดียวกันหากเด็กคนไหนที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็จะมีใบประกาศแสดงให้เห็นว่าเด็กมีความพร้อมที่เข้าสู่ศูนย์เด็กเล็กได้ 

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับทีมพัฒนาเด็กและครอบครัว (Child & Family care Team : CFT) ที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของโครงการฯ ในการวาง care plan ของแม่ 1 คน และครอบครัวว่ามีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือในด้านใด 

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ 100% คือฝากครรภ์เร็ว ฉะนั้นจะทำให้สามารถเจาะตรวดน้ำคร่ำ โรคที่เกิดจากพันธุกรรมได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่คลอดออกมาน้ำหนักเกิน 2,500 กรัมทุกคน เมื่อคลอดออกมาเรามีชุดนิทาน กิจกรรม หรือศูนย์ธนาคารนมแม่ที่อนามัย เนื่องจากเราพบว่าชุมชนจะไม่ได้มีความพร้อมทั้งหมดที่จะสต๊อกนมได้ถึง 6 เดือน เพื่อให้แม่มีที่พึ่ง สามารถนำนมแม่ฝาก” นางงามจิต ระบุ 

นพ.สุขสันติ พักธรรมนัก แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หน่วยบริการปฐมภูมิที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวสถานีอนามัยฯ พิกุลทอง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเมื่อเทียบกับของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเหมือนโรงเรียนพ่อแม่ แต่สำหรับที่นี่ก็จะพยายามเน้นให้สามี ภรรยา และครอบครัวเข้ามามีบทบาทในการที่จะช่วยเสริมให้การตั้งครรภ์ของหญิงในครอบครัวเป็นการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ ทั้งเรื่องอาหาร ความเป็นอยู่ กำลังใจก็จะช่วยเสริมให้แม่ไม่มีภาวะเครียด และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

อย่างไรก็ดีที่ อ.ท่าช้าง อัตราการเกิดนั้นติดลบ หมายความว่ามีคนเสียชีวิตมากกว่าเกิดใหม่ อย่างปีนี้มีคนเสียชีวิต 17 คน แต่มีเด็กเกิดใหม่เพียงแค่ 3 คน ฉะนั้นการที่มีเด็กเกิดใหม่ 1 คนในชุมชน ก็ถือว่าเป็นของขวัญของคนในชุมชน หากใน 1,000 วัน สามารถพัฒนาเด็กในเรื่องของสมอง ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคมได้ เด็กที่โตขึ้นมาก็จะเป็นเด็กที่มีคุณภาพ 

“โครงการนี้สามารถทำให้พัฒนาการเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงเด็กอายุ 2 ปี มีพัฒนาการเพิ่มขึ้น เรื่องน้ำหนักตัว ส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน น้ำหนักตัวแรกคลอดไม่ต่ำกว่า 2,500 กรัม ถือว่าผ่านมาตรฐานหมดทุกคน และในส่วนของพัฒนาการเด็กจากการประเมินก็ผ่านหมดทุกคน ถือว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์ สิ่งที่สำคัญคือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย” นพ.สุขสันติ กล่าว 

ว่าที่ ร.ต.พรรุ่ง เหมือนพงษ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลตำบลถอนสมอ กล่าวว่า เทศบาลตำบลถอนสมอ นำโดยนายอุดร พาศิรายุ นายกเทศมนตรีตำบลถอนสมอนั้น เล็งเห็นว่าโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรได้ และได้สนับสนุนงบประมาณจากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนโครงการ 

อย่างไรก็ดี เดิมทีการดูแลก็จะเป็นการดูแลตั้งคลอดลูกจนถึงช่วงวัยชรา แต่เมื่อมีโครงการนี้เข้ามาก็สามารถดูแลแม่ก่อนตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ซึ่งนายกเทศมนตรีก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่ทางสถานีอนามัยฯ คิดเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งเทศบาลก็ได้สนับสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณ และบุคลากร และหากสถานีอนามัยฯ ต้องความช่วยเหลือในด้านใด ทางเทศบาลก็ยินดีที่จะสนับสนุน 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สนับสนุนงบประมาณในการดูแลเรื่องของการตั้งครรภ์ ซึ่งในปีนี้ได้มีการเปลี่ยนกติกาใหม่เป็นการฝากครรภ์ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพราะเดิมทีจะกำหนดไว้ไม่เกิน 5 ครั้ง โดย สปสช. ก็จะสนับสนุนงบประมาณในการดูแล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความมั่นใจว่าคุณแม่มีสุขภาพที่ดีซึ่งจะส่งผลต่อลูกที่จะเกิดมาอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ อย่างเช่น กรณีการฝากครรภ์ที่ได้เริ่มในปี 2565 หน่วยที่รับฝากครรภ์ทุกระบบ ทุกสิทธิการรักษาพยาบาลสามารถเบิกค่าใช้จ่ายมายัง สปสช. ได้ตามรายการที่กำหนดไว้ ตั้งแต่ การตรวจเลือด การอัลตร้าซาวด์ ฯลฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้แล้ว 

“อยากจะขอประชาสัมพันธ์กับหน่วยบริการต่างๆ ที่ยังไม่ได้สมัครเข้ามาในระบบ ที่อาจจะเป็นหน่วยบริการเอกชนก็สามารถสมัครเข้ามาได้ และหลังจากที่เด็กคลอดแล้วหากมีกลไกในการทำงานกับท้องถิ่น ทางหน่วยบริการ เช่น รพ.สต. หรือสถานีอนามัยในชุมชน ก็สามารถทำโครงการร่วมกันโดยใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นของแต่ละตำบล เข้าไปเสริมสนับสนุนในการใช้เป็นค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพแม่และเด็กต่อไปได้” นพ.จเด็จ ระบุ 

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