ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ผ่านมาคนไทยอาจพอคุ้นเคยกับนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือที่เราเรียกกันว่า "สิทธิ UCEP" (Universal Coverage for Emergency Patients) ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองเมื่อเราป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล "ทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด" ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

สิทธิ UCEP นี้กลายเป็นที่รับรู้มากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภายหลังความเร่งด่วนของสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีมาตรการเฉพาะอย่าง "UCEP Covid" ภายใต้หลักการเดียวกันที่ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยในการเร่งควบคุมโรคระบาด และรักษาผู้ป่วยให้ได้อย่างรวดเร็ว

สิ่งที่แลกมากับความรวดเร็วในการดูแล คือภาระด้านงบประมาณและการบริหารจัดการที่เพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้นเมื่อสถานการณ์และความรุนแรงของโควิด-19 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป รัฐจึงเริ่มมีการปรับนโยบายสู่ "UCEP Plus" ที่คงเหลือการคุ้มครองสำหรับผู้ป่วยระดับอาการปานกลาง (สีเหลือง) ไปจนถึงรุนแรง (สีแดง) เท่านั้น ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย (สีเขียว) จะให้เข้ารักษาที่หน่วยบริการตามสิทธิเดิมของตน

สิทธิ UCEP สำหรับโรคโควิด-19 ขณะนี้จึงกำลังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา แต่ในทางกลับกันเมื่อย้อนมาที่สิทธิ UCEP ของโรคอื่นๆ ในสถานการณ์ปกติแล้ว กลับพบว่ายังมีสภาพของปัญหาบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 คณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการกู้ชีพฉุกเฉิน วุฒิสภา ได้มีการจัดประชุมครั้งพิเศษร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในวาระพิจารณาเรื่อง "ข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสิทธิ UCEP" โดยมี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน เป็นประธานการประชุม

เพียง 9% เข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน ผู้ป่วยนับล้าน 'จ่ายเอง'

สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ สอบ. ตั้งต้นด้วยการเปิดประเด็นปัญหาของสิทธิ UCEP ซึ่งพบว่าที่ผ่านมามีกรณีที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามายัง สอบ. รวมถึงองค์กรอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง จากการเข้าไม่ถึงสิทธิ UCEP โดยเฉพาะการที่ผู้ป่วยถูกวินิจฉัยว่า "ไม่เข้าเกณฑ์" ในการที่จะได้รับบริการฉุกเฉินวิกฤต และต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

เธออธิบายว่า การขอใช้สิทธิ UCEP ผู้ป่วยจะต้องผ่านกระบวนการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน หรือ Pre-Authorization (PA) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งจากข้อมูลการดำเนินงานของ สพฉ. ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2560 - 31 ส.ค. 2564 พบว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉินที่บันทึกไว้ทั้งสิ้น 1,262,919 ราย ในจำนวนนี้เข้าเกณฑ์เพียง 9% หรือ 111,097 ราย ในขณะที่อีก 91% หรือ 1,151,822 ราย นั้นไม่เข้าเกณฑ์

จากตัวเลขที่สะท้อนออกมานี้ สุภัทรา จึงระบุต่อถึงข้อเสนอไปยัง สพฉ. เพื่อขอให้มีการทบทวนเกณฑ์ PA ตามแนวทางสิทธิ UCEP Plus ที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ให้สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย พร้อมกันนี้ยังขอให้นำข้อคิดเห็นของผู้ป่วยและญาติเข้ามาร่วมพิจารณาเป็นหนึ่งในเกณฑ์ PA เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงข้อคิดเห็นทางการแพทย์แต่เพียงฝ่ายเดียวในการประเมิน

ขณะเดียวกันตัวแทนของ สอบ. ยังเสนอต่อไปถึงปัญหาของผู้ป่วยฉุกเฉินภายหลังอยู่ครบ 72 ชั่วโมงตามสิทธิ UCEP ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถหาเตียงที่จะส่งต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องนอนรักษาตัวต่อไปในสถานพยาบาลเดิม โดยเฉพาะใน รพ.เอกชน ที่ผู้ป่วยจะถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในอัตราปกติ ไม่ใช่อัตราของ UCEP

"เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของผู้บริโภคหรือผู้ป่วยที่หาเตียงไม่ได้ แต่เป็นปัญหาเชิงระบบ ฉะนั้นถ้าเป็นกรณีที่ไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยหลังพันภาวะฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมง ไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิได้ ผู้ป่วยก็ควรได้รับการคุ้มครอง โดยขอให้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายแบบ UCEP ต่อไปจนกว่าจะหาเตียงได้" สุภัทรา ระบุถึงอีกข้อเสนอที่มีต่อ สพฉ.

ข้อเสนอเดียวกันนี้ ทาง สอบ. ยังเรียกร้องไปถึงกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้กำกับ รพ.เอกชน ให้ใช้อัตราค่ารักษาพยาบาลเดียวกันระหว่างกรณีวิกฤติสีเหลือง กับวิกฤตฉุกเฉินสีแดง เนื่องจากเมื่อเกิดวิกฤตด้านสุขภาพแล้ว เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภคที่จะวินิจฉัยตนเองว่าเป็นวิกฤติสีแดงหรือสีเหลือง ดังนั้นเมื่อไปใช้บริการแล้วพบว่าไม่เข้าข่าย ก็จะถูกเรียกเก็บเงินราคาแพง

"ดังนั้นเพื่อลดข้อร้องเรียนเรื่องราคาแพงของบริการทางการแพทย์ ความขัดแย้ง และการเข้าถึงบริการของผู้บริโภค กรมการค้าภายในควรมีมาตรการกำกับค่ารักษาพยาบาลที่ใช้บริการในกรณีฉุกเฉินวิกฤตสีเหลือง รวมทั้งในกรณีภายหลัง 72 ชั่วโมง ในอัตราเดิมหากไม่สามารถส่งต่อได้" ตัวแทน สอบ. ระบุ

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ขยายความว่า หากดูจากตัวเลขนั้นชัดเจนว่ามีผู้ป่วยกว่า 91% ที่เข้าไปโรงพยาบาลในฐานะที่รู้สึกว่าตนเองประสบภาวะวิกฤต หากแต่ผู้ป่วยจำนวนกว่าล้านคนนี้กลับไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบ UCEP ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากการที่ผู้ป่วยเต็มใจเข้าไปรักษาโรคใน รพ.เอกชน อันถือว่าผู้ป่วยสมัครใจไปเอง

สำหรับกรณีฉุกเฉินหลายครั้งนั้นมีความซับซ้อนและยากต่อการวินิจฉัย หลายครั้งผู้ป่วยไม่ได้ไปเองแต่มีรถฉุกเฉินนำส่ง หรือในบางกรณีที่ผู้ป่วยถูกประเมินว่าไม่ใช่วิกฤตฉุกเฉิน แต่ก็ไปเสียชีวิตในอีกโรงพยาบาลหนึ่ง เป็นต้น ดังนั้นอย่างน้อยที่สุด สอบ.จึงขอเรียกร้องให้กรมการค้าภายใน กำหนดราคาของ รพ.เอกชน ในผู้ป่วยสีเหลือง เท่ากับที่คิดราคาแบบผู้ป่วยสีแดงด้วย

"กรณีคนไข้ฉุกเฉินที่เข้าไปกว่า 1 ล้านคน อย่างน้อยขอให้เก็บเงินเขาแบบผู้ป่วยวิกฤตสีแดง อย่าเรียกเก็บเงินเท่าไรก็ได้แบบกรณีที่เราเต็มใจเดินเข้าไป รพ.เอกชน เอง อันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก หากอย่างน้อยยังขยายเกณฑ์ UCEP ไม่ได้ แต่ชาวบ้านที่เข้าไปด้วยภาวะฉุกเฉิน ไม่ได้เต็มใจเข้าไปเองเหมือนไปรักษาหวัด หรือเลือกผ่าตัดที่ รพ.เอกชน ให้ได้รับการกำกับราคาในส่วนนี้" สารี ระบุ

