ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“มะเร็งปากมดลูก” นับเป็นภัยร้ายที่พบมากในหญิงไทยรองลงมาจากมะเร็งเต้านม หลักๆ แล้วมะเร็งปากมดลูกนั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) จากสถิติ ปี 2563 พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 9,000 ราย เสียชีวิตปีละ 4,700 ราย หรือเท่ากับว่าในแต่ละวันจะมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึง 13 คน

แน่นอนว่าระบบสาธารณสุขไทยไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เปิดให้หญิงไทยทุกคนทุกสิทธิสามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกันฟรีๆ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “แปปสเมียร์ (Pap Smear)” และอีกหนึ่งเทคนิคนั่นก็คือ “HPV DNA Test” ที่จะมีประสิทธิภาพความแม่นยำสูงกว่าเทคนิคแรก

ทว่าเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา จ.เลย ได้เริ่มโครงการเชิงรุก “รณรงค์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test” สำหรับหญิงไทยอายุ 30-60 ปีทุกสิทธิ เป็นการเพิ่มประสิทธิผลในการค้นหาผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น ไม่ให้เกิดการลุกลามของโรค ซึ่งก็เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.) ที่เห็นชอบให้เพิ่ม “สิทธิประโยชน์การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Test” ทดแทนการตรวจด้วยแปปสเมียร์ทุกนั่นเอง

ทว่า หากลองมองลึกไปถึงหน่วยบริการนั้นกลับมีรายละเอียดมากกว่านั้น เพราะการเปลี่ยนเทคนิคการตรวจนั้นงบประมาณที่สามารถเบิกจ่ายได้ “เท่าเดิม” คือตกราวๆ เกือบ 500 บาทต่อคน

The Coverage มีโอกาสจับเข่าคุยกับ พญ.ชนัดดา อ่อนช้อยสกุล หัวหน้ากลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ และพยาธิวิทยาคลินิก โรงพยาบาลเลย และนางสุวิมล จบดี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านโพนป่าแดง ต.เสี้ยว อ.เมืองเลย จ.เลย เพื่อฟังเสียสะท้อนถึงการทำงานที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงงบประมาณที่ตึงมือขึ้นกว่าเดิม

เทคนิคเปลี่ยน การทำงานก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

พญ.ชนัดดา อธิบายว่า หลังจากที่ สปสช. เปลี่ยนเทคนิคการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากแปปสเมียร์ เป็นเทคนิค HPV DNA Test นั้นทำให้การทำงานของห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะการตรวจด้วยเทคนิคแปปสเมียร์ จะเป็นการป้ายเซลล์ลงบนแผ่นสไลด์ เพื่อที่จะดูว่าเซลล์มีโอกาสเกิดเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ โดยจะใช้กำลังจากเจ้าหน้าที่ในการอ่าน และส่องกล้อง ซึ่งส่วนมากการจะพบในช่วงที่เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะแม้ว่าจะมีเชื้อก็ยังไม่สามารถบอกได้จนกว่าเชื้อไวรัสจะทำให้เซลล์เปลี่ยนรูปร่างเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ

แตกต่างจาก HPV DNA Test ที่จะสามารถตรวจเซลล์ได้เลยว่ามีไวรัสที่เป็นต้นกำเนิดของเซลล์มะเร็งหรือไม่ โดยจะใช้วิธีนำสิ่งส่งตรวจ (Specimen) เข้าเครื่องอ่านผล มีความไวและประสิทธิภาพแม่นยำมากกว่า หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วเชื้อไวรัสที่ว่าจะไม่มีทางเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้เลย เพราะการตรวจจะใช้วิธีตรวจ DNA นั่นทำให้การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถย่นระยะเวลาในการตรวจเจอเชื้อได้ก่อนเป็นเวลาหลายปี อย่างน้อยๆ ก็ประมาณสัก 4-5 ปี

“แต่ข้อเสียคือถ้าเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ดี เกิดการปนเปื้อนก็จะเสียได้ง่าย สมมติว่าทำ 90 ราย ถ้ามีการปนเปื้อนก็เสียทั้งหมดในรอบนั้นทั้ง 90 ราย” พญ.ชนัดดา ระบุ

