ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบาย "บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกที่" เป็นหนึ่งในนโยบายที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2565 แก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวหรือต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง

ผ่านมาแล้ว 3 เดือนสำหรับนโยบายดังกล่าว โรงพยาบาลที่รับนโยบายไปปฏิบัติมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร มีผู้ไปรับบริการมากน้อยเพียงได้ วันนี้ “The Coverage” พามาดูตัวอย่างประสบการณ์จากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ที่รองรับผู้ป่วยในเขต อ.พระนครศรีอยุธยา ตลอดจนรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วทั้งจังหวัดตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง

นพ.จักรี สาริกานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เล่าว่า เมื่อมีนโยบายนี้ออกมา ทางโรงพยาบาลได้สื่อสารภายในกับ Core Team และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเพื่อรับทราบนโยบาย ขณะเดียวกันก็สื่อสารกับประชาชนให้ทราบถึงนโยบายดังกล่าว ทั้งการติดป้ายประชาสัมพันธ์ ผ่านเว็บไซต์ การแจ้งผู้ป่วย ณ จุดคัดแยก

ในส่วนขั้นตอนการปฏิบัตินั้น เมื่อมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองจากนอกพื้นที่ เช่น จากต่างอำเภอ หรือจากต่างจังหวัดเข้ามารับบริการ ผู้ป่วยจะมาที่จุดคัดแยกก่อน เพื่อคัดกรองผู้ป่วยอาการรุนแรงไปเข้าห้องฉุกเฉิน ส่วนกลุ่มที่มีอาการเจ็บป่วยไม่มาก จะส่งไปที่ห้องบัตรเพื่อตรวจสอบสิทธิ ถ้าผู้ป่วยรายนั้นเป็นสิทธิบัตรทองจากนอกพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา ก็จะได้รหัสเป็น UQ จากนั้นก็พิมพ์เอกสารให้ผู้ป่วยนำไปยื่นที่ห้องตรวจและเข้าสู่กระบวนการซักประวัติ พบแพทย์ รับยาตามกระบวนการปกติ

"แต่ก่อนผู้ป่วยที่อยู่นอกพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา พอตรวจสอบสิทธิแล้ว ระบบจะแจ้งว่าเป็นสิทธิที่ต้องชำระเงิน แต่ต่อจากนี้จะไม่มีคำว่าชำระเงินแล้ว จะขึ้นรหัสสิทธิเป็น UQ แทน ซึ่งจะรับบริการฟรี ไม่ต้องจ่ายเงินเอง และเรายังเน้นย้ำห้องบัตรด้วยว่าหากเมื่อไหร่ที่ระบบแจ้งขึ้นมาว่าให้ชำระเงิน อาจจะมีปัญหาผิดพลาดอะไรสักอย่าง ให้ตรวจสอบดีๆ ถ้าเป็นสิทธิบัตรทองต้องให้เขารับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย" นพ.จักรี กล่าว

สำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการนั้น นับตั้งแต่ที่เริ่มนโยบายนี้ สถิติผู้ป่วยบัตรทองนอกพื้นที่ที่มารับบริการในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 115 ราย เดือน ก.พ. 104 ราย และเดือน มี.ค. 60 ราย ถือว่าไม่ได้มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 1900 ราย/วัน และอาการเจ็บป่วยก็เป็นโรคทั่วไปที่ไม่มีอาการรุนแรง เช่น ปวดท้อง ลำไส้อักเสบ ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นผื่น และมีสถิติมารับบริการเฉลี่ยประมาณ 2 ครั้ง/ราย คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มคนที่มาทำงานใน อ.พระนครศรีอยุธยาเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ทำงานประจำระยะยาวอยู่ในพื้นที่