เกณฑ์ฉุกเฉินเข้มเกินไป? อาจถึงเวลา 'อัพเดท'

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ยืนยันว่าปัจจุบันมีหลักฐานเชิงวิชาการที่ชัดเจน ว่าสิทธิ UCEP ที่ผ่านมายังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่พอสมควร แบ่งเป็นกรณีแรกคือฝั่งของ รพ.เอกชน ไม่ได้ทำตามระบบระเบียบของ UCEP เช่น ไม่ยอมประเมิน PA ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากที่ควรจะได้ใช้สิทธิ UCEP กลับไม่ได้รับสิทธิ

ในอีกกรณีหนึ่งคือเมื่อโรงพยาบาลประเมินแล้ว แต่ไม่มั่นใจระบบการจ่ายเงินของภาครัฐ จึงเรียกเก็บเงินผู้ป่วยเพื่อเป็นมัดจำไว้ก่อน ซึ่งในกรณีนี้จะมีกระบวนการรับข้อร้องเรียน และเป็นหน้าที่ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในการติดตามและดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อคืนเงินให้กับผู้ป่วย หากแต่ยังไม่เคยเห็นภาพของการดำเนินการกับโรงพยาบาลที่ทำผิด ว่ามีบทลงโทษหรือไม่อย่างไร

"กลไก UCEP จะทำงานได้ดี ต้องมีกระบวนการติดตามตรวจสอบและสื่อสารที่ดีเพียงพอ ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้กระบวนการของเราเป็นการตั้งรับ คือรอให้มีข้อร้องเรียนถึงมีการดำเนินการ แต่เราไม่มีกลไกตรวจสอบในเชิงรุกว่ามี รพ.ไหนบ้างที่เลี่ยงการใช้ระบบ UCEP ทำให้การดำเนินการตามระบบ UCEP ขณะนี้อ่อนแอลงเรื่อยๆ และไม่แปลกที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบ" ตัวแทน IHPP ระบุ

ปัญหาอีกมุมหนึ่งที่ นพ.ขวัญประชา ชี้ให้เห็นคือการประเมิน PA ว่าผู้ป่วยรายใดเข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมานับว่ามีการประชาสัมพันธ์ที่อ่อน และไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องของการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน ทำให้คนไทยรู้ว่าไปโรงพยาบาลได้ แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไปแล้วแบบไหนจึงจะเข้าเกณฑ์ และเชื่อว่าหากไม่มีโควิด-19 คนไทยเองก็คงยังไม่รู้ว่าผู้ป่วยวิกฤตสีแดงคืออะไร

ถัดมาอีกส่วนคือตัวเกณฑ์ของ UCEP เองที่มีมาเกือบสิบปี ซึ่งได้พบว่ามีผู้ป่วยในบางเคสที่ความจริงแล้วอาจวิกฤตฉุกเฉิน แต่เมื่อนำมาเข้าเกณฑ์ PA ที่ใช้มานานแล้วกลับกลายเป็นไม่ฉุกเฉิน ฉะนั้นจะต้องมองไปถึงเรื่องของการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่เคย "อัพเดท" เกณฑ์นี้ทั้งที่มีข้อมูลเชิงวิชาการอยู่มากพอสมควร

ด้าน จันฑนา จินดาถาวรกิจ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สบส. อธิบายว่า สบส.มีกฎหมายสถานพยาบาลในกรณีผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากสถานพยาบาล และหากเมื่อไรที่มีการปฏิเสธ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ซึ่งเมื่อกรม สบส. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาจาก สพฉ. ก็จะมีหนังสือแจ้งให้สถานพยาบาลได้รับทราบและดำเนินการ เช่น คืนเงินให้ผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีประเด็นที่เป็นเสียงสะท้อนจากสถานพยาบาลเข้ามาบางส่วน ว่าหากเป็นการช่วยเหลือจำนวนไม่มากอาจพอทำได้อยู่ แต่หากมีจำนวนมากนั้น สถานพยาบาลมองว่าค่าใช้จ่ายตามสิทธิ UCEP นั้นต่ำกว่าราคาปกติที่สถานพยาบาลเรียกเก็บไปมาก ต่างกับกรณีของ UCEP Covid ที่มีการเพิ่มค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก 15% ทำให้เอกชนไม่ค่อยมีประเด็นในเรื่องนี้