เม็ดเงินที่เบิกได้เกือบเท่าราคาต้นทุน เมื่อเสียก็ขาดทุน

พญ.ชนัดดา สะท้อนให้เห็นภาพว่า ค่าตรวจที่ สปสช. ให้แทบจะเท่ากับต้นทุนของราคาน้ำยาซึ่งอาจจะมีช่องว่างนิดหน่อยราวๆ 10-20 บาท และตรงนี้จะไม่เป็นปัญหาหากการตรวจไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น ขณะเดียวกันหากสิ่งส่งตรวจที่เก็บมาเกิดความเสียหาย เช่น กระป๋องตก แตก โรงพยาบาลจะขาดทุนทันทีอย่างน้อย 100 บาท นับว่าเป็นเงินที่ค่อนข้างมากที่หน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจหรือแล็บจะเสียตรงนี้ไป ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน นั่นทำให้ควรจะมีช่องว่างเอาไว้เผื่อเสียสัก 10-20% เพื่อให้สามารถนำมาสนับสนุนในส่วนนี้ได้

“เดิมทีถ้าเราตรวจแปปสเมียร์ แล็บจะแค่ 100 บาท แต่พอมาเป็น HPV DNA Test ด้วยความที่ใช้เทคโนโลยี ใช้เครื่อง ต้นทุนจะอยู่ที่ 300-320 บาท” พญ.ชนัดดา กล่าว

พญ.ชนัดดา เล่าว่า หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น โรงพยาบาลก็จำเป็นจะต้องนำเงินบำรุงออกมาสนับสนุนในส่วนนี้ ซึ่งในความเป็นจริงการให้บริการไม่ได้มีการหวังกำไรอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นจะต้องให้องค์กรอยู่ได้ด้วย ซึ่งเงินบำรุงของโรงพยาบาลจะต้องใช้เป็นค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นค่าจ้างนอกเวลา หรือเป็นเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวด้วย

“ตรงนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ทางโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบเอง รวมไปถึงส่วนเหลือส่วนขาดที่เบิกไม่ได้เช่นกัน เราก็ต้องซัพพอร์ตให้” พญ.ชนัดดา ระบุ

มากไปกว่านั้น พญ. ชนัดดา เล่าต่อไปว่า เท่าที่ทราบเหมือนว่าขณะนี้ สปสช. จะลดค่าตรวจลงเหลือ 280 บาทต่อราย ถ้าเป็นเช่นนั้นโรงพยาบาลจะขาดทุนตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม ซึ่งก็มีการอุทธรณ์กันเพราะแบบนั้นไม่น่าจะไหว

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกระทบกับ รพ.สต. หรือหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยเช่นกัน แรกเริ่มเดิมทีนั้น รพ.สต. จะได้จากการคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ 150 บาทต่อราย เมื่อเป็น HPV DNA Test ตรงนี้จะเหลือเพียง 50 บาทต่อรายเท่านั้น หนำซ้ำยังต้องทำป้ายประชาสัมพันธ์ ทำสื่อ ทำให้ภาพรวมทั้งประชาสัมพันธ์ รณรงค์ติดขัด เพราะเขาก็ต้องใช้เงินของเขาทำเอง เนื่องจากไม่รู้จะไปเบิกกับใคร ส่วนตัวคาดว่าเงินที่ รพ.สต. ถูกหักไปคิดว่าน่าจะไปอยู่กับค่าแล็บ

“มันมีค่าใช้จ่ายแฝงหลายอย่าง เช่น ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าสื่อ ก็ควรต้องให้เขาด้วย จริงๆ มันมีส่วนอย่างอื่นอีกในเรื่องของการบริหารจัดการ ไม่ได้คีย์แล็บกับเก็บสิ่งส่งตรวจอย่างเดียว อันนี้เรายังไม่ได้นับรวมถึงค่าเครื่องมือที่ใช้ ตรงนี้โรงพยาบาลก็ซัพพอร์ตอยู่แล้วก็แทบไม่ได้อะไรเลย” พญ.ชนัดดา ระบุ

ขยายเกณฑ์คัดกรอง-งบประมาณครอบคลุมกลุ่ม Follow up

โครงการดังกล่าวเปิดโอกาสให้หญิงไทยอายุระหว่าง 30-60 ปี สามารถเข้าตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ แต่ พญ.ชนัดดา มองว่าควรจะต้องขยายออกไปให้ถึงกลุ่มอายุ 60-65 ปีเช่นกัน เพราะเมื่อก่อนกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิในการคัดกรองด้วย

ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ามาติดตามอาการ เพราะตามพยาธิสภาพของโรคจะต้องเข้ามาตรวจทุกๆ 5 ปี ซึ่งก็มีปัญหาอีกว่าผู้ป่วยที่เข้ามาตรวจและพบว่ามีโอกาสติดเชื้อจะต้องไปทำหัตถการเพิ่มเติม เช่น ทำลิควิดเบส ส่องกล้อง เมื่อต้องรักษาต่อโรงพยาบาลก็จะนัดผู้ป่วยเข้ามาทำ HPV Testing อีกครั้งในปีถัดไป หรืออาจจะต้องทุกๆ 6 เดือน

“ตรงนี้ก็ไม่ได้อยู่ในการสนับสนุนของ สปสช. คนไข้อาจจะต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งก็จะเป็นภาระของคนไข้ หรือถ้าคนไข้ไม่สามารถที่จะจ่ายเงินได้ก็จะเป็นภาระของโรงพยาบาลที่จะเข้ามาสนับสนุน เพราะเราก็ต้องทำให้คนไข้อยู่แล้ว

“การอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลในแต่ละปีไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น ยังมีอื่นๆ ด้วยที่เราไม่สามารถเบิกให้คนไข้ได้ ตกเป็นเม็ดเงินก็ล้านกว่าบาท” พญ.ชนัดดา ระบุ

พญ.ชนัดดา ทิ้งท้ายว่า จริงๆ ก็ต้องขอบคุณ สปสช. ที่ทำโครงการนี้ดีๆ ให้แก่ผู้ป่วย แต่ถ้าปรับได้ก็อยากให้มีการลงมาดูหน้างานบ่อยๆ เพื่อที่จะได้สะท้อนและเป็นปากเป็นเสียงให้กับเรา เพราะบางครั้งเราไม่มีโอกาสได้สะท้อนเลย เพราะภาระงานหนักจริงๆ

รพ.สต. หน่วยบริการที่ถูกหักแล้วหักอีก

นางสุวิมล เล่าว่า เดิมที รพ.สต. จะได้ค่าตอบแทนจากการตรวจคัดกรองด้วยเทคนิคแปปสเมียร์ อยู่ราว 250 บาทต่อราย ไม่ใช่ 100 บาทต่อรายที่ สปสช.จะเคลมคืนเป็นการจ่ายตามรายการที่กำหนด (Free Schedule) แต่ทว่าเมื่อเม็ดเงินส่งผ่าน CUP หรือโรงพยาบาลที่เป็นพี่เลี้ยง รพ.สต. ได้รับเงินแบ่งจ่าย 100 บาทต่อราย เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ว่า เทคนิคแบบใหม่ที่ รพ.สต. จะได้ 50 บาทนั้นจะได้จริงหรือไม่ เพราะขนาด 250 บาทยังถูกแบ่งให้ 100 บาท พูดง่ายๆ คือยังไม่ถึงครึ่ง

นางสุวิมล ขยายภาพว่า การทำงานในชุมชนค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องมีการประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้หญิงไทยที่เข้าเกณฑ์มาขึ้นขาหยั่งเพื่อตรวจคัดกรอง เพราะส่วนมากจะเกิดความเขินอายกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ นั่นทำให้ รพ.สต. จำเป็นจะต้องใช้วิทยากรเข้ามาให้ความรู้ และต้องสลับเจ้าหน้าที่จากอีกตำบลมาช่วยในการตรวจคัดกรองด้วย

“พอเขามาก็ต้องเลี้ยงดู อย่างน้อยช่วงที่ต้องทานข้าวเราก็ต้องมีข้าวให้ทาน ช่วงเบรกเราก็ต้องมีน้ำมีกาแฟให้เขา ให้เขารู้สึกว่าน่ามาและประทับใจ ฉะนั้นการจะสร้างความประทับใจเพื่อให้ผู้หญิงมาขึ้นขาหยั่งมีกระบวนการเยอะ

“แต่ว่าเงินเรายังไม่เห็นว่าเราจะได้เท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่า 50 บาทก็ท้อ ตอนที่ได้ 100 บาทก็ต้องเลี้ยงข้าวเจ้าหน้าที่ คือการมาทำงานไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ ต้องมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาตั้งแต่เช้า มาเตรียมอุปกรณ์มาชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ซักประวัติ” นางสุวิมล ระบุ

