ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยรายงานถึงเรื่องราวที่มีการพบผู้ป่วย ซึ่งหายป่วยจากอาการ Long Covid ด้วยการใช้ยา Paxlovid จากไฟเซอร์ จำนวน 2 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นนักวิจัยที่ทำการทดลองใช้ยาด้วยตัวเอง เพื่อค้นหาหลักฐานทางการแพทย์ถึงผลของตัวยาที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วย Long Covid ที่เจ็บป่วยจากอาการตกค้างภายหลังหายจากไวรัสโควิด-19

นักวิจัยที่ทดลองใช้ยา Paxlovid ด้วยตนเอง เล่าว่า เธอมีอาการเหนื่อยล้าง่ายแบบเรื้อรัง และมีความรู้สึกเหมือนถูก “รถบรรทุกพุ่งชน” อยู่เสมอ แต่ภายหลังทดลองใช้ยา Paxlovid อาการดังกล่าวก็หายไป

ในเวลานี้อาการ Long Covid กำลังเป็นวิกฤตทางสุขภาพที่อันตราย จากการคาดการณ์ว่าผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 กว่า 30% จะต้องเผชิญกับอาการนี้ โดยที่อาการ Long Covid สามารถอยู่กับร่างกายได้ยาวนานนับเดือน ส่งผลให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน รวมถึงรบกวนการทำงาน

ปัจจุบันมีอาการเจ็บป่วยกว่า 200 อาการ ที่ถูกนับรวมเข้าไปอยู่ในกลุ่มอาการของ Long Covid ตั้งแต่อาการเจ็บปวดตามร่างกาย เหนื่อยล้า สมองล้า หายใจลำบาก ไปจนถึงอาการเหนื่อยง่ายแม้จะทำกิจกรรมทางร่างกายเพียงเล็กน้อย

ดร.สตีเฟ่น ดีกส์ ศาสตราจารย์เภสัชศาสตร์จาก University of California, San Francisco (USSF) และผู้เชี่ยวชาญด้าน HIV ระบุว่า บริษัทยามักพยายามลดการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยรายย่อย หากแต่ผลการศึกษาจากผู้ป่วยเป็นรายๆ แบบนี้ จะมีส่วนช่วยที่สำคัญต่อการค้นหาวิธีการรักษา HIV และเชื่อว่ากรณีของ Paxlovid กับผู้ป่วย Long Covid ก็น่าจะสามารถใช้มุมมองแบบเดียวกันได้

“นี่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่า เราต้องรีบทำการศึกษาการรักษาไวรัสเชิงบริบท ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้” ดีกส์ ระบุภายหลังมีตัวอย่างของผู้ป่วยที่หายจากอาการ Long Covid ด้วยการใช้ยา Paxlovid

อย่างไรก็ดีบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างมองว่า รายงานถึงผลลัพธ์ในเชิงบวกของการใช้ยา Paxlovid ทั้งหลาย อาจจะเป็นเพียงสิ่งที่เกิดจาก “สมมติฐาน” เท่านั้น และไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่าตัวยาสามารถรักษาอาการป่วยได้ หากแต่นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ก็ได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า อาการ Long Covid นั้นเกิดจากการหลงเหลือของเชื้อไวรัสในร่างกาย ซึ่งยังสามารถหลงเหลืออยู่ได้แม้หายจากอาการป่วยไปแล้วเป็นเวลาหลายเดือน อันก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่รบกวนชีวิตประจำวัน นอกเหนือไปจากอาการป่วยตามปกติ

หลักฐานชิ้นที่สำคัญที่สุดมาจากงานศึกษาของ “สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ” (National Institutes of Health) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยงานศึกษาชิ้นนี้นักวิจัยได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 44 ร่าง จนพบว่าเชื้อโควิด-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย รวมกระทั่งสมอง ซึ่งเชื้อสามารถอยู่ในร่างกายได้นานกว่า 7 เดือน แม้ว่าอาการป่วยโดยทั่วไปจะหายดีแล้วก็ตาม

สำหรับ Paxlovid เป็นยาที่บริษัทไฟเซอร์ ได้ทำการผสมยาตัวใหม่เข้ากับยาต้านไวรัสเดิมที่มีอยู่อย่าง ritonavir โดยกำลังเป็นตัวยาที่ได้รับอนุญาตให้สามารถใช้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันแรกที่ตรวจพบ เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงต่างๆ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

คิต ลองลี่ โฆษกของไฟเซอร์ ยอมรับว่า ทางบริษัทเองยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยถึงเรื่องของ Long Covid ในขณะนี้ และยังไม่มีความเห็นใดๆ ต่อการวิจัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากแต่ไฟเซอร์ได้ทำการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของ Paxlovid ไปแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งการทดลองนี้อาจสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่องานศึกษาใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กระนั้นเองฟากฝั่งของบรรดาผู้ป่วยที่ต่างกำลังทนทุกข์กับอาการ Long Covid ซึ่งกินเวลานานหลายเดือน ก็กำลังเริ่มที่จะมีความไม่พอใจเกิดขึ้น เมื่อเห็นว่าในขณะที่พวกเขากำลังเจ็บป่วยจากอาการนี้ งานวิจัยเชิงเภสัชศาสตร์ที่ศึกษาอาการ Long Covid กลับกำลังขาดแคลนและมีจำนวนอยู่น้อยชิ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการทดลองทางคลินิกอยู่เพียงไม่เกิน 20 งานวิจัยเท่านั้น ที่กำลังศึกษาในเรื่องนี้ และเป็นการดำเนินโดยนักวิจัยอิสระหรือบริษัทยาขนาดเล็กเท่านั้น โดยมีงานเพียงไม่กี่ชิ้นที่สามารถให้ผลวิจัยออกมาเป็นที่น่าพอใจ

