ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“47” คือตัวเลขของผู้ป่วย “มะเร็งปอดรายใหม่” ต่อวันในประเทศไทย และทุกๆ 18 วินาทีจะมีผู้ป่วย 1 ราย ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด

มะเร็งปอดถ้ารู้ได้เร็ว ก่อนที่จะลุกลามเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้คนไข้มีโอกาสรอดชีวิตสูง นี่คำพูดจาก นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) อธิบายหลังจากเปิดตัวนำร่องโครงการ “ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด” เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา

นพ.พรเทพ ขยายความว่า โรคมะเร็งปอดผู้ป่วยมักตรวจพบในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการ คือในสภาวะที่โรคลุกลามแล้ว ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร รวมไปถึงมีโอกาสรักษาหายจากโรคน้อยและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ฉะนั้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

มากไปกว่านั้น นพ.พรเทพ ยังได้อธิบายถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในอดีตให้ฟังอีกว่า เดิมทีการเอกซเรย์เพื่อดูมะเร็งปอดก็มีข้อจำกัด เนื่องจากเมื่อเอกซเรย์เสร็จแล้วจะต้องนำฟิล์มที่ได้ไปให้รังสีแพทย์อ่านฟิล์ม ซึ่งต้องใช้เวลาในระดับหนึ่ง หลายเคสต้องต่อคิว แน่นอนว่าการจะอ่านฟิล์มผู้ป่วยเป็นจำนวนมากนั้นเป็นไปได้ยาก

ขณะเดียวกันการจะตามผู้ป่วยเข้ามาคัดกรองมะเร็งปอดก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเช่นกันคล้ายๆ กับการตามผู้หญิงมาขึ้นขาหยั่งเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมไปถึงเดิมทีการจะเข้าไปเอกซเรย์นั้นประชาชนจะต้องขับรถ หรือเดินทางเข้าไปในสถานพยาบาล ต่อคิวเอกซเรย์ ซึ่งการต่อคิวก็จะต้องต่อกับผู้ป่วยโรคปอดอื่นๆ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ป่วยกระดูกขาหัก จนทำให้หลายคนรู้สึกว่าไม่ไปดีกว่า

จากข้อจำกัดดังกล่าวผนวกกับการวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ของประชาชน-คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ทำให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วพยายามที่จะนำอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเช่นเครื่องเอกซเรย์เข้าไปตั้งกลางห้างสรรพสินค้า เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทยได้มากขึ้น

นั่นคือการประยุกต์เครื่องเอกเรย์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-Dose CT) เข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถรู้ผลได้ภายในระยะเพียง 3 นาที ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น บริษัทแอสตร้าเซเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่สนับสนุนระบบ AI สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้การพัฒนาอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ (Digital Health) รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

ความยากคือการเข้าถึง แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดด้วยการนำเครื่องนี้มาตั้งที่ห้างสรรพสินค้า และทำให้มันรวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไปก็จะตอบโจทย์ให้คนได้เอกซเรย์ปอดมากขึ้นเรื่อยๆ นพ.พรเทพ ระบุ

นพ.พรเทพ อธิบายถึงการทำงานของระบบดังกล่าวว่า เป็นการใช้เครื่องเอกเรย์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ ขนาดเครื่องไม่ได้ใหญ่ สามารถเอกซเรย์ปอดได้ถึง 50 ครั้งต่อคนต่อปี สามารถตั้งได้กลางห้างโดยที่ไม่ต้องกังวล เมื่อเอกซเรย์เสร็จภาพที่ได้จะเป็นภาพดิจิทัล สามารถส่งขึ้นระบบคลาวด์ให้ AI ประมวลผลภาพ และวิเคราะห์ออกมาอย่างละเอียด จากนั้นก็จะแจ้งผลให้แพทย์-ผู้ป่วยได้ทราบ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นผู้ป่วยก็จะสามารถไปเข้ารับการตรวจสาเหตุเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไปได้

สำหรับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว นับว่าเป็นโรงพยาบาลรัฐแรกที่และแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการบริหารจัดการในรูปแบบองค์การมหาชน ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 ซึ่งมีภารกิจดำเนินการตอนหนึ่งว่าจะต้องจัดทำบริการหลายๆ อย่างที่จะเป็นต้นแบบแก่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือระบบสาธารณสุขของประเทศ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องคิดอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างกับระบบสาธารณสุขเดิมให้ได้