ถ้าดูตัวเลขจำนวนผู้รับบริการก็ถือว่าไม่ได้มาก แต่เป็นประโยชน์ ทำให้คนที่ไปไหนมาไหนแล้วมีเหตุต้องรับการรักษาพยาบาลสามารถเข้ามาใช้บริการได้เลย หรือหากมีโรคที่ต้องดูแลต่อเนื่องก็จะได้รับการดูแลโดยใช้สิทธิ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้ดีมากขึ้น ส่วนปัญหาในทางปฏิบัติที่เจอขณะนี้คงเป็นส่วนของโรงพยาบาลเองที่ต้องปรับรหัสยา รหัสหัตถการ หรือรหัสเวชภัณฑ์อื่นๆ ให้ตรงกับรหัสที่ใช้ในระบบ e-Claim เคลม ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้การเรียกเก็บเงินชดเชยค่าบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นางอ่อนน้อม ธูปะวิโรจน์ หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาลผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เล่าว่า ในตอนแรกคาดการณ์ว่าเมื่อเปิดให้สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ทุกที่แล้ว จะมีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก และมีการวางแผนกันว่าจะจัดระบบบริการอย่างไรไม่ให้เกิดความแออัด แต่ปรากฎว่าเมื่อดำเนินการจริง คนไข้จากต่างพื้นที่ไม่ได้มารับบริการมากอย่างที่คิดเพราะส่วนใหญ่คนไข้เคยไปรักษาที่ไหนก็จะไปที่นั่น จะมีก็เพียงบางส่วนที่มาในพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา เป็นการชั่วคราว เช่น มาเที่ยว มาหาลูกหลาน ทำให้สามารถให้บริการไปได้ตามที่เคยทำปกติโดยไม่ต้องปรับระบบอะไรมากมายนัก

อย่างไรก็ดี จากการดำเนินงานมาได้ 3 เดือน ก็ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติบ้างเล็กน้อย คือปัญหาการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลที่แต่ละแห่งใช้ระบบ HIS แตกต่างกัน ทำให้ไม่เห็นข้อมูลภาวะสุขภาพของผู้ป่วยที่มารับบริการ ซึ่งประเด็นนี้ได้มีการหารือกันในระดับจังหวัดแล้ว โดยจะหาโปรแกรมกลางมาเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ส่วนในการรักษา หากเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องทานยาต่อเนื่องก็จะดูจากประวัติยาเก่าที่คนไข้ถือมา โรงพยาบาลจะจ่ายยาตามที่ผู้ป่วยเคยทานไปจำนวนหนึ่งก่อนเพื่อจะได้รับยาต่อเนื่อง จากนั้นค่อยกลับไปรักษาในโรงพยาบาลที่ไปใช้บริการประจำ ส่วนโรคทั่วไปอื่นๆ ก็จะจ่ายยาไปตามอาการ

"สิ่งที่อยากเห็นการปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อให้นโยบายนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็คือเรื่องระบบข้อมูลแบบไร้รอยต่อ เพื่อที่ว่าจะได้เห็นปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนและคาดเดาแนวโน้มได้ อย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เมื่อมารับบริการเราจะได้ปรับยาได้ถูก รวมทั้งเรื่องการจ่ายชดเชยค่าบริการซึ่งตอนนี้จ่ายแบบ Fee schedule ทำอย่างไรให้เคลมแล้วโรงพยาบาลได้ต้นทุนกลับมา เพราะบางกิจกรรม บางรายการ ให้บริการไปแล้วเคลมไม่ได้ก็มี" นางอ่อนน้อม กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากโรงพยาบาลที่ให้บริการสิทธิบัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้แล้ว หน่วยบริการปฐมภูมิอย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็สามารถไปรับบริการได้ทุกที่เช่นเดียวกัน อย่างเช่น รพ.สต.วัดพระญาติการาม เครือข่ายบริการของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากนอกพื้นที่มารับบริการเช่นกัน

นางสุนทรี กันสุวีโร ผู้อำนวยการ รพ.สต.วัดพระญาติการาม กล่าวว่า รพ.สต.วัดพระญาติการาม นอกจากผู้รับบริการในพื้นที่แล้ว ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่มาจากต่างพื้นที่ด้วย เช่น คนที่ย้ายถิ่นมาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ไม่ได้ย้ายสิทธิมาด้วย เมื่อเจ็บป่วยก็มักมารับบริการที่นี่ ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่มาจากต่างพื้นที่ต้องชำระเงินค่ารักษาเอง ทำให้ผู้ป่วยบางรายฐานะไม่ดีมีปัญหาค่าใช้จ่าย แต่เมื่อมีโครงการนี้แล้วจึงเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างดี

