ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากอิงตามมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่เห็นชอบแผนบริหารจัดการโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 ประกอบด้วย ระยะที่ 1 “Combatting” (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เป็นระยะต่อสู้ ต้องกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง โดยจะมีมาตรการต่างๆ ออกไป

ระยะที่ 2 “Plateau” (เม.ย.-พ.ค.) เป็นการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ ระยะที่ 3 “Declining” (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เป็นการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000 - 2,000 ราย และระยะที่ 4 บวก 1 “Post pandemic” (1 ก.ค. เป็นต้นไป) เป็นการออกจากโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่น

ประเทศไทยในขณะนี้ (เม.ย.-พ.ค.) จึงกำลังอยู่ในช่วง “Plateau” หรือการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้กราฟเป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ นั่นเอง

อย่าเข้าใจว่า โรคประจำถิ่น” ไม่น่ากลัว

ขณะเดียวกัน นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 ระบุตอนหนึ่งว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม ATK สูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก และอันดับที่ 3 ของเอเชีย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ซึ่งเท่าที่ติดตามข้อมูลมา ไทยจะติดอันดับท็อป 10 ของโลกติดต่อกันยาวนานถึง 39 วันแล้ว ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันติดอันดับท็อป 10 ของโลกมาต่อเนื่องถึง 10 วัน

ทั้งนี้ นพ.ธีระ ได้ย้ำเตือนเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น โดยระบุว่า ไม่ควรนำมาใช้ทำแคมเปญให้เข้าใจเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “เป็นโรคธรรมดา ไม่น่ากลัว ไม่ต้องสนใจ และไม่ต้องกังวลอีกต่อไป”

หากเพราะความหมายของโรคประจำถิ่นนั้น แท้จริงแล้วหมายถึงโรคที่ถูกระบุว่าพบได้บ่อย หากใครจะเดินทางไปยังพื้นที่ ดินแดน หรือประเทศนั้น และมักจะถูกใช้เมื่อเจอโรคนั้นเป็นประจำในถิ่นนั้น โดยรู้ว่ามีอัตราการติดเชื้อเพียงใดในลักษณะที่คงที่ ซึ่งอาจมากน้อยตามฤดูกาล และสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของเชื้อได้ดีในระดับหนึ่ง เพื่อวางแผนการรับมือไม่ให้เกิดการระบาดจนเกินควบคุม

นพ.ธีระ ยกตัวอย่างโรคประจำถิ่นในบางทวีปหรือประเทศ เช่น ไข้เหลือง อีโบลา ฯลฯ ที่พบมากในแอฟริกา ซึ่งก็ทำให้เกิดการติดเชื้อและยังมีอัตราเสียชีวิตสูง ไม่เว้นแม้แต่ วัณโรค มาลาเรีย ที่พบว่าเป็นโรคประจำถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ที่เป็นแล้วรุนแรงจนเสียชีวิตได้

นพ.ธีระ ยังสะท้อนอีกว่า หากติดตามความเคลื่อนไหวในเครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วงที่ผ่านมาจะพบว่ามีความ “น่าเป็นห่วง” เนื่องจากมีแนวโน้มความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าโควิด-19 จะกลายเป็นหวัดธรรมดา กระจอก เป็นโรคประจำถิ่นโดยไม่ต้องกังวลหรือป้องกันตัว

“ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ในภาพรวมเรามีจำนวนการติดเชื้อมาก และมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ดังนั้นคนที่จะเดินทางมาก็ย่อมตระหนักดีว่ากำลังเข้าสู่พื้นที่ประเทศที่มีโอกาสติดเชื้อสูง แปลแบบบ้านๆ คือ แดนดงโรค หรือถิ่นที่มีโรคนั้นชุกชุม หรือ endemic area” นพ.ธีระ อธิบาย

ย้ำ “โควิด-19” ยังไม่เข้าข่ายโรคประจำถิ่น

สอดคล้องกับ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ตอนหนึ่งว่า โรคประจำถิ่นยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง เช่น โรคมาลาเรีย ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังคร่าชีวิตคนปีละกว่า 4 แสนราย หรือบางโรคเริ่มเป็นการติดเชื้อ Herpes ซึ่งอาจพบได้มากครึ่งหนึ่งของประชากรบางพื้นที่ เพียงแต่มีอาการไม่มากนัก

“ในเวลานี้การติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายของการเป็นโรคประจำท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังมีโอกาส แม้จะดูไม่มากที่อาจจะกลับไปเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีก จึงยังไม่อยากให้ประมาท ที่สำคัญนิยามโรคประจำท้องถิ่นก็ไม่ได้เหมือนกันหมด” ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ

นอกจากนี้ หลายประเทศเริ่มมีนโยบายเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยนำเงินสำรองออกมากมายเพื่อใช้ในการต่อสู้เอาชนะไวรัส รักษาสุขภาพของประชากรในประเทศตัวเอง ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าหลายประเทศต่างดำเนินกลยุทธ์ที่จะเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจ ผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ เช่นเดียวกันกับไทยก็ที่กำลังจะยกเลิกมาตรการ Test & Go ก่อนเข้าประเทศ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ค.นี้

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ดร.ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกมาเตือนอย่างเป็นทางการว่า โควิด-19 ยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ของการเป็นโรคประจำถิ่น แม้จะมีแนวโน้มไปในทิศทางดังกล่าว “แต่ยังไม่ใช่” และอาจจะเกิดการกลายพันธุ์รวมไปถึงการระบาดอีกมากมายได้อีก

“อย่าเชื่อว่าการเป็นโรคประจำถิ่นเท่ากับการระบาดสิ้นสุด ไม่รุนแรง หรือไม่ใช่ปัญหา” ดร.ไมเคิล เน้นย้ำ

เชื่อถึงเวลาเปิดประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจ

ล่าสุด.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรสาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ได้เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า หากเทียบในระดับโลกแล้ว จำนวนการติดเชื้อของประเทศไทย แม้จะมีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต้นๆ ของโลกที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูง ซึ่งสถิติเหล่าอาจสะท้อนอะไรได้ยาก เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงยากที่จะนำมาเปรียบเทียบและประเมิน

“ประชาชนควรเข้าใจว่าสถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป โดยครั้งหนึ่งรัฐบาลเคยใช้มาตรการเข้มงวดมาก แต่ขณะนี้ก็มีการผ่อนคลายมาเรื่อยๆ หากพบการติดเชื้อและมีอาการไม่รุนแรง ก็ดำเนินตามมาตรการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งสถานการณ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์นั้น เช่น หากเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อก็ควรที่จะต้องเฝ้าระวัง” ศ.นพ.วีระศักดิ์ อธิบาย

อย่างไรก็ดี สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นบ้าง แต่อยู่ในระดับที่ไม่มาก และจะลดลงตามลำดับ สอดคล้องกับลักษณะทั่วไปของการระบาด ส่วนในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จนถึงตอนนั้นค่อยมีการวางแผนรับมือกันใหม่

ศ.นพ.วีระศักดิ์ ยังสะท้อนถึงมุมมองส่วนตัว ที่เชื่อว่าไทยน่าจะทำการเปิดประเทศได้แล้ว เพราะขณะนี้ทั่วโลกไม่มีประเทศใดที่ระบาดร้ายแรง และจะนำเชื้อร้ายแรงเป็นพิเศษมาให้ ในทางกลับกันอาจมีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า

“อย่างไรก็ตามหากเปิดรับการเดินทางเข้ามาภายในประเทศไทย แล้วเกิดการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของชาวต่างชาติที่จะมาเยือนที่ไทยอีกด้วย ดังนั้นการเปิดประเทศก็ควรมีมาตรการในการควบคุมอย่างเหมาะสม และไม่หละหลวมจนเกินไปด้วยเช่นกัน” ศ.นพ.วีระศักดิ์ ทิ้งท้าย

สธ.เตรียมรับมือเปิดประเทศรูปแบบใหม่ 1 พ.ค.นี้

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ก็ออกมาเปิดเผยถึงแนวโน้มการระบาด รวมไปถึงการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นของโควิด-19 และการยกเลิก Test & Go เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 ตอนหนึ่งว่า หลังจากผ่านเทศกาลสงกรานต์มาแล้ว 10 วัน พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มลดลง

เช่นเดียวกันกับการใช้เครื่องช่วยหายใจ ห้องไอซียู ยาต้านไวรัส ฯลฯ ซึ่งถือว่ามีแนวโน้มที่ดี และหากไม่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสในช่วงระยะเวลานี้ จึงคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการรุนแรง รวมทั้งผู้เสียชีวิต ก็น่าจะลดลงภายในระยะเวลาอันใกล้

รมว.สธ. ระบุว่า ในส่วนของการปรับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น มีความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อเนื่อง อันเห็นได้จากมาตรการต่างๆ ที่เริ่มลดลง เช่น ผู้เดินทางจากต่างประเทศ จากเดิมตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ได้ลดเหลือครั้งเดียว ไปจนถึงยกเลิกการตรวจ RT-PCR และยกเลิก Test &Go เหลือเพียงตรวจ ATK ครั้งเดียว ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 พ.ค.นี้

“หลังจากดำเนินการไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ หากประเมินแล้วไม่ส่งผลกระทบทำให้มีการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ก็อาจยกเลิกการตรวจ ATK และ Thailand Pass ต่อไป ส่วนการขับเคลื่อนสู่โรคประจำถิ่น คงดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในมาตรฐานเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน” อนุทิน ระบุ