นพ.พรเทพ อธิบายอีกว่า ปัญหาเดิมๆ ของระบบสาธารณสุขคือชอบอยู่กับที่ ไม่ออกเชิงรุก ขณะเดียวกันหากเรานำเครื่องตรวจเอกซเรย์ และ AI ตัวนี้อยู่ในโรงพยาบาลเหมือนเดิม แน่นอนว่าประชาชนก็จะเข้าถึงยากเหมือนเดิม แต่วันนี้เรานำเทคโนโลยีที่เร็ว และดีมาตั้งไว้ในห้าง เชิญชวนให้ผู้ที่เดินนั้นเข้ามารับบริการโดยใช้เวลาแค่ 3 นาที ซึ่งบางครั้งเร็วกว่าการรอกาแฟ และประชาชนมีโอกาสเข้าถึงได้สูงกว่า ส่วนนี้จึงเป็นการบริการเชิงรุกที่บ้านแพ้วมองภาพแตกต่างออกมา

มากไปกว่านั้น ก็มีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถนำเทคโนโลยีตรงนี้เข้าไปใช้ได้ ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งมีเครื่องเอกซเรย์แล้ว แต่ไม่มีรังสีแพทย์ ขณะเดียวกันหากมีการนำระบบ AI ตรงนี้เข้าไปผนวกเปิดบริการให้ประชาชนสามารถเข้ารับการคัดกรองที่โรงพยาบาลนั้นได้เข้าถึงการตรวจคัดกรองได้รวดเร็วขึ้น แน่นอนว่าโรงพยาบาลในระบบ สธ. ทำได้หมด

นพ.พรเทพ เล่าถึงความคาดหวังในการทำโครงการนี้ว่าหากเป็นไปได้ก็อยากเห็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หยิบโครงการนี้ไปคัดกรองให้แก่ประชาชน เหมือนกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ซึ่งส่วนตัวก็ได้มีการวิเคราะห์ว่ามะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันหนึ่งของผู้หญิง และมะเร็งปาดมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สองของผู้หญิง แต่มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองของผู้ชาย แต่ สปสช. ยังไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย ส่วนตัวก็มองอีกว่าโครงการนี้น่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะลงทุนต่ำ และไม่ได้ใช้บุคลากรมาก

สำหรับโครงการ “ตรวจไว สู้ภัยมะเร็งปอด” เป็นโครงการนำร่องของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว โดยมีเป้าหมาย 1. หลายคนไม่อยากไปโรงพยาบาล แต่การมาที่ห้างนั้นง่ายกว่าเพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป 2. ใช้เวลาเพียง 3 นาทีในการรู้ผล 3. ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการ 4 หมื่นคน โดยการร่วมมือกับเซ็นทรัล โดยจะเริ่มต้นจากเซ็นทรัลเวิลด์ในวันที่ 20-24 เม.ย. 2565 จากนั้นก็จะไปตั้งที่สาขาอื่น ซึ่งจะเริ่มจากในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อน

“โรงพยาบาลบ้านแพ้วจะทำโครงการนี้อย่างเต็มที่ก่อน แต่หลังจากนั้นเราต้องให้โครงการเป็นของกระทรวงฯ ที่อาจจะเป็นนโยบายต่อไป ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องพูดคุยกับทางด้านกระทรวงอีกครั้งว่าสามารถจะนำนโยบาย เครื่องมือนี้เข้าไปใช้ช่วยประชาชนได้อย่างไร” นพ.พรเทพ ระบุ

วันเดียวกันนั้น นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์จากการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยพัฒนาการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด เพื่อเสริมศักยภาพการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยให้มีความแม่นยำและรวดเร็ว

“แอสตร้าเซนเนก้าพร้อมเดินหน้าประสานความร่วมมือกับ หน่วยงานด้านสาธารณสุข องค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาเสริมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางแพทย์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ประชาชนคนไทย” ประธานบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ระบุ

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สธ. กล่าวว่า สธ. มุ่งมั่นพัฒนาการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยกำหนดนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่” (Cancer Anywhere) เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา พร้อมกับพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในการให้บริการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาในหน่วยบริการใกล้บ้านทั่วประเทศ ซึ่งโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของไทย โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด หนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ในระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่โรคลุกลามแล้วส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร มีโอกาสรักษาหายน้อยและมีอัตราการเสียชีวิตสูง การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

“การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเป็นสิ่งสำคัญ จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ควรสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้ห่างไกลจากโรค การสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย และเข้ารับการตรวจสุขภาพหรือการคัดกรองเป็นประจำทุกปี” นายอนุทิน กล่าว