"ส่วนมากที่มาจะเป็นผู้ป่วยโรคทั่วไป โรคเรื้อรัง หรืออุบัติเหตุก็มี ซึ่งเราก็ให้บริการเหมือนกัน ไม่ได้แบ่งแยกว่าใครสิทธิอะไร เพียงนำบัตรประชาชนมาใบเดียว เราตรวจสอบยืนยันตัวตนเสร็จแล้วไปเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่วนผู้ป่วยก็รักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย" นางสุนทรี กล่าว

ด้าน พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.สต.วัดพระญาติการาม กล่าวว่า รพ.สต.วัดพระญาติการาม เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีทั้งแพทย์ พยาบาล และทีมสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่พร้อมให้บริการตรวจแบบผู้ป่วยนอก และติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งโดยเจตนารมณ์ของหน่วยบริการปฐมภูมิคือดูแลประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ แต่ในปัจจุบันผู้คนใช้ชีวิตหลากหลาย การคมนาคมสะดวก สามารถเดินทางจากจังหวัดใกล้ๆได้ง่าย ทำให้บางคนใช้ชีวิตในหลายจังหวัด หรือมีลักษณะอาชีพที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัด เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยที่มารับบริการส่วนหนึ่งคือผู้ป่วยที่มีสิทธิอยู่ในจังหวัดอื่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่จึงเป็นโครงการที่ดีมากในการทำให้คนที่ใช้ชีวิตในลักษณะดังกล่าวได้รับการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นางสุพรรณี ดีทะโชติ ประชาชนผู้มาเข้าใช้บริการ เปิดเผยว่า เดิมสิทธิของตนอยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.นครราชสีมา แต่ปัจจุบันได้ย้ายถิ่นฐานมาทำงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงเลือกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเพราะใกล้ที่สุด ซึ่งแม้ตนเองจะย้ายมาจากจังหวัดอื่นและไม่ได้ทำการย้ายสิทธิใดๆ ก็ยังสามารถรักษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายได้เหมือนเดิม สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการก็ไม่ต่างไปจากการรับบริการที่เคยใช้ เช่น มีการตรวจสอบสิทธิ ซักประวัติ ฯลฯ ซึ่งทำให้สะดวกสบายมากขึ้นในการเข้ารับการรักษา ไม่ต้องกลับไปใช้สิทธิตามที่ลงทะเบียนไว้เพียงแห่งเดียว

“เราคิดว่าโครงการนี้ดีมากสำหรับคนที่ต้องย้ายถิ่นฐานทำมาหากิน แต่ยังไม่ได้ย้ายสิทธิการรักษามาด้วย เพราะตอนแรกก็มีความกังวลเหมือนกันว่าอาการป่วยมันเกิดขึ้นตอนนี้แต่สิทธิยังอยู่ที่เดิม ต้องกลับไปรักษาตามนั้นไหม แต่พอมารับการรักษาปรากฎว่าก็ฟรีไม่เสียอะไรเลย” นางสุพรรณี ระบุ

ด้าน นายสุริยะ เขียวมณี ประชาชนผู้ใช้บริการอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า พึ่งเคยมาใช้สิทธิ “30 บาทรักษาทุกที่” ที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เดิมอาศัยและทำงานอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย การรับบริการการรักษาจะใช้อยู่ที่นั่นเป็นหลัก แต่ด้วยลักษณะงานที่ทำจะอยู่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ และครั้งนี้ก็เช่นกัน ซึ่งระหว่างทำงานเกิดอาการป่วยกระทันหันจึงเลือกมารับการรักษาที่นี่ เพราะใกล้สถานที่ทำงานมากที่สุด

สำหรับมาตรฐานการบริการค่อนข้างดีมีความสะดวกสบาย ไม่ค่อยมีความแออัด การรอคิวหรือขั้นตอนเป็นไปตามปกติ ไม่มีอะไรติดขัดหรือซับซ้อน โดยการใช้สิทธิตามนโยบายดังกล่าวครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายส่วนใดเพิ่มเลย