ความที่ว่าที่ รพ.สต. มีเจ้าหน้าที่น้อยประมาณ 3-5 คน นั้นทำให้ต้องอาศัย อสม. เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยในแต่ละจุด เพราะผู้ที่เข้ามาคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะได้รับการตรวจมะเร็งเต้านมควบคู่กันไปด้วย ฉะนั้น รพ.สต. ต้องการสรรพกำลังไม่ต่ำกว่า 20 คนต่อครั้ง

เมื่อเป็นเช่นทำให้ต้องมีการดึงงบประมาณจาก “กองทุนตำบล” มาช่วยในเรื่องค่าวิทยากร ค่าอาหาร และค่าเบรกที่จะให้กับผู้ที่เข้ามาตรวจ รวมไปถึงค่าอาหารกลางวันของเจ้าหน้าที่ด้วย โดยนางสุวิมล อธิบายต่อไปว่า ไม่ว่ายังไง รพ.สต. ก็จะต้องหาเงินเพื่อมาทำให้ได้ เพราะถ้าไม่ทำนั่นเท่ากับว่า รพ.สต. ผลงานจะต่ำ ติดลบ และจะส่งผลให้ผู้เข้ารับบริการน้อย เพราะเราทำได้แค่นั้นตามเม็ดเงินที่ได้มา

“เราต้องตั้งเป้าในการทำงาน สมมติว่ามีผู้เข้าเกณฑ์ 500 รายก็จะต้องตั้งเป้าว่าจะแบ่งอย่างไร จะต้องใช้เงินอย่างไร ก็จะต้องเอามาคำนวณโดยไม่ได้คาดหวังเงินใครเลย” นางสุวิมล กล่าว

นางสุวิมล บอกว่า เราไม่เคยได้กำไร แต่มันคือหน้าที่ที่จะต้องทำ หากเงินบำรุงมีพอก็สามารถทำได้ แต่บางที่ที่ไม่มีก็จะไม่สามารถทำได้เลย และผู้เข้ารับบริการก็จะเข้าไม่ถึงบริการ เพราะ รพ.สต. ทำไม่ได้

นอกจากนี้ยังหมายรวมไปถึงการทำป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนก่อนการนัดเข้าคัดกรอง นั่นก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ รพ.สต. ต้องดึงเงินบำรุงมาทำ เพราะหากต้องรอเงินนั้นไม่สามารถทำได้ทันแน่ๆ เนื่องจากการทำงานหน้างานเงินต้องมาก่อน แต่ทว่าเรากลับไม่เคยเห็นเงินมาก่อนเลย ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเอาเงินส่วนนี้มาทดแทน พอเงินตามหลังมาก็จะเอาไปเติม

เราไม่ได้อยากทะเลาะกับผู้ปฏิบัติงานด้วยกัน

นางสุวิมล อธิบายว่า รพ.สต. ทุกแห่งจะมีพี่เลี้ยงที่เป็น CUP เงินทุกบาททุกสตางค์ก็จะลงไปที่ CUP ก่อน บางครั้งผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าจะต้องมาทะเลาะกับพี่เลี้ยงเพื่อจะเอาเงิน จนบางครั้งก็ต้องกลับมาคิดว่าทำไมเราจะต้องมาทะเลาะกันด้วย

ยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตอนนั้นว่าจะให้ รพ.สต. 40 บาทต่อราย ซึ่งทุกคนก็เข้าใจว่าจะได้ 40 บาท แต่ความเป็นจริงได้เพียง 10 บาทเท่านั้น นางสุวิมล เล่าว่า หากให้สักครึ่งก็ยังรู้สึกว่ารับได้ ขณะเดียวกันเมืองมองการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่จะได้ 50 บาทนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะได้ 50 บาท

นอกจากนั้นการส่งน้ำยาให้โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ก็ต้องไปรับ-ส่งเอง เพราะการตรวจคัดกรองด้วยเทคนิค HPV DNA Test นั้นจำเป็นจะต้องส่งข้อมูลให้แก่โรงพยาบาลเพื่อทำการเบิกน้ำยาก่อนล่วงหน้า 2-3 วัน เนื่องจากน้ำยาดังกล่าวจะไวต่อสิ่งกระตุ้นได้มากกว่า

