ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้โครงการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้” จะเกิดเป็นรูปธรรมการให้บริการอันมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ก็ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของโครงการนี้ บางคนไม่เชื่อด้วยซ้ำว่า หากป่วยเป็นโรคมะเร็งจะสามารถรักษาฟรีได้ทุกที่ เพราะนอกจากเป็นโรคที่มีราคาสูงแล้ว ยังเต็มไปด้วยความซับซ้อน

อย่างไรก็ดี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยืนยันอีกครั้งถึงโครงการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้” พร้อมทั้งให้ความมั่นใจประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า รักษาฟรีอย่างแน่นอน

นพ.จเด็จ เริ่มอธิบายว่า สำหรับสิทธิบัตรทอง เดิมหากมีอาการป่วยให้ไปรับการรักษาที่สถานบริการใกล้บ้าน แต่บางครั้งสถานบริการใกล้บ้านไม่สามารถรักษาโรคที่มีความซับซ้อนอย่างโรคมะเร็งได้ อีกทั้งกระบวนการส่งตัวก็ช้าเกินไปทำให้โรคลุกลามได้ รวมถึงการรอคิวที่นานในการบางขั้นตอนการรักษา เช่น ทำรังสี ฯลฯ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

นั่นทำให้ราว 2 ปีที่แล้วทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีนโยบายที่จะยกระดับสิทธิบัตรทองขึ้น ซึ่งขณะนั้นมองว่าโรคมะเร็งน่าจะเป็นจุดหนึ่งที่เป็นปัญหา จึงออกนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ หรือเป็นมะเร็งรักษาทุกที่ กล่าวคือ เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งสามารถไปรักษาได้ทุกที่ที่มีบริการ ไม่จำเป็นต้องรอการรักษาหรือการส่งตัวจากหน่วยบริการใกล้บ้าน

ขณะนี้จากที่ได้ข้อมูลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเบื้องต้น พบว่าผลตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี มีจำนวนประชาชนได้เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น กระนั้นก็ไม่ใช่ทุกคนที่รู้เกี่ยวกับโครงการนี้ จึงอยากให้สื่อช่วยกันสื่อสารการยกระดับบริการของสิทธิบัตรทองในครั้งนี้เพิ่มเติม

ทางด้านหน่วยบริการเองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะแนวทางใหม่เป็นการแบ่งเงินสำหรับการรักษามะเร็งไว้เป็นกองกลาง หากมีการส่งตัวสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับทาง สปสช. โดยตรงได้เลย ไม่ต้องไปเบิกกับหน่วยบริการต้นทาง

นพ.จเด็จ ย้ำว่า โครงการนี้ สปสช. ไม่ได้ใช้เงินเพิ่มขึ้นเลย เพียงแต่ใช้การบริหารจัดการเงินใหม่ ซึ่งค่าบริการสำหรับโรคมะเร็งภาพรวมทั้งหมดใช้ไปประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่ารักษาของผู้ป่วยในจำนวนหนึ่ง และค่ารักษาสำหรับการฉายรังสีกับค่ายาประมาณ 3,500 ล้านบาท

บริการนี้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเลย โดยเรากำหนดอัตราแบ่งเป็นแต่ละโรคแต่ละอวัยวะเป็นส่วนๆ ซึ่งให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนประเมินเพื่อให้หน่วยบริการมั่นใจ และไม่ปฏิเสธหรือเก็บเงินจากคนไข้ ซึ่งความแพงของโรคมะเร็งส่วนใหญ่อยู่ที่เคมีบำบัด และรังสีรักษา นพ.จเด็จ กล่าว

มากไปกว่านั้น หลังจากดำเนินการโครงการนี้มาหลายปี ได้มีหน่วยบริการของเอกชนสนใจเข้ามาติดต่อขอเข้าร่วมด้วย เช่น โรงพยาบาที่ชลบุรี ซึ่งมีสถานบริการหลายแห่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งก็สนใจรับนโยบายนี้และสมัครเข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบของ สปสช. เพิ่มด้วย

เลขาธิการ สปสช. เชื่อว่า วิธีการไปรับบริการเป็นปัญหาเรื้อรังของการรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่เพียงแต่โรคมะเร็งเท่านั้นแต่โรคอื่นๆ ก็ด้วย ซึ่งจากจุดนี้จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องยาที่จะนำมาเข้าใช้ในการรักษา สำหรับโรคมะเร็ง สปสช. ก็มีคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันคัดกรองว่าควรใช้ยาตัวไหนในการรักษาเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับโรคมะเร็ง   

จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมพบว่ามียาที่ดีและยังไม่ได้อยู่ในระบบอีก 43 ตัว ซึ่งถ้าเราจะจ่ายทั้งหมดก็ประมาณ 3,500 ล้านบาท แต่ว่าเมื่อลงไปดูมีเพียงบางตัวเท่านั้นที่ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งคิดเป็น 80-90% จากทั้งหมด ดังนั้นยาที่แพงจริงๆ มีอยู่ไม่กี่ตัว ซึ่งภายใต้โครงการมะเร็งไปรักษาที่ไหนก็ได้ มันต้องมียาและการบริการที่ดีด้วย”

ขณะนี้มีคณะทำงานในการจัดระบบเรื่องยากำลังดำเนินการอยู่ก็ต้องดูว่าจะขับเคลื่อนต่ออย่างไร ซึ่งทั้งหมดก็จะเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการ สปสช. ภายในปีนี้

หากตามข่าวช่วงที่ผ่านมาทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สธ. ได้ของบเพิ่มในการซื้อเครื่องฉายรังสีกระจายไปอีก 7 แห่งทั่วไปประเทศ เพราะจากการสำรวจพบว่า การรอคิวที่ยาวนานเป็นเพราะว่าการฉายรังสี ดังนั้นถ้าหากเราสามารถจัดบริการที่มีราคาแพงและรอต้องรอนานอย่างรังสีให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และจัดยาที่ดีมีคุณภาพเข้าสู่ระบบได้ ก็จะสามารถลดภาระให้กับผู้ป่วยได้มาก เลขาธิการ สปสช. ระบุ

อย่างไรก็ตาม  โรคมะเร็งยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ สปสช. พยายามหาวิธีที่จะป้องกันมากกว่าจะไปรักษา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นมาตรการที่ดีสุด เพราะสำหรับบางอวัยวะสามารถป้องกันได้หากตรวจพบได้ทันท่วงที

สุดท้ายอยากฝากว่า ตั้งแต่ก่อนเป็นมะเร็งประชาชนควรดูในเรื่องการป้องกันก่อน โดยเรามีมาตรการหลายตัวที่อยากจะแนะนำ เช่น การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใกล้บ้านได้เลย หรือถ้าหากสงสัยต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถโทรมาที่ สายด่วน สปสช. 1330 ได้เลย นพ.จเด็จ กล่าว