ในส่วนของการนำความเห็นของญาติและผู้ป่วย มาใช้พิจารณาร่วมกับสถานพยาบาลเพื่อคัดแยกด้วยนั้น ตัวแทน สบส. มองว่ายังไม่แน่ใจว่าจะทำได้ เนื่องจากการจะเข้าเกณฑ์หรือไม่นั้นเป็นเรื่องหลักทางการแพทย์ ซึ่งตัวญาติและผู้ป่วยเองต้องคิดว่าเป็นอาการวิกฤตฉุกเฉินอยู่แล้ว จึงเข้าไปยังสถานบริการเอกชน

ฉะนั้นเธอเชื่อว่าหากมีการปรับเกณฑ์เพิ่มให้สีเหลืองแก่ กลายเป็นสีแดง ก็อาจช่วยลดปัญหาตรงนี้ลงได้ เพราะที่ผ่านมายอมรับว่าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินนั้นเข้มมาก จะต้องอยู่ในระดับที่เป็น-ตายเท่ากัน ซึ่งส่วนนี้จะหลักวิชาการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่จะต้องพิจารณา

พิจารณาทุกมิติ สังคมสูงวัย-ค่าใช้จ่ายเอกชน

ในอีกด้านหนึ่ง สุรชัย ศิลาวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. ยอมรับว่า หากมีคำสั่งทางนโยบายให้ขยายสิทธิ UCEP ที่ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยสีแดงและสีเหลืองนั้นย่อมสามารถทำได้ แต่ในทางกลับกันจะต้องพิจารณาด้วยว่างบประมาณของกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนจะมีเพียงพอหรือไม่ เพื่อใช้จ่ายในกระบวนการ UCEP ซึ่งมีหลักการที่ต้องการช่วยเหลื่อผู้ป่วยที่วิกฤตจริงๆ

ทั้งนี้ ตัวแทน สพฉ. ได้ให้ข้อมูลในอีกแง่มุมหนึ่งว่า จากจำนวนผู้ป่วยที่ไม่เข้าเกณฑ์กว่า 91% นั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระดับอาการสีเขียว ส่วนระดับอาการสีเหลืองนั้นมีไม่ถึง 20% อย่างไรก็ตามจากผลการดำเนินงานรับเรื่องร้องเรียนของสิทธิ UCEP ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2560 - 28 ก.พ. 2565 พบว่ามีการรับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบทั้งหมด จำนวน 778 เรื่อง

ในจำนวนดังกล่าว มีการนำเข้าพิจารณาโดยคณะทำงานตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่" แล้ว จำนวน 616 เรื่อง แบ่งเป็น 1. เข้าเกณฑ์ UCEP มีการเรียกเก็บเงิน จำนวน 116 เรื่อง 2. ไม่เห็นด้วยกับผลการประเมิน จำนวน 338 เรื่อง 3. รพ.ไม่ประเมิน PA จำนวน 57 เรื่อง 4. รพ.ขอแก้ไขผลการประเมิน จำนวน 65 เรื่อง 5. อื่นๆ จำนวน 40 เรื่อง

"หากเทียบจากจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการกว่า 1.2 ล้านราย มีการร้องเรียนเข้ามาในระบบทั้งหมด 778 เรื่อง หรือคิดเป็นราว 0.06% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก และโดยรวมก็ถือว่าน่าพอใจ แต่ถ้าจะให้ดีต้องไม่มีการร้องเรียนเลย ฉะนั้นถ้ามีการปรับเกณฑ์คัดแยกแล้วทุกคนเห็นพ้อง ก็จะช่วยลดเรื่องของการร้องเรียนลงได้" ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. ให้ข้อมูล