“พี่อยู่ไกลพี่ก็ต้องขับรถเข้าออกค่าน้ำมันก็หลายบาทอยู่ แต่ไม่เคยมีใครคิดเรื่องนี้ว่าการจะไปเบิกไปส่งมันมีค่าใช้จ่าย ที่จอดรถลานข้างๆ ก็ต้องเสียเงินเพราะโรงพยาบาลไม่มีจอดรถไม่พอ แต่เราก็ไม่เคยคิด เราก็เฉยๆ” นางสุวิมล ระบุ

สิทธิประโยชน์ใหม่มักมาพร้อมกับโปรแกรมใหม่

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่จบแค่การคัดกรองเท่านั้น เพราะหลังจากจบงานเจ้าหน้าที่ก็จะต้องกลับมาเพื่อบันทึกข้อมูลผู้ป่วยเข้าระบบ ซึ่งตรงนี้ นางสุวิมล บอกว่า เปลืองแรงบุคลากรเป็นอย่างมาก เพราะหากมีการคัดกรองจำนวน 250 คน เจ้าหน้าที่จะต้องนั่งบันทึกข้อมูลทั้ง 250 คนเข้าระบบให้แก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังต้องมานั่งบันทึกข้อมูลเข้าระบบของ รพ.สต. หนึ่งรอบ เท่ากับว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกจะกลายเป็น 2 เท่า

“มากไปกว่านั้นก็ต้องแข่งกับเวลาด้วย เพราะจะมีระยะเวลากำหนดในการทำข้อมูล ทำให้เราต้องขนงานกลับไปทำที่บ้านเพราะไม่สามารถทำที่ทำงานได้ทัน เนื่องจากหน้างานก็ต้องให้บริการผู้ป่วย ออกเยี่ยมบ้าน จ่ายยาที่บ้าน ฉะนั้นจึงไม่มีเวลามากพอที่จะทำให้เสร็จ” นางสุวิมล ระบุ

สิ่งหนึ่งที่นางสุวิมล ต้องการนั่นคือการทำระบบบันทึกให้จบภายในโปรแกรมเดียว เพราะตรงนี้จะเป็นการช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ได้อย่างมหาศาล เพราะทุกครั้งที่มีการคิดโครงการใหม่มาก็มักจะมีโปรแกรมใหม่ตามมาด้วยทุกครั้ง ไม่ใช่แค่กองนี้ กองอื่นๆ ก็มีเช่นกัน

“เจ้าหน้า รพ.สต. ก็มีจำเท่าเท่านี้ โควิดก็ต้องคีย์ อสม. ก็ต้องคีย์อันนี้ สปสช. ต้องคีย์อันนี้ เรามีเป็น 10 โปรแกรม ถ้าสามารถรวมกันได้จะดีมาก เท่าที่ผ่านมามีแต่คนคิดและเขียนเพิ่ม แต่ยังไม่มีใครควบรวม” นางสุวิมล กล่าว

นางสุวิมล กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับส่วนอื่นที่ต้องการให้ สปสช. เข้ามาสนับสนุน ส่วนตัวนึกถึงการโอนเม็ดเงินลงมาที่ รพ.สต. โดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เงินไปถึงผู้ที่มีอำนาจต่อรองมากกว่า กลายเป็นว่า รพ.สต. ก็จะถูกจัดสรรเม็ดเงินลงมาเท่านั้น เพราะเขาก็มีเหตุผลรองรับ

ขณะเดียวกันถ้าเมื่อไหร่เม็ดเงินโอนลงหน่วยบริการโดยตรง ก็จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ลงไปได้มาก เนื่องจากการทำงานจะรู้อยู่แล้วว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ และมีงบประมาณให้ตามที่คาดหวัง ไม่ใช่คาดหวังว่าจะได้ 50 บาท แต่ความเป็นจริงได้เพียง 30 บาทเท่านั้น

“ผลเสียก็จะเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ ชาวบ้านในชุมชน เพราะเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ทุ่มเทถ้าพูดตรงๆ เพราะถ้าทุ่มเทก็จะเข้าเนื้อและบาดเจ็บมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หน่วยบริการได้รับเงินตรง เช่นทำ 10 ได้กลับมา 10 มันก็จะตรงไปตรงมา สร้างกำลังใจให้กับคนทำงานด้วย” นางสุวิมล ระบุ