ไดอาน่า แบร์เรนท์ ผู้ก่อตั้ง grassroots COVID advocacy group Survivor Corps เป็นหนึ่งในหลายๆ ทีมวิจัยที่กำลัง “วิ่งเต้น” เพื่อให้รัฐบาลของประธานาธิบดี “โจ ไบเด็น” สนับสนุนทุนในการวิจัย

“พวกเราไม่ควรที่จะต้องทำการศึกษาวิจัยด้วยหลักฐานเชิงเรื่องเล่าต่างๆ ว่าคนนั้นหาย คนนี้หาย ด้วยยาอะไรก็ตามแต่ เพราะมันยังไม่ดีพอสำหรับการวิจัย” แบร์เรนท์ ระบุ

สำหรับรายงานฉบับหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติให้ตีพิมพ์ หลังผ่านการตรวจทานของผู้เชี่ยวชาญ พบว่าหญิงวัย 47 ปีรายหนึ่ง ที่มีสุขภาพดีและรับวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงฤดูร้อนของปี 2021 แม้อาการเจ็บป่วยโดยทั่วไปของเธอส่วนมาก จะหายไปตั้งแต่ 48 ชั่วโมงแรกของการพบเชื้อ แต่ภายหลังจากนั้นเธอกลับพบอาการตกค้างอื่นๆ เช่น เหนื่อยง่าย สมองล้า อ่อนเพลียแม้ทำกิจกรรมเพียงเล็กน้อย นอนไม่หลับ หัวใจเต้นแรง และเจ็บป่วยตามร่างกาย ซึ่งเมื่อทั้งหมดนี้รวมกันทำให้เธอแทบจะไม่สามารถทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ได้เลย

ทว่าหลังจากนั้นเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อเธอกลับมาติดเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง และอาการเจ็บป่วยต่างๆ เริ่มกลับมาปรากฎ ทางแพทย์จึงได้ทำการจ่ายยา Paxlovid ให้เธอใช้เป็นเวลา 5 วัน โดยในวันที่ 3 ของการใช้ยา เธอได้พบว่าอาการของเธอดีขึ้นเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอาการ Long Covid ทั้งหลายที่ตกค้างมาจากการติดเชื้อครั้งแรก

“เธอหายเป็นปกติเลยทีเดียว เพราะได้รับ Paxlovid” เป็นการวิเคราะห์จาก ดร.ลินดา เกง ผู้อำนวยการร่วมของ Stanford Health Care's long COVID clinic ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าว

ขณะที่รายงานอีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ลวัลยา วิศวภารตี นักภูมิคุ้มกันวิทยาวัย 37 ปี ผู้ทำงานใน Northwestern Medicine's long COVID clinic ที่ได้ตรวจพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ในเดือนธันวาคม ปี 2021

แม้อาการโดยทั่วไปของเธอจะไม่ได้รุนแรงแต่อย่างใด หากแต่หลังจากนั้นเธอก็ประสบกับอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดหัว นอนไม่หลับ เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือนหลังการติดเชื้อ โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว เธอได้ผลจากชุดตรวจ rapid antigen tests เป็นผลบวกอยู่เสมอ ซึ่งนั่นหมายถึงการที่เชื้อยังคงอยู่ในตัวเธอ

กระนั้นเมื่อ วิศวภารตี รับรู้ถึงงานศึกษาของ NIH และ Stanford เธอจึงได้ตัดสินใจทดลองใช้ยา Paxlovid เพื่อดูว่าตัวเองจะได้ผลลัพธ์เหมือนกับที่งานศึกษาวิจัยได้ระบุเอาไว้หรือไม่ ซึ่งหลังจากใช้ Paxlovid เป็นเวลา 5 วัน ก็พบว่าอาการนอนไม่หลับ เหนื่อยอ่อน และปวดหัว ได้ลดลงให้เห็นอย่างชัดเจน และหลังจากนั้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ อาการทั้งหมดก็ได้หายไปโดยสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม วิศวภารตี ก็มองว่าการพิสูจน์ยา Paxlovid ว่าจะสามารถรักษาอาการต่างๆ ได้จริงหรือไม่นั้น ยังจำเป็นจะต้องทำการทดลองเชิงคลินิกอย่างระมัดระวัง

เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร.อิกอร์ คอรัลนิก หัวหน้าของ Northwestern Medicine's clinic ซึ่งทำงานศึกษาด้านผลของ Long Covid ต่อระบบประสาท ที่ระบุว่า มียาที่ใช้กันทั่วไปจำนวนมากอาจได้รับผลกระทบจากการใช้ ทั้ง Paxlovid และ ritonavir ดังนั้นยาสองตัวนี้จึงไม่สามารถที่จะใช้เองได้ตามใจชอบแต่อย่างใด

“Paxlovid ไม่ใช่ยาที่อ่อนโยน ดังนั้นต้องศึกษามันให้มากกว่านี้” เขาให้ความเห็น

อ้างอิง
https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/case-testing-pfizers-paxlovid-treating-long-covid-2022-04-18/