ขณะที่ พญ.อลิสา ยาณะสาร รองผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เสริมว่า ที่ผ่านมาเกณฑ์ของ สพฉ. เป็นไปตามมาตรฐานสากลทางการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งคิดว่าใช้ได้แล้ว หากแต่ในแง่ของการครอบคลุมทุกคนนั้น อาจมีบ้างบางส่วนที่ผู้ป่วยมีอาการไม่ตรงไปตรงมา บางกรณีสัญญาณชีพไม่เข้าเกณฑ์แต่ก็มีความฉุกเฉิน ซึ่งส่วนนี้เป็นข้อยกเว้นที่ สพฉ. มีคณะกรรมการรองรับเพื่อพิจารณา

อย่างไรก็ตาม เธอให้อีกมุมมองของประเทศไทย ในฐานะที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีจำนวนผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง ตลอดจนผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นก็จะมีภาวะฉุกเฉินจากกลุ่มเหล่านี้เข้าทางโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากสัญญาณชีพต่างๆ ไปตกอยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉิน ก็อาจกลายความเข้าใจของประชาชนที่ขอใช้สิทธิฉุกเฉินได้เรื่อยๆ

"เมื่อกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง End of Life Care จะขอใช้สิทธิ UCEP เรื่อยๆ ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะมีความรู้สึกว่าพวกนี้เป็นโรคที่รู้อยู่แล้ว ก็ยังจะมาเข้ามาอีก คราวนี้ต่อไปก็จะไม่ให้เข้า เชื่อว่าอันนี้อาจเป็นสภาพปัญหาที่เราจะเจอในอนาคต ตามแนวโน้มของผู้สูงอายุที่จะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากให้เป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อพิจารณาด้วยว่าเราจะแก้ไขได้อย่างไร" พญ.อลิสา ให้มุมมอง

ด้าน ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เล่าว่า ที่ผ่านมากรณีปัญหาสิทธิ UCEP หลายครั้งอาจไม่ได้ไปที่ สพฉ.โดยตรง แต่หากเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ผู้ป่วยมักจะมาร้องเรียนที่สายด่วน สปสช. 1330 ก่อน ซึ่งกลไกของ 1330 ก็จะช่วยเจรจากับหน่วยบริการ หากสามารถคุยกันได้ คืนเงินได้ ทุกอย่างก็จบ แต่หากเจรจาไม่ได้ ก็จะมีการแนะนำให้ผู้ป่วยไปอุทธรณ์ตามช่องทาง สพฉ. หรือ สบส. ต่อไป

ความเห็นจาก ทพ.วิรัตน์ มองว่าประเด็นสำคัญ คือมุมมองของผู้รับบริการหรือญาติผู้ป่วยที่ไม่เข้าเกณฑ์ถึงกว่า 91% เพราะต่อให้มีการขยายเกณฑ์ผ่อนปรนให้เป็นผู้ป่วยสีส้ม หรือสีเหลืองเข้ม ก็อาจเพิ่มผู้ป่วยที่เขาเกณฑ์ได้ไม่เกิน 15-20% ฉะนั้นก็จะมีผู้ป่วยในสัดส่วนใหญ่อีกกว่า 80% ที่ยังจะต้องจัดการ หากไม่สามารถทำให้ประชาชนรับทราบได้ว่า ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ PA แล้วจะต้องทำอย่างไร

"ฉะนั้นสิ่งที่เราควรหารือ คือจะทำอย่างไรให้กว่า 80% ที่จะเข้ามานี้ได้รับรู้ รับทราบ และหาทางออกร่วมกัน เช่น จะมีมาตรการอะไรมากกว่านี้หรือไม่เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำของอัตราค่าบริการระหว่างเอกชนกับภาครัฐที่ถ่างมาก ลดน้อยลงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ดังนั้นในภาพรวมแล้วคิดว่ากรมการค้าภายในอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่จะต้องมีมาตรการอื่นเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายรวมของการบริการในแต่ละครั้ง ให้มีเพดานของค่ารักษา เพราะหากไปควบคุมแต่ละรายการ ก็อาจมีแนวโน้มที่ รพ.เอกชน จะไปงอกเก็บค่าใช้จ่ายจิปาถะในจุดอื่นที่เราเอื้อมเข้าไปควบคุมไม่ถึงอีก" ทพ.วิรัตน์ ระบุถึงข้อเสนอ