ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยและวิทยานิพนธ์นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม หัวข้อ การพัฒนากฎหมายเพื่อการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดย พรเทพ อ่อนรัตน์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 พบว่า ความแตกต่างของสิทธิการรักษาทั้ง 3 สิทธิ อันได้แก่ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่กำหนดสิทธิข้างต้น

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 47 ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

งานวิจัยระบุต่อไปว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดนโยบาย และวางแนวทางการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนทุกคนจะได้รับอย่างเสมอภาค กระนั้นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ว่าด้วยการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ ได้กำหนดสถานะในการรับสิทธิในการรักษาที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งทางกฎหมาย

สำหรับ พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 สำหรับข้าราชการ โดยสามารถจำแนกผลวิเคราะห์กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้ดังนี้

ด้านการเข้าถึงหน่วยบริการ

สิทธิบัตรทอง สามารถเลือกสถานพยาบาลประจำได้เพียงหนึ่งแห่งในการเข้ารับบริการการรักษา และต้องเป็นสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐเท่านั้น แตกต่างจาก สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ที่ไม่จำเป็นต้องเลือกสถานพยาบาลประจำ โดยสามารถรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง หรือหากมีการรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน สามารถรับบริการได้ตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ส่วน สิทธิประกันสังคม สามารถเลือกโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนได้หนึ่งแห่งในหนึ่งปี เพื่อเป็นหน่วยบริการประจำปีนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาร่วมกันของทั้ง 3 สิทธิ คือ การรับบริการการรักษาได้เพียงหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นต้องจ่ายค่ารักษาเอง

ด้านสิทธิที่ได้รับ

ประเภทสิทธิที่กำหนดไว้ อาทิ การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยบริการสาธารณสุขที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดผู้รับบริการต้องรับผิดชอบค่าใช้เอง

สำหรับปัญหา สิทธิบัตรทอง และ สิทธิประกันสังคม การจ่ายยาสามารถรับได้เฉพาะยาที่อยู่ในบัญชียาหลักเท่านั้น นอกเหนือจากนั้น ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ส่วน สิทธิสวัสดิการข้าราชการ การรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีการกำหนดอัตราค่าบำรุง ฯลฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือการเบิกจ่าย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ผู้รับบริการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อีกทั้งสิทธิในการรักษาโรคบางประเภทไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายคุ้มครอง ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทั้ง 3 สิทธิ

ด้านการเยียวยาความเสียหาย

กรณีได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ผู้รับบริการสามารถรับการเยียวยาได้โดยการฟ้องร้องต่อศาล โดยต้องอาศัยการพิสูจน์ตามหลักวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น สิทธิประกันสังคม (ตามมาตรา 63 (7)) และสิทธิบัตรทอง (ตามมาตรา 41) มีปัญหาร่วมกันในการยื่นคำร้องขอรับการเยียวยา โดยคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จะไม่มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้าน สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ไม่มีการกำหนดการเยียวยาเบื้องต้นในกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล รวมถึงทั้ง 3 สิทธิ สะท้อนปัญหาเหมือนกันว่า การเยียวยาไม่ได้ครอบคลุมความเสียหายในกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าว

ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างสิทธิการรักษาทั้ง 3 สะท้อนปัญหาความไม่เสมอภาคของกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงหากพิจารณาตามความคุ้มครองตามสิทธิ นอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการคุ้มครองผู้บริโภคอีกด้วย

อนึ่ง สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่