ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ - ชมรม รพ.สต. ประเทศไทย เข้าร่วมประชุมถกปมปัญหาถ่ายโอน รพ.สต.ไปยัง อบจ. ด้าน รมว.สธ. ระบุ การถ่ายโอนเกิดขึ้นตามกฎหมาย การเปลี่ยนผ่านต้องเกิดขึ้น


นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย  นำโดยนายบุญชู จันทร์สุวรรณ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ผู้แทนนายก อบจ. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตพบล (รพ.สต.) เข้าร่วมประชุมหารือเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. และ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษก สธ. เข้าร่วมการประชุม

สำหรับประเด็นในการหารือดังกล่าวทางสมาคมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยได้มีการตั้งประเด็นปัญหาขัดข้อง และข้อเสนอแนวทางปฏิบัติเอาไว้ตอนหนึ่ง

ประกอบด้วย 1. จำนวน รพ.สต. ถ่ายโอน นั้นได้มีข้อเสนอว่าให้ สธ. ถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. 49 จังหวัด ทั้งหมด 3,384 แห่ง บุคลากรถ่ายโอน 22,265 คน และให้ รมว.สธ. มีหนังสือเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทบทวนงบประมาณสนับสนุน รพ.สต. ถ่ายโอนทั้ง 3,384 แห่ง ก่อนวัน ครม. พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี  2566  

2. จำนวนบุคลากร รพ.สต. ถ่ายโอน ได้มีข้อเสนอให้ สธ. ถ่ายโอนบุคลากรให้แก่ อบจ. 49 แห่ง ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 22,265 คน เป็นข้าราชการ ประมาณ 12,000 คน และให้ รมว.สธ.  มีหนังสือเสนอถึงนายกฯ ให้สำนักงบฯ ทบทวนการขอตั้งงบประมาณ เพื่อสนับสนุน รพ.สต. ถ่ายโอน อบจ. ปีงบประมาณ 2566 ทั้ง 3,384 แห่ง และบุคลากรสมัครใจจำนวน 22,265 คน รวมไปถึงให้ สธ. มีหนังสือไปที่สำนักขอถอนการตั้งบุคลากรไว้ที่ สธ. ไปตั้งให้แก่ อบจ. 49 จังหวัดที่ขอรับการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2566

​3. งบประมาณอุดหนุน รพ.สต. ถ่ายโอน ได้มีข้อเสนอให้ สธ. สนับสนุนให้สำนักงบประมาณปี 2566 ให้ รพ.สต. จำนวน 3,384 แห่ง ถ่ายโอนไปยัง อบจ. 49 แห่ง ให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนฯ ตามแนวทางและหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) วันที่ 5 ต.ค. 2564 ให้ รมว.สธ.สั่งการปลัด สธ. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ปฏิบัติตามประกาศ และมติ ก.ก.ถ. อย่างเคร่งครัด และเตรียมส่งมอบคน ทรัพย์สินให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.  2565 ก่อนการถ่ายโอน

นายอนุทิน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมตอนหนึ่งว่า การถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังท้องถิ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายกระจายอำนาจ ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างการถ่ายโอน ซึ่งเรื่องทรัพย์สินไม่ใช่ปัญหา หรือแม้กระทั่งความกังวลใจของบุคลากรเรื่องความไม่มั่นคง ทุกคนที่ทำงานใน รพ.สต. นั้น เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐ และข้าราชการ ฉะนั้นการไปยังดำรงสถานภาพเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีโอกาสพูดคุยกับนายก อบจ. ทั่วประเทศในที่ประชุมวันนี้ได้ให้ความมั่นใจว่า สธ. ต้องทำตามกฎหมาย เพียงแต่ สธ. จะใช้สิทธิในความเป็นผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งก็ได้มีการขอไปว่าเมื่อถ่ายโอรไปแล้วขอให้ประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น และต้องมีแต่สิ่งที่ดีกว่า และก็เชื่อว่าจะดีกว่า เพราะนายก อบจ. อบต. รพ.สต. แต่ละจังหวัดอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าปลัด สธ. หรือ รมว.สธ. เอง ฉะนั้นก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ เรื่องงบประมาณก็ต้องเร่งหารือกับรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รวมไปถึงรมว.มหาดไทย หรือแม้ประทั้งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าตอนนี้มีความเข้าใจผิดบางประการว่า สธ. ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่สำนักงบฯ ฉะนั้นก่อนจะออก พร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ก็ต้องเข้าไปแก้ไขในส่วนที่ยังมีความติดขัดอยู่ก่อน แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านจะต้องเกิดขึ้น

“กระทรวงสาธารณสุข ถ้ามันจำเป็นก็ต้องยอมตัดในส่วนงบประมาณที่เตรียมเอาไว้ดูแล รพ.สต.ในขณะที่ยังไม่ถูกถ่ายโอน เมื่อถ่ายโอนไปแล้วงบประมาณก็ต้องตามไปด้วย ไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาที่จะทำให้เกิดอุปสรรคที่ทำให้แก้ไขไม่ได้ คนที่จะรับไปขอคำสัญญาจากกระทรวงสาธารสุขเท่านั้นว่า รักชาวบ้าน ดูแลชาวบ้าน ให้บริการแก่ชาวบ้านโดยที่ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง” นายอนุทิน ระบุ

วันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ รพ.สต. จังหวัดระยองก็ได้ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บริเวณหน้าอาคารสำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังจากร่วมประชุม นายอนุทิน ก็ได้เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้ารพ.สต. ที่เข้ามาในวันนี้

อ่าน ประเด็นการเจรจา ระหว่าง อบจ.+รพ.สต. กับ สธ.
อ่าน ขอ สป.สธ.ปฏิบัติตามมติ กกถ.